วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ฟางเส้นสุดท้าย

On January 10, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 10 ม.ค. 62)

การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งแม้จะเป็นอำนาจของ กกต. แต่ยังไม่สามารถประกาศได้ เพราะต้องรอประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาล คสช. ส่วนเรื่องกรอบเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน แม้ กกต. จะไม่มั่นใจ แต่รัฐบาลมั่นใจ สภาพของ กกต. ตอนนี้เหมือนถูกมัดมือชกไม่มีทางเลือก แม้จะไม่มั่นใจเรื่องกรอบเวลา 150 วัน แต่จำต้องมั่นใจ และหวังว่าสุดท้ายแล้วหากมีคนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญจะยึดเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดีที่ยืนยันกับรัฐบาลว่านับแค่วันหย่อนบัตร ไม่รวมรับรองผลเลือกตั้ง เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ กกต. ต้องยึดเกาะและฝากอนาคตไว้

เลือกตั้งมีแน่ แต่จะมีเมื่อไรถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

ตามลำดับขั้นตอนยังต้องรอการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเสียก่อน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงจะกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครเลือกตั้งได้

เมื่ออำนาจในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเป็นของรัฐบาล คสช. ก็ต้องรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะนำพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไร

หากฟังจากสุ้มเสียงคนในรัฐบาล ดูเหมือนว่ารัฐบาลมั่นใจเกิน 100% ว่ากรอบเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีที่แล้ว หมายถึงแค่การจัดหย่อนบัตรลงคะแนนเท่านั้น ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เปิดประชุมรัฐสภาได้

ที่รัฐบาลมั่นใจแบบนี้เพราะว่าได้รับคำยืนยันมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อย่างชัดเจนแล้วว่าเจตนารมณ์ในการเขียนรัฐธรรมนูญประเด็นนี้คือให้จัดเลือกตั้ง ไม่นับรวมการรับรองผลการเลือกตั้ง

เมื่อมีคำยืนยันอย่างนี้จึงไม่แปลกที่ผู้ใหญ่บางคนในรัฐบาลจะบอกว่ากฎหมายให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน จะจัดเลือกตั้งตอน 140 วันก็ได้ ขอแค่ไม่ให้เกิน 150 วันเท่านั้นเป็นพอ

ที่สำคัญเมื่อมีคำยืนยันจาก กรธ. ออกมาอย่างนี้ รัฐบาลก็สบายใจหายห่วง ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหากดึงเวลาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไว้จน กกต. ไม่สามารถจัดเลือกตั้งและรับรองผลได้ภายใน 150 วัน

ถ้ามีคนไปฟ้องร้อง ตามหลักการศาลรัฐธรรมนูญต้องสอบถามมายัง กรธ. ซึ่งเป็นผู้เขียนกฎหมายว่ามีเจตนารมณ์ในการเขียนอย่างไร เมื่อ กรธ. ยืนยันว่าหมายถึงแค่การจัดหย่อนบัตร ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ทุกอย่างก็น่าจะจบ ผลตัดสินย่อมต้องยึดตามเจตนารมณ์ผู้ร่าง

สิ่งที่เป็นประเด็นตอนนี้คือ รัฐบาลมั่นใจ แต่ กกต. ซึ่งเป็นผู้จัดเลือกตั้งมั่นใจด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ กกต. จะไม่มั่นใจ แต่คงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่ารอให้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้ก่อน ซึ่งตามกรอบเวลารัฐบาลสามารถยื้อประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 10 มีนาคม

แต่ดูแล้วรัฐบาลคงจะไม่ใจร้ายยื้อไปจนสุดกรอบเวลา

เข้าใจว่าหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้นในวันนี้ (10 ม.ค.) น่าจะพอมองเห็นตารางกิจกรรมที่ต้องทำก่อนถึงวันงานพระราชพิธีชัดเจนขึ้น

ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้คือ กิจกรรมของวันงานพระราชพิธีจะเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป แต่เนื่องด้วยจะติดวันหยุดเทศกาลสงกรานต์หลายวัน ดังนั้น กิจกรรมก่อนถึงวันงานพระราชพิธีฯในวันที่ 4-6 พฤษภาคม จึงน่าจะถูกขยับให้เร็วขึ้น คืออาจจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน

แน่ชัดว่าเดือนเมษายนตลอดเดือนรัฐบาลไม่ต้องการให้มีกิจกรรมทางการเมือง

ทางเดียวที่จะไม่มีกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนและต่อเนื่องไปถึงต้นเดือนพฤษภาคมคือ ต้องจัดเลือกตั้งภายในสิ้นเดือนมีนาคม เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วกิจกรรมทางการเมืองจะต้องหยุด รอ กกต. พิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

ตามกฎหมาย กกต. มีเวลาในการพิจารณารับรองผลเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดประชุมสภาได้ภายใน 60 วัน ถ้าเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคมก็วิน-วินทั้งรัฐบาลและ กกต. เพราะกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรับรองผล การเลือกตั้งซ่อม จะไปเริ่มอีกครั้งหลังผ่านงานพระราชพิธีฯไปแล้วอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

สภาพของ กกต. ตอนนี้เหมือนถูกมัดมือชกไม่มีทางเลือก

แม้จะไม่มั่นใจเรื่องกรอบเวลา 150 วัน แต่ถึงเวลานี้จำต้องมั่นใจ และหวังว่าสุดท้ายแล้วหากมีคนไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญจะยึดเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดี

เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ กกต. ต้องยึดเกาะและฝากอนาคตไว้


You must be logged in to post a comment Login