- อย่าไปอินPosted 19 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“ปัญหาข้อไหล่”ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
คอลัมน์ : โลกสุขภาพ
ผู้เขียน : นพ.ไผทวุฒิ อุ่นสมบัติ โรงพยาบาลกรุงเทพ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2561-4 มกราคม 2562)
ข้อไหล่เป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย ด้วยรูปแบบและโครงสร้างของข้อไหล่ช่วยให้เรายกแขนและเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ต้องการได้ เมื่อไรก็ตามที่เริ่มเจ็บหัวไหล่ ไขว้มือไปด้านหลังได้ไม่สุด เกาหลังไม่ถึง ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ หรือปวดไหล่อย่างรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้ บางรายอาจถึงกับไม่อยากนอนหลับเพราะปวดทรมานมาก แสดงว่าเกิดปัญหาข้อไหล่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
กระดูกข้อไหล่เป็นข้อที่หัวกระดูกและเบ้าไม่ลึกมาก ประกอบขึ้นเป็นข้อไหล่อย่างหลวมๆ โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ทำให้ข้อไหล่มีโอกาสเคลื่อนหลุดได้บ่อยกว่าข้ออื่นๆในร่างกาย ปัญหาเกี่ยวกับไหล่ ไม่ว่าจะเป็นอาการบวม เจ็บ หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่เอง อาจเกิดจากการใช้งานหรือการบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา ผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเสื่อมหรือหินปูนกระดูก หรืออุบัติเหตุ โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง มีลักษณะแตกต่างกันไปแต่ละโรค อาทิ กระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ (Impingement syndrome) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) และข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นต้น
อาการบาดเจ็บของข้อไหล่จากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอลที่ทำหน้าที่ผู้รักษาประตู หรือผู้ที่ต้องเล่นลูกทุ่ม หรือผู้ที่ใช้กำลังแขนเคลื่อนไหวไปด้านบนศีรษะมากๆ เช่น ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น สาเหตุของการบาดเจ็บข้อไหล่ที่พบมักเกิดจากการปะทะ กระชากไหล่ การเหนี่ยวแขน หรือล้มโดยใช้แขนเท้าพื้นหรือล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง การเหวี่ยงหรือขว้างบอลอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการกระชากของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นหัวไหล่ที่หลุดเคลื่อนหรือฉีกขาดได้เช่นกัน
การรักษาอาการบาดเจ็บของหัวไหล่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บ เช่น ถ้าบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบๆ ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น รับประทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ หากเป็นการบาดเจ็บของกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน (arm sling) เพื่อไม่ให้มีการขยับ หากข้อไหล่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาจเนื่องมาจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการที่ต้นเหตุ เพื่อผ่าตัดซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาดจากกีฬาหรืออุบัติเหตุ ด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ช่วยให้นักกีฬาสามารถฟื้นตัวขยับเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เร็วในระยะเวลาน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแผลแบบเดิม
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุมักมีปัญหาหินปูนเกาะกระดูก เกิดขึ้นได้จากความเสื่อมของร่างกายเอง หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นบริเวณข้อ เช่น หัก แตก โดยร่างกายจะดึงแคลเซียมเข้าไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อม จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก เพิ่มพูนขึ้นมาจนกระดูกบริเวณนั้นผิดรูปร่างจากที่ควรเป็น ผลกระทบจากหินปูนที่มาเกาะกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อไหล่ อาจส่งผลให้เกิดอาการกระดูกงอกทับเส้นเอ็นหัวไหล่ ทำให้คนไข้เกิดอาการปวด ข้อควรระวังทั้งในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุคือ การอักเสบร่วมกับความเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานข้อไหล่หนักๆ เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องมีการใช้ไหล่มากๆ เช่น แบดมินตัน ยกเวท ชกมวย เทนนิส เป็นต้น
คนไข้ควรสังเกตตนเองว่ามีการงอกปูดของกระดูกในร่างกายที่ผิดปรกติจนคลำได้จากภายนอกหรือไม่ หากพบควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดผ่านกล้องข้อไหล่ เมื่อรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น รับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผลเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาเพื่อลดอาการบาดเจ็บ
นอกจากนี้ยังมีอาการปวดไหล่เนื่องมาจากอาการข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากไม่สามารถยก กาง หรือหมุนหัวไหล่ได้ ข้อไหล่จะค่อยๆลดการเคลื่อนไหวจนกระทั่งเคลื่อนไหวได้น้อยลง และพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ มีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการอาจสะสมจนเป็นมากขึ้น
สาเหตุของข้อไหล่ยึดติด เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆข้อไหล่ ซึ่งเรียกว่าเยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบ โดยปรกติเยื่อหุ้มข้อไหล่จะค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถขยายตัวหรือหดตัวตามการขยับของข้อไหล่ แต่เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่ติด เยื่อหุ้มข้อไหล่จะมีการอักเสบและหดตัวจนไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเดิม ทำให้ขยับข้อไหล่ได้น้อยลงและมีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ทั้งกลางวันและกลางคืนนานหลายสัปดาห์ การรักษาคือ ต้องทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น และลดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะอาการปวดเวลานอน ด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้การติดยึดของข้อไหล่ลดน้อยลง เพิ่มการขยับให้มากขึ้น โดยอาจใช้ร่วมกับการประคบร้อน เย็น หรือทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) การรับประทานยา หากอาการปวดรุนแรงเรื้อรังอาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ หรือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อขยายถุงหุ้มไหล่ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้นตามแต่สาเหตุของโรค
ข้อไหล่อักเสบที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิดคือ โรคข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบเรื้อรัง (Osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (The Rheumatoid arthritis) ทั้ง 2 ชนิดมีสาเหตุของโรคต่างกัน โรคข้อเสื่อมเกิดจากกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อกระดูกค่อยๆหายไป ทำให้ข้อกระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหวจนเกิดอาการข้อยึด ส่งผลให้ปวดบริเวณข้อโดยเฉพาะเวลาอากาศเย็น ส่วนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปรกติ เกิดการทำลายข้อต่อกระดูกของตนเอง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย และเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็นๆหายๆ ข้ออักเสบรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการลดกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบกับข้อ ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้กับข้อ เช่น การออกกำลังกายที่ระดับความหนักน้อย (low-intensity) อาทิ การวิ่งจ๊อกกิ้ง ไปจนถึงระดับความหนักปานกลาง (moderate-intensity) อาทิ การขี่จักรยาน เป็นต้น
หากเกิดอาการผิดปรกติหรือข้อไหล่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องข้อได้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง
You must be logged in to post a comment Login