วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.ลดลงเป็นเดือนที่4

On January 4, 2019

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 79.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ 80.5 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อน้อยลง และราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดทรงตัวระดับต่ำ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนลดลง และสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังมีปัญหา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอลง ทำให้กำลังซื้อปัจจุบันชะลอตัวลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน ซึ่งค่าดัชนียังคงอยู่ระดับต่ำกว่าปรกติที่ระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่มาก

ทั้งนี้ เริ่มมีปัจจัยบวกมากขึ้นหลังจากรัฐบาลมีมาตรกรกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และปัญหาสงครามการค้าเริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด และช่วงสิ้นปีประชาชนมีการเฉลิมฉลองตามเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งรัฐบาลออกมาตรการช้็อปช่วยชาติ และการโอนเงินสดเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาและประเทศอื่นๆก็มาเที่ยวไทยมากขึ้น แม้จะมีปัจจัยบวกแต่ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงถูกกดดันต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562

นอกจากนี้กรณีมีกระแสว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งจากเดิมวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไปนั้น โดยรวมเชื่อว่าไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของคนทั่วโลกมากนัก เพราะการเลื่อนออกไปจะอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญภายใน 150 วัน หรือจะเลื่อนออกไปในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน แต่เป็นที่ทราบว่าจะมีเม็ดเงินในการหาเสียงมากกว่า 30,000-50,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินการหาเสียงจะผูกพันกับทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากกิจกรรมการหาเสียง ถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะทำให้เกิดสุญญากาศในไตรมาส 1 ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงฟื้นตัวช้าออกไปบ้าง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ทางหอการค้าไทยมองว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 4-4.5 โดยมีปัจจัยบวกประกอบด้วย การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือช่วงไตรมาส 2 ทำให้จะมีเงินลงทุนเข้ามาเร็ว มีการจับจ่ายใช้สอย แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องตามคือ ทางออกสงครามการค้า และสถานการณ์ราคาน้ำมัน เป็นต้น

สำหรับผลกระทบจากพายุปาบึก คาดว่าไม่กระทบยาวนานต่อการท่องเที่ยวของภาคใต้ในภาพรวม แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจกระทบระยะสั้นจากการหยุดการเดินทางในช่วง 3-5 วัน มูลค่าความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความยาวนานของพายุที่เกิดขึ้น แต่จะไม่กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้


You must be logged in to post a comment Login