Economic Intelligence Center(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวที่ 3.8%YOY ชะลอลงจากอัตราการเติบโตในปี 2561 ที่คาดว่าจะอยู่ประมาณ 4.2%YOY ถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น (late expansion cycle) ตามภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสำคัญที่ชะลอลง ประกอบกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยชะลอลงในปีนี้ นอกจากนั้น วัฏจักรการเงินในประเทศก็ได้ผ่านจุดสูงสุด ทำให้ภาวะการเงินจะทยอยตึงตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระดับดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2556-2560) ที่เติบโตเฉลี่ยได้ไม่ถึง 3%YOY ต่อปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีมาจากการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
นอกจากนี้ อีไอซีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ราว 5.7%YOY โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 2 และกลับมามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ในด้านการบริโภคภาคครัวเรือนจะสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอัตราการว่างงานที่ต่ำ การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ในปี 2562 จะมีความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประกอบไปด้วย 1) สงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าที่คาด 2) ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศต่างๆ ทยอยสูงขึ้น ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น และ 3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมืองในภูมิภาคสำคัญ เช่น Brexit สถานการณ์ในอิตาลี และการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ เป็นต้น
ขณะที่ความท้าทายภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ 1) แนวโน้มการใช้จ่ายที่กระจุกตัวจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาในการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 2) ภาวะการเงินในประเทศที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นทั้งจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และจากมาตรการ macroprudential ที่เข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 3) ความไม่แน่นอนของกระบวนการและผลของการเลือกตั้งที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า
อีไอซียังประเมินว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 จะยังอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ความเพียงพอของทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราการว่างงานในระดับต่ำ ความสามารถในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต (automation) ในหลายอุตสาหกรรม การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อครัวเรือน แรงงาน และกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพในภาพรวมจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม
You must be logged in to post a comment Login