วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ปิยบุตร”แจงขั้นตอนกฎหมายเลือกตั้ง 24 ก.พ.ทำได้

On January 5, 2019

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟสบุ๊กแสดงความเห็นถึงความไม่ชัดเจนในวันเลือกตั้งว่า

แต่ไหนแต่ไรมา รัฐบาลมีอำนาจเสนอพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ โดยในพระราชกฤษฎีกานี้จะกำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้ด้วย

ต่อมาเมื่อประเทศไทยกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมขึ้น รัฐบาลก็จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรจัดการเลือกตั้งเสมอว่า สมควรกำหนดให้วันเลือกตั้งเป็นวันใด

รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กลับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เสียใหม่ โดยแบ่งแยกเด็ดขาดว่า รัฐบาลมีอำนาจเสนอ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่เพียงผู้เดียว

หากเราอยู่ในการปกครองแบบปกติ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เรื่องเหล่านี้ก็คงไม่ซับซ้อน เมื่อไรก็ตามที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี รัฐบาลก็จะถูกบังคับให้เสนอ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ทันที ภายใน 45 วัน จากนั้น 5 วันคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดวันเลือกตั้ง โดยวันเลือกตั้งนั้นต้องอยู่ภายใน 45-60 วันนับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.

แต่ ณ เวลานี้ เราอยู่ในระบอบรัฐประหาร มีรัฐบาลเผด็จการทหารจากการยึดอำนาจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่มีวาระ ไม่อาจถูกยุบได้ เมื่อสภาไม่มีวันหมดอายุ การจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปหรือไม่ จึงอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะทำให้ พ.ร.ฎ. นี้เกิดขึ้นเมื่อไร

หากตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่มีทางที่จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ การที่คนในระบอบ คสช. ทั้งหลายออกมา “โบ้ย” ว่าอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นการ “โยนภาระ” ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง “ต้องทำในสิ่งที่ยังทำไม่ได้”

ในการเลือกตั้งทุกๆ ครั้งที่ผ่านมารัฐบาล และ กกต. จะมีการหารือเรื่อง “วันเลือกตั้ง” เป็นที่แน่ชัด และประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเอง ก็มักจะรู้ว่าเป็นวันไหนตั้งแต่ก่อนจะมีการร่าง พ.ร.ฎ. เลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความคลุมเครือ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถึงวันนี้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งยังไม่รู้ “วันเลือกตั้ง” ที่ชัดเจนเลย

การเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 เกิดขึ้นได้โดยไม่กระทบกับพระราชพิธี

รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้เวลาครบ 60 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจใช้เวลาพิจารณาและประกาศผลเพียง 30 วัน หรือ 45 วันก็ได้ หากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งหลังจากนั้น กฎหมายก็กำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาโดยศาลฎีกาต่อไป ดังนั้นกระบวนการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรใหม่และรัฐบาลใหม่จึงไม่กระทบกับช่วงเตรียมการพระราชพิธีตามที่คนของรัฐบาล คสช. กล่าวอ้าง

ประเทศไทยสามารถมีการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 มีสภาผู้แทนราษฎร และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงพระราชพิธีได้

ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายข้อไหน ฉบับใด บังคับว่าต้องเป็นรัฐบาลจากรัฐประหารเท่านั้นที่ต้องทำหน้าที่จัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ตรงกันข้าม หากพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกดำเนินการโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมสง่างามกว่า

การเลือกตั้ง คือ สิ่งปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
รัฐบาลจากการเลือกตั้ง คือ ความสง่างาม

รัฐประหาร คือ สิ่งผิดปกติ
รัฐบาลจากการรัฐประหาร คือ สิ่งแปลกปลอม น่ารังเกียจ

ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปีนี้ ก็เป็น “ผลงาน” ของคสช. เองที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนมาตรงกับช่วงพระราชพิธี หาก คสช. ยอมให้มีการเลือกตั้งไปตั้งแต่กลางปีหรือปลายปีที่แล้ว โดยไม่เล่นแร่แปรธาตุเอากับกระบวนการทางกฎหมาย เขียนแล้วแก้ เขียนแล้วแก้ หดเข้ายืดออก กรณีก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

หยุดชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login