วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

มช.มท.เป็นประธานพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

On January 3, 2019

วันนี้ (3 ม.ค. 62) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พร้อมแถลงสรุปผลการดำเนินงานในช่วงระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2561 – 2 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาของการรณรงค์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนใน ช่วงเทศกาลปีใหม่

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีความมุ่งหวังที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ และจากการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน มูลนิธิ อาสาสมัครต่างๆ ตลอดจนภาคประชาสังคม โดยดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนจากผลการดำเนินงานในช่วง 7 วัน (27 ธ.ค.61-2 ม.ค.62) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 ราย มีผู้บาดเจ็บรวม 3,892 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก แพร่ สตูล และสมุทรสงคราม อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 587 อำเภอ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 118 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 25 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 137 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.39 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.30 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.64 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.95 ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.89 บนถนนทางหลวง ร้อยละ 39.30 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.90 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 –  20.01 น.ร้อยละ 27.78 มีจำนวนยานพาหนะเรียกตรวจ 5,906,402 คัน และมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 10 รสขม. จำนวน 1,164,287 ราย เพิ่มขึ้นจากปีใหม่ที่ผ่านมา 297,263 ราย และผลสถิติเข้ากระบวนการคุมประพฤติ จำนวน 9,453 คดี แยกเป็น คดีขับรถประมาท 44 คดี และคดีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 9,409 คดี ซึ่งเป็นกรณีคดีขับรถขณะเมาสุรา 8,706 คดี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ลดลงร้อยละ 2 และผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.64 ซึ่ง ศปถ.ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการนายอำเภอบรรจุเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยอำเภอ พร้อมกำชับให้จังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และลดปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมทั้งเร่งสร้างวินัยจราจรและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย ภายใต้การประสานพลัง”ประชารัฐ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมขับเคลื่อนการสร้างการสัญจรอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ศปถ.ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนเครือข่ายอาสาสมัครกลุ่มจิตอาสาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนในการเดินทางด้วยความทุ่มเท เสียสละ อันเป็นผลให้ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนลดลง

ท้ายนี้ นายสุธี ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนได้ใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนที่มีทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตาม 6 มาตรการหลัก และ 1 มาตรการเสริม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เน้นการใช้มาตรการทางด้านสังคมและชุมชนในการสร้างความปลอดภัยทางถนน


You must be logged in to post a comment Login