วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ป.ป.ช.แจงปมตีตก”นาฬิกาหรู”เหตุขอข้อมูลจากต่างประเทศลำบาก

On January 17, 2019

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกิจกรรมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ มีบางช่วงที่บรรณาธิการสื่อหลายสำนักซักถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงสาเหตุในการตีตกคดีนาฬิกาหรูที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า การตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูเริ่มต้นจากการตรวจสอบว่านาฬิกาดังกล่าวถูกขายผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทยหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายในไทย 13-15 บริษัท พบว่าไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ ส่วนกรมศุลกากรก็ตอบว่าไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องพวกนี้ได้เช่นกัน ทำให้ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบไปยังต่างประเทศ พบว่ามีอยู่ 4 ประเทศที่มีบริษัทผู้ผลิต

โดย ป.ป.ช. ใช้ระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเป็นการขอข้อมูลผ่านทางสถานทูตในต่างประเทศโดยใช้วิธีทางการทูต เมื่อสถานทูตทั้ง 4 ประเทศไปสอบถามกับบริษัทผู้ผลิต มี 3 บริษัทตอบกลับมาตรงๆว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากไม่ใช่กรณีการทุจริต ส่วนบริษัทอีกแห่งตอบกลับมาว่าขอให้ใช้วิธีการขอข้อมูลอย่างถูกต้องตามช่องทางกฎหมาย โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ ซึ่งต้องดำเนินการผ่านอัยการสูงสุด แต่กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริตจึงไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ เมื่อบริษัทผู้ผลิต 4 แห่งตอบกลับมาแบบนี้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาวินิจฉัยอีกครั้งว่าเรื่องนี้สามารถใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯได้หรือไม่ ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะใช้ช่องทาง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯจริง คงใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือ 1 ปี และคำตอบคงออกมาแบบเดิมว่า กรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต ท้ายที่สุดเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่มีอยู่

โดยนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ถอนตัว ชี้แจงว่า ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก และการพิจารณากรณีนี้เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่ปรากฏกับบุคคลที่ให้การ โดยทั้งหมดยืนยันว่านาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต คือนายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ เมื่อตรวจสอบในเรื่องสภาพฐานะหรือความเป็นอยู่ พบข้อเท็จจริงว่านายปัฐวาทชอบสะสมนาฬิกา มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืมของ และจากการตรวจสอบบ้านก็แสดงให้เห็นถึงทุนทรัพย์ในส่วนของนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน โดยจำนวน 22 เรือนที่เป็นประเด็นก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ส่วนขั้นตอนพิสูจน์ที่มาที่ไปของนาฬิกาหรูว่าใครเป็นผู้ครอบครองนั้น กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะต่างประเทศตอบกลับมาว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะไม่ได้เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริต ในเมื่อไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศและข้อกฎหมายที่จะไปต่อได้ เสียงข้างมากจึงเห็นว่าควรจะหยุดเพียงเท่านี้ เพราะพยานหลักฐานไปต่อไม่ได้

นายปรีชากล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องการเปรียบเทียบกับกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ นอกจากนี้ศาลฎีกายังพิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่านายสุพจน์ร่ำรวยผิดปรกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จุดต่างคือลักษณะการครอบครองหรือได้มาต่างกัน เพราะกรณีรถโฟล์คตู้ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2554 จนกระทั่งถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป พบว่านายสุพจน์เป็นผู้เลือกรุ่น เลือกสี และที่สำคัญครอบครองเป็นเวลาถึง 2 ปี 4 เดือน และเลขรถตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ รวมถึงการบำรุงรักษาที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่นำคำพิพากษามาเทียบกับกรณีนาฬิกาหรูพบว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยคดีดังกล่าว ชี้แจงว่า ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะกรรมการทั้งหมดมีความเห็นเป็นอิสระ และเคารพหลักเกณฑ์ ในส่วนของตนเองในฐานะนักบัญชี และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. อีกรายที่เป็นเสียงข้างน้อย ก็เป็นนักบัญชีเช่นกัน เลยเห็นตรงกันว่า ต้องไล่ไปสุดสาย ได้แค่ไหนก็จบแค่นั้น แต่ความรู้สึกของนักบัญชีคิดว่ามันไล่ต่อได้ ตามกระบวนการในมาตรา 138 และ 139 ในกฎหมาย ป.ป.ช. หากได้คำตอบจากหน่วยงานต่างประเทศผ่านทางอัยการแล้ว และหากต่างประเทศบอกว่าไม่ให้ข้อมูลก็จบ แต่วันนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น ตนเลยคิดว่าเอาให้สุดสายเลย ทำให้ประชาชนสิ้นสงสัยในการวินิจฉัย แม้จะช้าแต่เราสามารถชี้แจงได้ เพื่อพยายามพิสูจน์ว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของใคร ยืมจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ของคนที่ให้ยืมแล้วเป็นของใคร เพราะยังมีคำถามต่อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่านาฬิกาที่ครอบครองเป็นของผู้ที่ถูกอ้างหรือไม่ เพราะข้อมูลไม่สุดสาย แต่เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักแต่ละกลุ่มแล้วมีมติยอมรับ ในส่วนความเห็นวินิจฉัยส่วนตนก็ยังมี เพราะการใช้ดุลยพินิจในทุกเรื่องต้องมีมาตรฐาน แต่เคารพความเห็นกรรมการท่านอื่นเช่นกัน ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของ ป.ป.ช.


You must be logged in to post a comment Login