วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เลื่อนไม่เลื่อน?

On January 3, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 3 ม.ค. 62)

พลันที่มีหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ก็ถูกคนบางกลุ่มหยิบยกเป็นข้อกล่าวอ้างให้เลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ออกไป โดยให้เหตุผลข้ออ้างที่ว่าการเลือกตั้งจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ควรทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศความรักความสามัคคีไปจนถึงวันงานพระราชพิธี ทั้งนี้ หากพิจารณาตามกรอบเวลาจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายประกาศใช้ก็ต้องยอมรับว่ามีความคาบเกี่ยวอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกการเลือกตั้งออกจากการเตรียมงานพระราชพิธีสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ตามปรกติ แต่ถ้าเอา 2 เรื่องมารวมกันก็เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งอาจต้องถูกเลื่อนออก ทางเลือกตอนนี้มีอยู่ 2 ทาง เลื่อนหรือไม่เลื่อนเดี๋ยวคงได้รู้กัน

จนถึงวันนี้กำหนดการเลือกตั้งที่พูดกันว่าจะเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่

ช่วงรอยต่อสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมากระแสข่าวการเลื่อนเลือกตั้งแพร่สะพัดออกมาค่อนข้างมาก เหตุผลข้ออ้างหนึ่งที่หยิบยกมาพูดกันมากคือ พิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน

ยิ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาพูดทำนองว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีประกาศกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้นจะพูดว่าเลื่อนเลือกตั้งไม่ได้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ก็ถูกคนบางกลุ่มยกเป็นข้อกล่าวอ้างให้เลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ออกไป

เหตุผลข้ออ้างที่ยกขึ้นมาคือ การเลือกตั้งจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ควรทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศความรักความสามัคคีไปจนถึงวันงานพระราชพิธี

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามไทม์ไลน์การจัดเลือกตั้ง หากเดินตามกำหนดเดิมก็ถือว่ามีความคาบเกี่ยวกับงานพระราชพิธี

ถ้าจัดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามกฎหมาย กกต. มีเวลาพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง 60 วัน คือภายในวันที่ 24 เมษายน (ไม่รวมกรณีให้ใบเหลืองใบแดงและการจัดเลือกตั้งใหม่)

หากเป็นไปตามนี้การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม กว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีเสร็จก็ล่วงเข้าเดือนมิถุนายน

หมายความว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งหลังงานพระราชพิธี

ถ้าแยกเรื่องการเลือกตั้งออกจากการเตรียมงานพระราชพิธี ไม่พูดเรื่องบรรยากาศบ้านเมืองช่วงการหาเสียง ก็สามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ตามปรกติ

แต่ถ้าเอา 2 เรื่องมามัดรวมกัน ก็เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่าการเลือกตั้งอาจต้องถูกเลื่อนออกไป เพราะตามกฎหมายแล้วต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายประกาศใช้

หมายความว่ากรอบเวลาจัดเลือกตั้งเร็วสุดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และช้าสุดไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม หากเอาการเลือกตั้งกับงานพระราชพิธีมามัดรวมกัน ต่อให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนสุดกรอบเวลา 150 วัน คือเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม ก็ยังต้องมีคำถามเรื่องการรักษาบรรยากาศบ้านเมืองอยู่ดี เพราะถึงแม้การเลือกตั้งจะมีหลังงานพระราชพิธี แต่การหาเสียงก็คาบเกี่ยวกับช่วงงานพระราชพิธี

ทางเลือกตอนนี้ดูเหมือนว่ามีอยู่ 2 ทาง

หนึ่งคือจัดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แล้วให้ กกต. เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ก่อนวันงานพระราชพิธี ส่วนการจัดเตรียมงานต่างๆก็ให้รัฐบาลทหาร คสช. เป็นผู้ดำเนินการไปตามปรกติ

สองคือใช้อำนาจพิเศษสร้างปาฏิหาริย์ทางกฎหมายอีกครั้งด้วยการทลายกรอบเวลาจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อขยับเวลาการเลือกตั้งออกไปเป็นเดือนมิถุนายน เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเริ่มต้นได้หลังวันงานพระราชพิธี

จะเลือกทางไหน เลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง เดี๋ยวคงได้รู้กัน


You must be logged in to post a comment Login