วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไม่พ้นยื่นตีความ

On January 8, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 8 ม.ค. 62)

ประเด็นปัญหากรอบเวลาต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วันที่ กกต. และรัฐบาล คสช. เห็นต่างกันอยู่ตอนนี้ ดูเหมือนว่าขณะนี้มีความพยายามสร้างกระแสหาทางออกด้วยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพูดจาในทำนองว่าเรื่องยังไม่เกิดไม่สามารถยื่นตีความได้ แต่ก็เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นก่อนจะมีเงื่อนไขใหม่ให้ต้องเลื่อนเลือกตั้ง และอาจอ้างได้ว่าเป็นแค่ความเห็นเท่านั้น จะรับตีความหรือไม่หรือตีความออกมาอย่างไรเป็นหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการตีความไม่ใช่แค่หาทางออกให้ กกต. แต่ยังช่วยสร้างความชอบธรรมในการเลื่อนเลือกตั้งให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐบาลต้องการด้วย

ความเห็นต่างในเรื่องข้อกฎหมายระหว่างรัฐบาล คสช. กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเด็นกรอบเวลาต้องจัดเลือกตั้งให้เสร็จใน 150 วันหลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องชิงไหวชิงพริบกันในเทคนิคกฎหมาย

ความได้เปรียบต้องยกให้รัฐบาล เพราะเป็นคนกำหนดว่าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในราชกิจจานุเษกษาเมื่อไร

รัฐบาลยังเล่นเวลากับตรงนี้ เพราะตราบใดที่ยังไม่นำพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต. ก็ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้

หากฟังจากเสียงของคนใน กกต. และคนในรัฐบาล มีสิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันคือ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แต่ยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องวันเลือกตั้งและกรอบเวลาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

จะว่าไปแล้วระยะเวลาที่ กกต. กับรัฐบาลยังเห็นไม่ตรงกันก็ห่างกันแค่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

รัฐบาลต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 17, 24 หรือ 31 มีนาคม แต่ กกต. ต้องการขยับขึ้นให้เร็วกว่านั้นอีก 1 สัปดาห์คือเลือกตั้งวันที่ 10 มีนาคม เพราะห่วงว่าจะมีเวลาน้อยเกินไปในการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งที่ กกต. ตีความกรอบ 150 วันว่าต้องจัดเลือกตั้งและประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในกรอบเวลานี้ ซึ่งก็คือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม

ถ้าดูตามนี้รัฐบาลก็คงยื้อการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกไปจนสุดกรอบเวลาที่สามารถยื้อได้ เพื่อให้ กกต. ประกาศวันเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ต้องการ

ส่วนเรื่องจะรับรองผลการเลือกตั้งทันกรอบเวลาคือภายในวันที่ 9 พฤษภาคมหรือไม่ ให้ กกต. ไปเผชิญโชคชะตาเอาเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้เชฟตี้โซนของ กกต. คือต้องจัดเลือกตั้งและประกาศรับรองผลให้ได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อตัดความเสี่ยงต้องโทษทางแพ่งและอาญากรณีมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความ

กรณีนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล คสช. ได้พูดไว้ชัดเจนแล้วว่า หาก กกต. ไม่มั่นใจข้อกฎหมายก็ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม

“ถ้าจะให้ปลอดภัยก็ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ส่วนพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งนั้นขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้ และไม่ทราบว่าลงมาหรือยัง ในส่วนของพระราชบัญญัติเคยมีบางฉบับที่ต้องถูกเก็บไว้ก่อน ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที เป็นสิทธิที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายและธรรมเนียมประเพณี”

นี่คือความเห็นของนายวิษณุ พร้อมยืนยันด้วยว่าในส่วนของรัฐบาลเห็นว่า 150 วัน เป็นเพียงกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้ง

จะเห็นว่า กกต. กับรัฐบาลขีดเส้นระยะเวลาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งต่างกัน ปัญหาคือทั้ง กกต. และรัฐบาลไม่มีอำนาจตีความกฎหมาย แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้จะไม่น่าห่วงเลยหากก่อนหน้านี้ไม่มีคนในศาลรัฐธรรมนูญออกมาพูดไว้ก่อนว่ายังไม่สามารถรับตีความเรื่องนี้ได้ เพราะเรื่องยังไม่เกิด

ถ้าไม่มีคนในศาลรัฐธรรมนูญพูดแบบนี้มาก่อน เชื่อว่าป่านนี้คงมีพวกขาประจำเข้าชื่อกันเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อสร้างความชอบธรรมยื้อเวลาเลือกตั้งแน่นอน

แต่ไทยแลนด์โอนลี่ อะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อ กกต. กับรัฐบาลมีความเห็นต่างกัน ขณะนี้จึงมีความพยายามสร้างกระแสส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความปมกรอบเวลา 150 วัน แม้ก่อนหน้านี้จะมีคนพูดว่าเรื่องยังไม่เกิดรับตีความไม่ได้ แต่อาจเจาะช่องออกไปในทางความเห็นส่วนตัว

ความเป็นไปได้ในตอนนี้คือ ก่อนกำหนดวันเลือกตั้งรถไฟสายประชาธิปไตยอาจต้องแวะจอดพักที่สถานีศาลรัฐธรรมนูญก่อน


You must be logged in to post a comment Login