วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประเทศกูมีทุกอย่าง(ยกเว้นกำหนดวันเลือกตั้ง)

On January 3, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 4-11 มกราคม 2562)

ขณะที่มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณี “นาฬิกาเพื่อนให้ยืม 22 เรือน และแหวนเพชร” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 5 ต่อ 3 เสียง ชี้ว่ายังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ท่ามกลางข้อกังขาของสังคมและประณามว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย พร้อมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อจะถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จุดกระแสการเมืองให้ร้อนระอุมากยิ่งขึ้น เมื่อมีกระแสข่าวว่าอาจมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก 1 เดือน เป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยอ้างว่าจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ก็ระบุว่ายังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่า กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนวันเลือกตั้งต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้งอย่างเดียว การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นดุลยพินิจของ กกต. ซึ่งจะประกาศภายใน 5 วันหลังพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งระยะเวลาจะอยู่ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์-9 พฤษภาคม 2562

รู้ทันเลื่อนเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าว (1 มกราคม) ถึงกระแสข่าวเลื่อนการเลือกตั้งว่า กกต. จะถูกมองได้ว่าเป็นการคุณขอมา เพื่อสร้างความได้เปรียบให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังเลือกตั้ง เพื่อต้องการใช้โครงการที่เป็นงบประมาณของรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อพรรค และเป็นไปได้ที่พรรค พปชร. ต้องการดูดนักการเมืองเพิ่มอีกรอบ

วันนี้จะเห็นว่าการที่รัฐเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น มีผลต่อความนิยมของรัฐบาลและคะแนนเสียงของพรรค พปชร. พอสมควร แม้หลายพื้นที่จะมีกระแสตีกลับจากประชาชนที่มีแนวคิดไม่เอารัฐบาลทหาร จึงต้องเดินหน้านโยบายบัตรคนจนเพิ่มเพื่อความมั่นใจว่าสามารถสร้างความพอใจแก่ประชาชน มิเช่นนั้นจะแพ้เลือกตั้งได้ เพราะ 4 ปีมานี้ชาวบ้านยากจนมานาน เมื่อรัฐบาลให้เงินใช้จึงเกิดความชื่นชอบ แต่หากชี้ให้เห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและหวังผลทางการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นว่าสร้างความเสียหายมากกว่าเงินที่ได้รับจากบัตรคนจนอย่างมาก

นายจาตุรนต์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลได้ใช้นโยบายผ่านโครงการต่างๆหาเสียงอย่างไม่จำกัด บวกกับยังมีอำนาจตามคำสั่ง คสช. จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ให้อำนาจทหารจับกุมตรวจค้นหัวคะแนนได้ตามใจชอบ และยังใช้มาตรา 44 แทรกแซงการเลือกตั้งอีก จึงไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะไม่ใช้อำนาจเอื้อต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

จัดเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่มหาดไทย

นอกจากนี้นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยเตรียมตั้งศูนย์การเลือกตั้งว่า มีนัยทางการเมือง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยได้ข้อสรุปมากว่า 20 ปีแล้วว่า ไม่ควรให้หน่วยงานราชการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย แต่ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอิสระอย่าง กกต. แต่ที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช. เข้ามาแทรกแซงให้กระบวนการเลือกตั้งย้อนยุคกลับไปในอดีต โดยพยายามให้หน่วยงานราชการสามารถให้คุณให้โทษต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เป็นต้น

“การให้กระทรวงมหาดไทยมาดูแลการเลือกตั้งจะเอื้อประโยชน์แก่รัฐบาล เพราะคนรัฐบาลนี้กำลังจะลงแข่งขันเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเหมือนการย้อนยุค และการที่กระทรวงมหาดไทยจะตั้งศูนย์เลือกตั้งยิ่งเป็นการซ้ำเติมการเลือกตั้งที่ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่แล้ว”

กกต. อย่าทำตัวเหนือกฎหมาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กกต. ต้องชี้แจงให้ชัดเจน ถ้าเลื่อนการเลือกตั้งก็จะกระทบความเชื่อมั่นของรัฐบาลและประเทศ หากมีปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติจริงก็น่าจะแก้ไขได้ เพราะต่างประเทศพิมพ์บัตรที่มีชื่อผู้สมัครเป็นรายเขตเลือกตั้งภายใน 2 สัปดาห์ยังทำทัน อยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะยุคดิจิทัลการพิมพ์ก้าวหน้าไปมาก ข้ออ้างเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทันฟังไม่ขึ้น แม้จะมีชื่อพรรคและโลโก้พรรคใส่บัตรเลือกตั้งก็ไม่น่าจะต้องใช้เวลาพิมพ์มากขึ้นกว่าเดิม

“อาทิตย์” เปิดประเด็นยุติเลือกตั้ง

ขณะที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดประเด็นใหม่ให้ยุติการเลือกตั้งครั้งนี้ไปก่อน โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Arthit Ourairat (1 มกราคม) ว่า “ในช่วงก่อนพระราชพิธีอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ของชาติและประชาชนนี้ จึงมิควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทางการเมืองขึ้น เพราะจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก และไม่สามัคคีปรองดองกัน อีกทั้งกฎเกณฑ์กติกาในการเลือกตั้งก็ยังไม่เป็นธรรม ประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศไทยดีพอ พวกเราชาวไทยน่าจะได้มาร่วมใจเฉลิมฉลองยินดีปรีดาปราโมทย์กับพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ก่อน แล้วจึงมาร่วมกันสร้างแนวทางกฎเกณฑ์กติกาใหม่นำประเทศชาติไปสู่สังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้สงบสันติสุขเจริญรุ่งเรืองสมกับเป็นสุวรรณภูมิแดนศรีวิไลสืบไป”

ดร.อาทิตย์ยังโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค Arthit Ourairat (2 มกราคม) ว่า ไม่ได้บอกว่าจะถวายฎีกา ด้วยความเป็นห่วงและต้องช่วยกันคิดหาทางออก “เพราะผมอายุมากแล้ว คิดว่ามีประสบการณ์ต่างๆทางการเมืองมามากพอที่จะเข้าใจและมองเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงเป็นห่วงท่านที่อายุน้อยกว่า ก็ขอให้คิดว่าเป็นความหวังดีต่อทุกฝ่าย ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากเป็นประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น”

ขณะที่หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Chulcherm Yugala สนับสนุนให้เลื่อนการเลือกตั้ง อ้างรัฐบาลต้องทำหน้าที่รับสนองเพื่อจัดงานพระราชพิธีอันเป็นมหามงคลของพระราชอาณาจักรและประชาชนชาวไทยจนกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะแล้วเสร็จ เพราะฉะนั้น “กกต. สมควรเลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้น ซึ่งจะเป็นการเหมาะสมที่สุด” (ความเห็นส่วนตัวในการเสนอแนะ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยครับ).. ไหนๆก็ทนรอกันมาได้ หากจะลงแดงตายกันก็ให้มันรู้กันไป

ส่งสัญญาณเลื่อนเลือกตั้ง

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (2 ธันวาคม) ยืนยันว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่ออก จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร เป็นหน้าที่ของ กกต. แต่จะทำให้เร็วที่สุด ในส่วนของรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดถึงการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ยังคงเป็นไปตามโรดแม็พเดิมที่วางไว้ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดคือในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันเลือกตั้งอย่างไรก็ต้องอยู่ใน 150 วัน คือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม และวันเลือกตั้งจริงๆไม่ได้กระทบอะไรกับพระราชพิธี การหาเสียงก่อนนั้นก็ไม่กระทบอะไร ต้องเกิดความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่หากหลังจากเลือกตั้งมีกิจกรรมทางการเมืองที่จะต้องทำหลายอย่าง เมื่อลิสต์ออกมา 10 อย่าง แต่ละอย่างจะทำสะเปะสะปะไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดเวลาไว้หมดแล้ว เราจะขยับพระราชพิธีไม่ได้ แล้วเราจะขยับวันเวลากิจกรรมทางการเมืองก็ไม่ได้ ฉะนั้นอาจจะต้องยกเอาวันเลือกตั้งออกไปจากเดิมเสียเพื่อคำนวณกิจกรรมไม่ให้ไปทับซ้อน โดยเราจะทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเอาปฏิทินวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์มาวาง แล้วไล่ดูไปว่าจะมีการทำกิจกรรมทางการเมืองอะไรทับซ้อนบ้าง ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้กำหนดเองส่งเดช แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งสิ้น

ศักดิ์ศรีและสัจจะไม่มีในผู้นำไทย

เรื่องการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ กกต. ต้องรับเผือกร้อนไปเต็มๆ เช่นเดียวกับการตั้งคำถามเรื่องความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรมของ ป.ป.ช. และ กกต. ในความเป็น “องค์กรอิสระ” และยังกระทบไปถึงความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศมาตลอดว่าเป็นรัฐบาลคนดีที่ไม่โกงและยึดมั่นในธรรมาภิบาล แม้สังคมจะคาดเดาได้ว่ามติของ ป.ป.ช. จะออกมาอย่างไรหลังจากดึงเรื่อง “นาฬิกาหรู” มานานถึง 1 ปีเต็ม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทุกสื่อและเว็บไซต์ที่สำรวจความเห็นของประชาชนต่างต้องการให้ พล.อ.ประวิตรลาออกทั้งสิ้น

อย่างเพจ “Drama-addict” ที่มีเฟนเพจ 1,866,984 คน และคนกดติดตาม 1,873,563 คน ได้สำรวจความคิดเห็นพบว่า มีผู้สนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรออกจากตำแหน่ง 95% และอีก 5% สนับสนุนให้อยู่ต่อ

เพจ “ที่นี่ ThaiPBS” ทำโพลตั้งคำถาม “บิ๊กป้อม” อยากให้อยู่หรืออยากให้ไป เพียง 24 ชั่วโมง (31 มกราคมถึง 1 กุมภาพันธ์ 2561) มีผู้แสดงความคิดเห็นประมาณ 192,000 รายชื่อ “อยากให้อยู่” ประมาณ 8,500 รายชื่อ (4%) และ “อยากให้ไป” ประมาณ 184,000 รายชื่อ (96%)

นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org กรณี พล.อ.ประวิตรประกาศหากประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมจะลาออกระหว่างวันที่ 31 มกราคม-16 กุมภาพันธ์ 2561 ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อ 80,0018 คน สนับสนุนให้ลาออก แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ทำตามสัญญา จนนางทิชาได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า… “ฤาศักดิ์ศรีและสัจจะคือสิ่งที่ไม่เคยมีและจะไม่มีในผู้นำไทย”

ไม่เพียงกระแสสังคม โดยเฉพาะในโซเชียลจะกดดัน พล.อ.ประวิตรเท่านั้น ยังมีการกดดันผ่านศิลปะที่เสียดสีทั้ง พล.อ.ประวิตรและรัฐบาลคนดีไปทั่ว อย่างผลงานกราฟิตี้ “นาฬิกาบิ๊กป้อม” ที่ปรากฏออกมากลางสาธารณะที่สะพานลอยคนข้ามถนนย่านถนนสุขุมวิท

องค์กรฟอกขาว

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย (30 ธันวาคม) ว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ที่วินิจฉัยว่าไม่มีมูลเพียงพอให้เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน โดยอ้างเพียงว่า “นาฬิกาเป็นของเพื่อน แหวนเป็นของแม่” ทำให้มีความกังวลและห่วงใยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายทำลายแนวคำวินิจฉัยและบรรทัดฐานเดิมในการตรวจสอบความทุจริตของข้าราชการและนักการเมืองในประเทศนี้ รวมถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระที่ชื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

มติตอบแทนบุญคุณ

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวว่า มติ ป.ป.ช. สร้างความไม่พอใจต่อสังคมเป็นวงกว้าง เพราะขัดต่อความรู้สึกและข้อเท็จจริง และขัดต่อหลักการกฎหมายที่ใช้บริหารประเทศอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้ จึงขอเตือนสำนึกของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คนว่าได้กระทำการร้ายแรงต่อชาติบ้านเมืองอย่างไม่น่าให้อภัย แม้จะเข้าใจว่ากระทำด้วยความสำนึกในบุญคุณของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำให้ไม่ต้องมีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ภายหลังมีกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่แล้ว

สังคมไทยทราบดีว่าการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มคนที่มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยไม่แยแสและไม่ยอมให้มีการตรวจสอบโดยใช้อำนาจเด็ดขาด และเห็นชัดเจนว่ามีการสืบทอดอำนาจเพื่อจะมีอำนาจ ซึ่งปัญหาการทุจริตทำให้ประเทศชาติเสียหายมาตลอดไม่ต่ำกว่า 30 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จึงจะเป็นการลงโทษให้ระบบเลวร้ายนี้ออกไปจากสังคมไทย และขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ไม่เห็นชอบกับการทุจริตคดโกงบ้านเมืองทำการตรวจสอบย้อนหลังการกระทำทุกโครงการของรัฐบาลทหาร

ตัดสินแบบนี้น่าจะยุบทิ้ง

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยพูดแล้วว่าคดีนี้ผลสอบท้ายที่สุดอาจจะไม่มีความผิดคือยกฟ้อง ไม่เหมือนกับคดีที่ขึ้นสู่ศาล หากเป็นอย่างนั้นจริงก็น่าจะยุบ ป.ป.ช. ทิ้ง ซึ่งช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาตนลงพื้นที่พบว่าประชาชนมี 2 คำด่าคือ

1.ด่าไปที่ตัวรองนายกฯว่านักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน แค่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดก็ต้องลาออกก่อน ซึ่งตนได้บอกกับประชาชนไปว่าจริยธรรมทางการเมืองอาจจะหาไม่พบใน ครม. ชุดนี้ เพราะมาตรฐานทางด้านจริยธรรมของ ครม. แต่ละคณะต่างกัน

2.ด่า ป.ป.ช. ที่สอบว่าไม่พบหลักฐาน ความจริงเรื่องนี้เกือบจะไม่ต้องไปตรวจสอบอะไรเลยถ้าใช้มาตรฐานที่เคยทำมากรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถ้าดูมาตรฐานตรงนั้นคดีนาฬิกาก็จำนนด้วยหลักฐานแล้วถ้าจะไม่ช่วยกันจริงๆ ซึ่งรองนายกฯยื่นข้อมูลให้ ป.ป.ช. ถึง 4 ครั้ง พอมีคนพบนาฬิกาเพิ่มอีกก็ไปยื่นเพิ่ม อย่างนี้เท็จตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่ต้องไปตรวจสอบอย่างอื่นเลย ในทางการเมืองยืมมาแล้วไม่จ่ายค่าเช่าก็ต้องไปตีความว่าต้องจ่ายเป็นเงินเท่าไร หากเกิน 3,000 บาทแล้วไม่ยื่นบัญชีก็ต้องถือว่าเป็นความผิด ถือว่า ป.ป.ช. วินิจฉัยตามอำเภอใจโดยยึดสถานการณ์ ไม่มีหลักเกณฑ์

ป.ป.ช. ไม่น่าเชื่อถือแล้ว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า สังคมไม่ได้เชื่อตามเสียงของ ป.ป.ช. และไม่ได้ทำให้หายเคลือบแคลงสงสัยได้ ระบบการตรวจสอบเรามีปัญหาอย่างร้ายแรง ไม่น่าเชื่อถือ เพราะที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตั้งแต่ต้น แต่ยังเป็นมาได้เพราะอาศัยกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติจาก สนช. ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่มีความเป็นอิสระและถูกแทรกแซง ขาดการตรวจสอบจากสื่อมวลชนและประชาชน เนื่องจากมีการจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชน ตราบใดที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ เราจะไม่มีองค์กรอิสระที่น่าเชื่อถือไปอีกนาน ระบบการตรวจสอบของประเทศนี้จะเป็นอย่างนี้อยู่หลายปี และผลประโยชน์ของประชาชนจะไม่ถูกปกป้อง

ฝากจับตาสินบนโรลสรอยซ์

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคารพดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย แต่ขอเห็นต่างกับเหตุผลในการยกคำร้องที่อ้างว่านาฬิกาไม่ผ่านการตรวจสอบของศุลกากรจนเป็นเหตุให้ยกคำร้องนั้นไม่มีน้ำหนัก ไปทึกทักว่าเป็นนาฬิกาเพื่อน เป็นคำวินิจฉัยที่ล้อไปตามข้อต่อสู้ของ พล.อ.ประวิตร คำวินิจฉัยเช่นนี้สร้างตราบาปให้กับเพื่อน พล.อ.ประวิตรที่เสียชีวิตไปแล้วให้มีมลทินว่าเป็นผู้ที่ไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ทำให้ทายาทต้องไปรับผิดชอบกับกรณีที่เกิดขึ้นด้วย ในแง่กฎหมายน้ำหนักของ ป.ป.ช. ที่ยกคำร้องรับฟังไม่ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่หยิบยกประเด็นนี้มาเป็นเรื่องทางการเมือง ขอเห็นต่างอย่างมิตรในข้อกฎหมาย เพราะไม่อยากให้องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ได้รับผลกระทบ ฝากสังคมให้ร่วมติดตามคดีสินบนโรลสรอยซ์หรือสินบนข้ามชาติ มีลางสังหรณ์ว่าอาจยุติด้วยการยกคำร้องเหมือนคดีนาฬิกาหรู อาจต้องจบเรื่องก่อนที่รัฐบาล คสช. จะหมดอำนาจ เพราะผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรค พปชร.

ระดม 20,000 ชื่อถอดถอน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า สมาคมเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เห็นว่าการใช้อำนาจของ 5 ป.ป.ช. เสียงข้างมากอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 234 (1) คือทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สมาคมมิอาจปล่อยเว้นได้ เชื่อว่าคนไทย 66 ล้านคน คงยอมรับการใช้อำนาจของ 5 ป.ป.ช. ไม่ได้ จึงขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอน 5 ป.ป.ช. ดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 และมาตรา 237 โดยจะตระเวนตั้งโต๊ะล่ารายชื่อทั่วประเทศรวบรวมให้ครบ 20,000 รายชื่อ เสนอต่อประธานรัฐสภาดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนต่อไป

เลขาฯป.ป.ช. ให้เวลาพิสูจน์คน

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายระบุ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ป.ป.ช. ไม่สามารถไปห้ามใครวิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นสิทธิในการแสดงความเห็นของแต่ละคน แต่ระยะเวลาจะพิสูจน์การทำงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย การตัดสินใดๆตัดสินจากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่มีการใช้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบในการทำงานส่วนที่จะมีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน 5 กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากนั้นไม่สามารถห้ามได้ แต่ประชาชนต้องรับทราบว่าการทำงานของ ป.ป.ช. เป็นไปตามกระบวนการทุกอย่างเช่นเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล

มติ ป.ป.ช. ที่น่าอับอาย

นายอานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความผ่านสำนักข่าวอิศรากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากว่ากรณีนาฬิกายืมเพื่อนและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตรไม่มีมูลพอที่จะดำเนินการว่า มีปัญหาใหญ่ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง 2.ปัญหาการอ้างหลักกฎหมายทรัพย์สินที่ผิดอย่างร้ายแรง และ 3.ปัญหาการกล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นประเด็น

1.ปัญหาการไม่ตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้องตามประเด็นจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ แต่พร่ำพรรณนาในข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาจากเพื่อนจริงหรือไม่ เมื่อสรุปว่ายืมจริง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของ พล.อ.ประวิตร ก็ตัดสินว่าไม่มีมูลเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีเท็จ แต่เราไม่พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งประเด็นตามลำดับในหลักกฎหมายเลยว่า นาฬิกาที่อยู่ในการครอบครองของ พล.อ.ประวิตรเป็นสิ่งที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก้าวข้ามไปวินิจฉัยว่าเมื่อยืมก็ไม่มีมูล ซึ่งเป็นการชี้มูลที่ตื้นเขินมาก เพราะ “เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรยืมจริง” ทั้งที่แม้ “ยืม” มาก็ยังคงเป็น “สิ่งที่ต้องแสดงในบัญชี”

เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องแสดง “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน” ซึ่งนิยามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 “สิทธิครอบครอง” จัดอยู่ในนิยามทรัพย์สินด้วย ดังนั้น “ทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร” จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เป็น “กรรมสิทธิ์” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิอื่นๆ รวมทั้ง “สิทธิครอบครอง”

นาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรที่ยืมมาจึงถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของ พล.อ.ประวิตรที่ต้องระบุในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยโดยไม่อาจปฏิเสธได้

หากมองในมุม “หนี้สิน” ก็ยังไม่หลุดอีก แม้นาฬิกาเป็น “การยืม” ก็ทำให้เกิด “หนี้สิน” ดังปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ที่บุคคลซึ่งเป็นผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม

ทั้งหมดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ตั้งประเด็นไว้เลยสักนิด ได้แต่พร่ำพรรณนาหมกมุ่นอยู่กับการเป็นของยืมเพื่อน แล้วก็พาออกทะเลไปลงมติสรุปประเด็นโดยไม่ได้ตั้งประเด็นอย่างที่พึงต้องกระทำ หากจะอ้างว่าลืมย่อมเป็นไปไม่ได้เลยโดยสำนึกแบบมาตรฐานวิญญูชนหรือคนทั่วไปที่มีเหตุมีผล เพราะไม่พบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้จัดเรียงประเด็นตามลำดับดังที่กล่าวมาทั้งหมดแต่อย่างใดเลย ทำให้หลักกฎหมายที่เป็นประเด็นต้องชี้มูลถูกละเลยไป

2.ปัญหาการอ้างหลักกฎหมายทรัพย์สินที่ผิดอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อธิบายว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็รวบรัดว่า จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานว่าเพื่อน พล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าของนาฬิกา

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมายทรัพย์สิน ต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องรู้ทฤษฎีเรื่องสิทธิครอบครองกับเรื่องกรรมสิทธิ์ เพียงแค่อ่านหนังสือในตัวบทออกก็ไม่ควรเลยเถิดว่ามาตรา 1369 ให้สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของ เพราะตัวบทใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” ไม่ได้บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์” มาตรา 1369 จึงให้สันนิษฐานว่ามี “เจตนา” ยึดถือเพื่อตน เพื่อประกอบกับการ “ยืดถือ” อันทำให้ครบองค์ประกอบของการมี “สิทธิครอบครอง”

จึงเชื่อว่านักศึกษาปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มธ. น่าจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมาตรา 1369 ดีกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.

3.ปัญหาการกล่าวอ้างเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นที่ว่าเพื่อน พล.อ.ประวิตรไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ได้เป็นข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นในการชี้มูลแต่อย่างใดเลย ที่ประชาชนอยากรู้คือ พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ เป็นประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องตั้งหลักให้มั่นในการทำหน้าที่ ไม่ใช่เลี้ยวออกไปกล่าวถึงเรื่องอื่น ประชาชนไม่ได้อยากรู้ว่าเพื่อน พล.อ.ประวิตรผุดผ่องหรือไม่

มติ ป.ป.ช. จึงน่าอับอาย เพราะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คนที่มีชื่อว่า นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ทำให้เกิดมติที่มีปัญหาใหญ่ 3 เรื่อง และสะท้อนศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ชื่อว่า “องค์กรอิสระ” เพราะทำให้เห็นว่า 1.ไม่มีศักยภาพในการตั้งประเด็นชี้มูลให้ถูกต้อง 2.ไม่มีแม้กระทั่งความรู้พื้นฐานทางกฎหมายในเรื่องที่พยายามแสดงให้ปรากฏ เป็นเรื่องที่น่าอดสูในภูมิความรู้ที่มี และ 3.ไม่มีความสามารถที่จะอยู่ในประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่อง แต่กล่าวนอกเรื่องนอกราว

“มติ ป.ป.ช. ครั้งนี้ทำให้รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเสียดายภาษีอากรจากประชาชนทั้งหลายที่ต้องเสียไปเป็นเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทน เสียดายที่ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ถูกร่างอย่างเข้มข้นและโฆษณาสาธยายในคุณสมบัติเสียเหลือเกิน แต่ก็มาตกม้าตายที่คนใช้กฎหมายที่มีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ”

นายอานนท์ยังกล่าวถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่พูดหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์มติดังกล่าวว่าเวลาจะพิสูจน์การทำงาน ป.ป.ช. ตนก็อยากถามว่าพิสูจน์อะไร

“เอาเข้าจริงระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาที่เสียไปพร้อมกับทรัพยากรของรัฐในระหว่างการตรวจสอบ ทั้งผลมติที่ชี้มูลมาย่อมพิสูจน์แล้วในสายตาประชาชน มองไปยังอนาคตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่าน เกรงว่าอยู่ไปก็เป็นภาระและหายนะที่ทำลายความหวังของคนในชาติมากไปกว่านี้ ถ้าคิดเฉพาะ ณ ปัจจุบัน สำหรับในสายตาของผม พิสูจน์แล้วว่าน่าอับอาย”

5 ความล้มเหลว

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย วิจารณ์รัฐบาล คสช. “5 ความล้มเหลว กับ 4 ปีกว่าของรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือก” (27 ธันวาคม) โดยระบุว่า เวลา 4 ปีกว่านับตั้งแต่การรัฐประหาร เป็น 4 ปีแห่งความล้มเหลวที่รัฐบาลจากรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาส ล้าหลังกว่าประเทศอื่น ความล้มเหลวประกอบด้วย

1.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันมาก นับเป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยปีงบประมาณ 2561 รัฐบาล คสช. ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีเดียวเท่ากับยอดเงินในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง 2 ปีงบประมาณ คือปี 2556 รวมกับปี 2557

รัฐบาล คสช. ยังมีแนวโน้มใช้เงินเกินตัวมากขึ้นทุกๆปีอย่างก้าวกระโดดจนน่าตกใจ แต่เศรษฐกิจในยุค คสช. เติบโตในอัตราที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับท้ายๆในอาเซียน ต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สามารถบริหารให้การขาดดุลงบประมาณลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เป็นรัฐบาล

ทั้งมีแนวคิด ทรรศนะ และนโยบายของรัฐ ที่ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดของสินค้า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ กำลังซื้อภาคประชาชนลดลง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผู้มีรายได้น้อยถูกทิ้งขว้างตามยถากรรม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงเป็นอันดับต้นๆของโลก

2.ล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จากที่เคยประกาศว่าจะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง แต่กลับมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปไกล ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง

3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติก็เป็นเพียงเพื่อสร้างภาพ คสช. และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลและ คสช. ที่จะใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ กรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร นำเงินราชการลับไปใส่ในบัญชีภรรยา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรู กลับมีการปกป้องและละเลยที่จะดำเนินการพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้ร้องเรียนกลับถูกเรียกไปปรับทัศนคติ บางคนถูกดำเนินคดี ส่วนองค์กรตรวจสอบต่างๆก็มุ่งช่วยเหลือปกปิดหรือทำให้ล่าช้า และสุดท้ายก็เงียบหายไป ภาพความล้มเหลวที่ชัดเจนคือผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเกี่ยวกับดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) เดือนธันวาคม 2560 พบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย (CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ปรับตัวในทิศทางตกต่ำลงเมื่อเทียบกับห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร

4.ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชน นับแต่รัฐประหารมาจนถึงปัจจุบันมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการออกคำสั่งให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อหาและไม่ต้องมีหมายของศาล เรียกบุคคลที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ไปปรับทัศนคติ ดำเนินคดีกับบุคคลที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริตหรือเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนและนักวิชาการ

5.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โดยยกตนว่าเป็นคนดี ด่าว่าและกล่าวร้ายนักการเมือง และปฏิเสธว่าตนไม่ใช่นักการเมือง แต่สุดท้ายยอมรับว่าตนเป็นนักการเมือง และยังไปชักชวนนักการเมืองมาร่วมรัฐบาลเพื่อพยุงอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไป ประกาศว่าจะคืนประชาธิปไตยใน 15 เดือน แต่ผ่านมา 48 เดือน ประชาธิปไตยยังมืดมน เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วถึง 4 ครั้ง ทั้งที่ประกาศต่อสาธารณชนและรับปากต่อผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ มีการกระทำและพฤติการณ์ส่อว่าเสพติดอำนาจและวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ตั้งแต่การวางกลไกในรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีและที่มาและอำนาจของ ส.ว. ทุ่มเทงบประมาณเพื่อนโยบายต่างๆที่มีลักษณะหวังผลทางการเมือง ดูดนักการเมืองจากค่ายต่างๆเพื่อมาร่วมงานกับตนเองอันแตกต่างจากการประกาศครั้งแรกเมื่อเข้ามายึดอำนาจ

ดังนั้น 4 ปีของ คสช. คือการนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมนและสิ้นหวัง จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องช่วยกันนำระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา และไม่ยอมให้เผด็จการทำลายประชาธิปไตยอีกต่อไป โดยใช้อำนาจในมือประชาชนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แก้ พ.ร.บ.ร่วมทุนเอื้อขาใหญ่

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.การร่วมทุนของรัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. นำร่างเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ด่วน เร่งรีบให้เสร็จหลังปีใหม่ โดยเปลี่ยนหลักการจากควบคุมงบลงทุนร่วมเกิน 1,000 ล้านบาท และเกิน 5,000 ล้านบาท ระบุในมาตรา 7 ครอบคลุมโครงการร่วมทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเพียง 12 เรื่องคือ 1.ถนนทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางบก 2.การรถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง 3.ท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ 4.ท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ 5.การจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย 6.การพลังงานทั้งหมด 7.การโทรคมนาคม การสื่อสาร 8.โรงพยาบาล การสาธารณสุข 9.โรงเรียนและการศึกษา 10.ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ 11.ศูนย์นิทรรศการและศูนย์การประชุม 12.กิจการอื่นตามที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.กิจการฯ ตามวรรคหนึ่ง รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น

นายชาญชัยกล่าวว่า รัฐบาล คสช. กำลังคิดและทำอะไร กิจการ กสทช. มีกฎหมาย กสทช. คุมอยู่แล้ว แต่ทำไมแก้ไขให้ควบคุม หรือโรงเรียนและการศึกษาจะเปลี่ยนให้เอกชนหรือต่างชาติเข้ามาทำอะไรหรือไม่ การสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ด้อยโอกาส คนจน ส่อจะเปิดช่องว่างเอาที่ดินและทรัพย์สินของรัฐปลดออกจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนเดิมให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาทำอะไรก็ได้ โดยให้ใช้ดุลยพินิจหน่วยงานรัฐตัดสิน โดยเฉพาะท่าอากาศยานและการขนส่งมีสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง แต่เปิดให้เอกชนแค่ 2-3 รายผูกขาด คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคจึงจะติดตามการแก้กฎหมายเปิดช่องว่างให้ทุจริตคอร์รัปชันหรือเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ประเทศกูมีทุกอย่าง ยกเว้นกำหนดวันเลือกตั้ง

กระแสการเมืองช่วงสิ้นปีและปีใหม่ที่จะมีการเลือกตั้ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลทหารเปลี่ยนสภาพเป็น “ตำบลกระสุนตก” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวและเผชิญกับข้อกล่าวหาความไม่ชอบธรรมต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์นายทุนบางราย ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของคนใกล้ชิดและพวกพ้องโดยหลบเลี่ยงและแก้ต่าง ขณะที่ “ลุงฉุน” ก็พร่ำแต่วาทกรรม “กฎหมายคือกฎหมาย” แต่คนใกล้ชิดและพวกพ้องที่ถูกกล่าวหาในความผิดต่างๆกลับ “ไม่ผิดกฎหมาย” หรือ “ทำอะไรก็ไม่ผิด”

รวมถึงคำว่า “สำนึกและความสง่างามทางการเมือง” ซึ่ง “ลุงฉุน” และพวกพ้องถูกตั้งคำถามมาตลอด อย่างกรณี “นาฬิกาเพื่อนให้ยืม” หรือกรณี 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำในพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ยอมลาออก หรือท่าทีของ “ลุงฉุน” ที่ไม่ปฏิเสธจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อและประกาศจะไม่ลาออกจากตำแหน่งจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจพลิกเกมไม่มีชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง แต่รอเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หากไม่มั่นใจว่า “พรรคนอมินี” จะได้จำนวน ส.ส. ตามที่วางแผนไว้ ทั้งยังลดกระแสไม่เป็นเป้าถูกโจมตีทางการเมืองอีกด้วย

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเพื่อ “ลุงฉุน” ในการสืบทอดอำนาจชัดเจน ซึ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่จะได้เสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้ก็มีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้น “250 ส.ว.ลากตั้ง” จะเป็นตัวแปรสำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย “ลุงฉุน” จะอ้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ (ที่ลิ่วล้อเขียน) แม้จะถูกโจมตีว่าไม่มีความสง่างามทางการเมืองก็ตาม ซึ่งนายจาตุรนต์ได้โพสต์เฟซบุ๊ค (25 ธันวาคม) ให้จับตาว่า “ทำไมลุงฉุนยังทำเป็นกั๊ก?”

เพราะยุค “คนดี” ครองเมือง ไม่มีคำว่า “สำนึกและความสง่างามทางการเมือง” เหมือนที่ว่า “ปากอย่างใจอย่าง” เรียกร้องให้นักการเมืองเคารพกฎกติกา แต่พรรคที่สนับสนุน “ลุงฉุน” กลับใช้กลไกรัฐเอาเปรียบสารพัด เพราะมีอำนาจจากกระบอกปืนที่จะทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิด แม้แต่การ “ล้มกระดาน” หากเกิดสึนามิทางการเมืองแบบถล่มทลาย

เหมือนการย้าย “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เมื่อคืนวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา และไม่มีใครรู้ว่าเอาไปไว้ที่ไหน หรือจะหายไปแบบปริศนาเหมือน “หมุดคณะราษฎร” เมื่อเดือนเมษายน 2560 ทั้งที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่กลับถูกทำให้เลือนหายไป เหมือนการพยายามครอบงำให้ประชาชนเชื่อว่า “ระบอบอำนาจนิยม” คือ “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม”

ทั้งที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีแต่ความมืดมนและสิ้นหวัง รัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรที่เป็นรูปธรรมได้เลย นอกจากความเงียบสงบจากปืนที่กดหัวประชาชนที่เห็นต่าง ทำให้ประชาชนและประเทศต้องสูญเสียโอกาสและล้าหลัง โดยเฉพาะการถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องและฉ้อฉลต่างๆ แม้แต่การเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก วันนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน อย่างเพลง “ประเทศกูมี” ที่วันนี้ทะลุ 50 ล้านวิวแล้วที่ว่า

“ประเทศที่..

มัวเมาจนไร้สมองที่โง่เขลา

จนไร้การตอบสนอง เพิกเฉยต่อความถูกต้อง

ปล่อยให้สัตว์ชั่วเนิ่นนานยิ่งหยิ่งผยอง

ปกครองทุกสิ่งด้วยความมืดและความกลัว

ประเทศกูมี ประเทศกูมี


You must be logged in to post a comment Login