- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
Good Monday VS Moody Friday
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 มกราคม 2562)
การออกมาเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” หลังจากกระแสการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไป เพราะจนถึงวันนี้พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งก็ยังไม่มีการประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่สามารถประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แม้การเลือกตั้งจะต้องให้แล้วเสร็จภายในกรอบ 150 วันตามรัฐธรรมนูญ ความไม่ชัดเจนยิ่งทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการเลือกตั้งอาจลากยาวหรือไม่มีการเลือกตั้งเลยก็ได้
หลังจากที่ผู้มีอำนาจทั้งในรัฐบาลทหารและกองทัพระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นคนแค่ไม่กี่ร้อยคน ซึ่งน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนที่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้ง และไม่แปลกหากจะเกิด “ม็อบชนม็อบ” ไม่ว่าจะเป็น “ม็อบจัดตั้ง” หรือ “ม็อบนอมินี”
เตือนอย่ามาล้ำเส้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นัดชุมนุมเคลื่อนไหววันที่ 19 มกราคม ขีดเส้นตายให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนว่า การเลือกตั้งเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนด “อยากถามว่าขีดเส้นตายให้รัฐบาลได้หรือ?”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ไม่มีความกังวล “มีคนอยู่นิดเดียว จากคนตั้ง 70 ล้านคน กับคน 100 กว่าคน ไปกังวลอะไร ก็ตั้งใจป่วนมิใช่เหรอ ใช่เปล่า ใช่มั้ย ก็ตั้งใจป่วน ไม่มีอะไร”
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคือกลุ่มเดิมๆ ซึ่งทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและมีสิทธิที่จะออกมาชุมนุมเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แม้ขณะนี้เป็นรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินมาตรการอะไร เพราะเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเห็นใจรัฐบาล
“เมื่อท่านมาขีดเส้นไว้ว่าคนนั้นต้องทำอย่างนั้น ท่านก็ต้องขีดเส้นตัวเองด้วย ไม่ใช่มาขีดเส้นให้คนโน้นคนนี้เดินอย่างเดียว เอาเส้นขาวหรือเส้นอะไรมาวางให้เขาเดิน ท่านก็ต้องขีดเส้นที่ตัวท่าน อย่ามาล้ำเส้นกัน ฝ่ายการเมืองก็เดินไป ฝ่ายความมั่นคงก็ทำงานไป ก็จะเป็นระบบสอดคล้องกัน ผมพูดไปรับรองไม่เกินอีกครึ่งชั่วโมงก็จะมีฟีดแบ็กกลับมา แต่ผมก็พูดในฐานะที่มีบทบาทเข้ามาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี 47 ผมคิดว่าประชาชนคงไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้นอีก”
วุฒิภาวะทางประชาธิปไตยบกพร่อง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ (12 มกราคม) พล.อ.อภิรัชต์กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ต่างคนต่างความคิด คนบางคนคิดอย่างนี้ และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้ ก็คิดอยู่ในโหมดนี้อย่างเดียว ไม่ได้มององค์ประกอบต่างๆว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ได้มองถึงรัฐธรรมนูญและกรอบเวลาที่ทาง กกต. ได้กำหนดไว้แล้ว
“มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าคนที่เขาเข้าใจคงจะรำคาญ ประชาชนที่อยากทำมาหากินตามปรกติและที่มีเหตุผลว่าทำไมจะต้องเลื่อนเลือกตั้ง ผมก็ยังไม่ได้รับทราบ เพราะ กกต. ยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งเป็นทางการ ก็ตีความกันไป ทุกอย่างมันมีเวลา ทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ถ้าไปคิดตามไทม์ไลน์ ปฏิทินการเลือกตั้งทุกอย่างก็อยู่ในกรอบเวลา ส่วนงานพระราชพิธีต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย แต่คนพวกนี้ก็ไม่เคยคิด อย่างที่ผมบอกคนพวกนี้ก็คิดแบบนี้ จะไปเปลี่ยนเขาก็ไม่ได้”
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า หากสังคมไทยมองการเคลื่อนไหวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งช่วงนี้ด้วยความรู้สึกกังขาและมองว่าไม่เหมาะไม่ควรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก หรืออาจตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวบางอย่างได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว เป็นวิธีการเดิมๆที่บางกลุ่มนำมาใช้ โดยบางครั้งไม่ได้สนใจบริบทสังคมโดยรวม
“การเคลื่อนไหวแบบมีนัย วิจารณ์ด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม กลุ่มคนอยากเลือกตั้งระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชูประเด็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้าม อาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่อง”
น่าละอายแก่ใจ
น.ส.นัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ว่า มีเนื้อหาที่น่าละอายแก่ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยขอถาม ผบ.ทบ. ว่าคำว่า “คิดอย่างนี้และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้” หมายความว่าอะไร ใครสั่ง? การยืนยันหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานและการปกป้องสิทธิทางการเมืองของตนเองเป็นสามัญสำนึกที่มีได้ในประชาชนทุกคน ตรงกันข้ามในฐานะเลขาธิการ คสช. ใครสั่งให้ท่านละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเงินภาษีของเรามาเกือบห้าปี?
เรามององค์ประกอบของรัฐธรรมนูญแน่นอน จึงได้พยายามปกป้องการเลือกตั้งไม่ให้ถูกเลื่อนออกไปถึงจุดเวลาที่จะมีความเสี่ยงที่จะประกาศผลการเลือกตั้งไม่ทันกรอบเวลา 150 วัน อันอาจทำให้การเลือกตั้งต้องถูกสั่งให้เป็นโมฆะในที่สุด ท่านสามารถพูดพล่อยๆ ล้างสมองประชาชนและได้พื้นที่สื่อทั้งหมด ในขณะที่เรามีรายละเอียดชัดเจนแต่การสื่อสารกลับถูกสกัดกั้น
ที่ว่า “มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย” คนประเภทนี้คือคนประเภทไหน? ทุกประเทศประกอบด้วยคนหลากหลายความคิด ในสังคมประชาธิปไตยการชุมนุมโดยสันติวิธีเป็นช่องทางการแสดงออกที่จำเป็นและสำคัญ จึงได้ถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและในรัฐธรรมนูญไทย มีเพียงเผด็จการเท่านั้นที่พยายามดิสเครดิตทุกทาง ป้ายสีว่าการชุมนุมโดยสันติของเราเท่ากับความวุ่นวาย เพื่อที่ตนจะสามารถทำเลวทรามกับประเทศได้ตามอำเภอใจ ทำไมไม่คิดบ้างว่าประชาชนจะเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ที่รัฐบาล คสช. ได้ยึดอำนาจและบั่นทอนประเทศทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไร้การตรวจสอบมายาวนานเกือบห้าปี?
ที่ว่า “ทุกอย่างมันมีเวลา ทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง” แต่การเลื่อนเลือกตั้งครั้งที่ 5 มีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเข้าเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจนรัฐบาล คสช. สามารถยื้ออำนาจต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนด เราจึงต้องออกมาปกป้อง ไม่มีใครบอกว่าพระราชพิธีไม่มีความสำคัญ จึงยกมาเป็นข้ออ้างหนึ่งเดียวที่คิดว่าจะมีขนาดใหญ่พอจะกลบเจตนาแฝงทั้งหมดเพื่อการสืบทอดอำนาจได้
และที่ “ขอความร่วมมือประชาชนช่วยฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่เชื่อถือได้และสื่อของรัฐ” นั้น สื่อของรัฐเผด็จการจะเชื่อถือได้อย่างไร? ในเมื่ออำนาจที่ไร้การตรวจสอบนั้นเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของประชาชน วันนี้สื่อทุกสื่อยังถูกปิดกั้นด้วยคำสั่ง คสช. ประชาชนจึงมีหน้าที่ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่รอบด้าน และออกมาแสดงพลังโดยสันติวิธี
ชุมนุมใหญ่ 19 มกราคม
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งมีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 13 มกราคม และหลังการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัว น.ส.นัฏฐา และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว โดยแจ้งข้อหาทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ใช้เสียงปราศรัยเกินกำหนด ใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์โดยไม่ได้รับอนุญาต
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา” ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนก็ยืนยันว่า จะมีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 19 มกราคม
ขณะที่สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชนคิดอย่างไรกับการเลื่อนเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 31.50 อยากให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ไม่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง และร้อยละ 23.32 อยากให้ กกต. ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน
ดูถูกประชาชนที่ชุมนุมคัดค้าน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ค (12 มกราคม) ว่า การที่ ผบ.ทบ. พูดถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและประชาชนที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง แสดงถึงความไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย มีอคติ คับแคบ และเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยกในสังคม
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น การชุมนุมแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรจะว่าเป็นความวุ่นวายได้อย่างไร การพูดว่าพวกนี้มีหน้าที่สร้างความวุ่นวายและมีคนสั่งให้ทำก็แสดงถึงความมีอคติ ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงอะไรรองรับ เป็นการดูถูกประชาชนที่ชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่รวมถึงคนอีกมากมายทั่วประเทศที่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามกำหนดที่ประกาศไว้
ผบ.ทบ. ได้พูดถึงพระราชพิธีเหมือนกับจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าผู้ที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งไม่คำนึงถึงพระราชพิธี ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริงเลย ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าต้องการอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร คนจำนวนไม่น้อยก็คิดว่ายิ่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม เป็นต้น การพูดของ ผบ.ทบ. จึงอาจทำให้คนโกรธเคืองกัน แทนที่จะรับฟังความเห็นที่อาจจะต่างกัน ทุกฝ่ายก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้สาเหตุที่ประชาชนทั่วประเทศอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วก็เพราะอยากให้บ้านเมืองคืนสู่สภาพปรกติ ทำให้เกิดโอกาสในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กล้าพอยืนข้างประชาชนหรือไม่
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ค (12 มกราคม) ว่า เป็นห่วงทัศนคติของ ผบ.ทบ. ที่พูดโดยไม่ใช้ความคิด แล้วยังขาดความเข้าใจและไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าหากไม่เลื่อนการเลือกตั้งจะกระทบต่อพระราชพิธีก็เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของรัฐบาล แต่ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองสั่งลูกน้องให้เอารัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 44 มาอ่านให้ฟัง
สิ่งสำคัญที่ ผบ.ทบ. ต้องเข้าใจคือ การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นความชอบธรรม ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพและไม่ใช่การสร้างความวุ่นวาย ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเห็นต่างจากรัฐบาลได้เสมอ เพราะประเทศไม่ใช่ค่ายทหาร ประชาชนไม่ใช่ลูกน้องรัฐบาล การที่อำนาจซึ่งเป็นของประชาชนถูกคนกลุ่มหนึ่งยึดไปแล้วโยกโย้ไม่ยอมคืน คนที่ ผบ.ทบ. ควรประณามคือคนที่ปล้นสิทธิของประชาชน ปัญหาคือ ผบ.ทบ. มีความกล้าพอที่จะยืนข้างประชาชนหรือไม่
ทหารการเมืองไม่ใช่ทหารอาชีพ
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า บทบาทของนายทหารผู้ใหญ่หลายท่านที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วงนี้ เห็นชัดเจนว่าเป็นการพูดในฐานะทางการเมือง หรือเรียกได้ว่าทหารการเมือง ไม่ใช่ทหารอาชีพแต่ประการใด เพราะทุกท่านมีตำแหน่งทางการเมืองทางใดทางหนึ่งกำกับอยู่ ในประเทศตะวันตกที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ทหารวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง เพราะทหารเป็นผู้ถืออาวุธ เป็นองค์กรที่ได้เปรียบในเรื่องอำนาจ ในสหรัฐอเมริกาแม้แต่การเลี้ยงรุ่นก็ยังทำไม่ได้ และการที่รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และจะทำให้สังคมนั้นกินดีอยู่ดี
พล.ท.พงศกรกล่าวว่า ความสงบราบคาบเป็นสัญญาณที่เลวร้ายต่อทางเศรษฐกิจ ต่อความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ มากกว่าสังคมที่มีการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเสรีในกรอบที่ตกลงกันล่วงหน้าโดยไม่มีการละเมิดกติกากัน เช่น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและวาระการเลือกตั้งที่แน่นอน เป็นต้น ประเด็นที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเรียกร้องไม่เลื่อนหรือไม่เลิกการเลือกตั้งนั้นคงจะไม่สามารถเรียกกระแสประชาชนได้หากว่าผู้มีอำนาจปกครองมีสัจจะวาจาเรื่องกำหนดเวลาต่างๆ เพราะแม้แต่ประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างถึงที่สุดการรักษาคำสัตย์ยังถือเป็นเรื่องสำคัญ
พรรคอนาคตใหม่จึงมุ่งมั่นที่จะตัดวงจรการรัฐประหาร ส่งเสริมทหารอาชีพให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ใครต้องการมาวิพากษ์วิจารณ์หรือทำงานการเมืองต้องออกจากการเป็นทหารมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี เช่นเดียวกับทหารในประเทศเครือจักรภพ มาถึงจุดนี้ประชาชนคงแยกแยะได้นานแล้วว่าจะอยู่อย่างสงบราบคาบไปเสียทุกอย่างเช่นปัจจุบัน หรือจะมีการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการโต้แย้ง มีการตรวจสอบการทุจริตนักการเมือง และอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย แบบไหนจะดีกว่ากัน
มาตรา 44 ยุติปัญหา
แม้การเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 5 จะค่อนข้างแน่นอน แต่รัฐบาล คสช. ก็จะมีแรงกดดันและเงื่อนไขต่างๆตามมา ซึ่งในที่สุดก็อาจต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยุติปัญหาไม่ให้บานปลาย ทั้งการชุมนุมต่อต้านและกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ
แม้ พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะยืนยันว่าไม่สามารถใช้มาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ก่อนหน้านี้มีการใช้มาตรา 44 เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ การแก้ไขเนื้อหาเรื่องเรียนฟรี 12 ปี เป็น 15 ปี และแก้ไขเนื้อหาเรื่องศาสนา ขยายให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองศาสนาและอุปถัมภ์ทุกศาสนา และให้รัฐสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของแต่ละศาสนาโดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ประชาธิปไตยไทยดำดิ่ง
ความไม่แน่นอนเรื่องวันเลือกตั้งและการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อเพื่อสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าไม่ได้บ้าอำนาจ ไม่ได้อยากมีอำนาจ และไม่ได้อยากต่อท่ออะไรทั้งนั้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีใครเชื่อคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนที่ไม่เชื่อโรดแม็พการเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ซึ่งสะท้อนถึงประชาธิปไตยไทยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับรายงาน Democracy Index 2018 ของ The Economist ล่าสุดที่จัดอันดับสถานะทางประชาธิปไตยประเทศไทยว่าอยู่อันดับที่ 106 ของโลก และอันดับที่ 20 ของภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลีย เป็นรองทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ติมอร์ตะวันออก ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน และฟิจิ โดยอันดับที่ 21 ได้แก่ปากีสถาน และอันดับที่ 22 ได้แก่พม่า โดยคะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยใกล้เคียงกับปากีสถานและพม่า
คะแนนความเป็นประชาธิปไตยไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ซึ่งรัฐบาล คสช. อ้างยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตย แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 5 ปีกลับยิ่งแย่ลง แม้แต่คำมั่นสัญญาเรื่องการเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดกับประชาชนและประชาคมโลกครั้งแล้วครั้งเล่ายังเลื่อนแล้วเลื่อนอีก แม้ครั้งนี้จะอ้างเรื่องพระราชพิธีสำคัญ แต่ฝ่ายที่คัดค้านก็มีเหตุผลว่าไม่กระทบพระราชพิธี หาก กกต. มีความพร้อมก็สามารถจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐบาล คสช. และ กกต. เคยประกาศไว้คือ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จภายใน 30 วัน และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“ทักษิณ” จัดรายการทุกวันจันทร์
ขณะที่การเลือกตั้งยังเป็นประเด็นร้อน พล.อ.ประยุทธ์และพวกก็ต้องนอนไม่เป็นสุขอีกครั้ง เมื่ออดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จัดรายการ Good Monday ผ่านเว็บไซต์ www.thaksinofficial.com และผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ Thaksin Shinawatra เพื่อแบ่งปันประสบการณ์จากการได้พูดคุยกับผู้นำประเทศทั้งปัจจุบันและอดีต ผู้นำทางธุรกิจ นักวิชาการ นักเทคโนโลยีทั่วโลก ให้กับคนไทยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยตอนแรก (001) พูดถึงเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 โดยระบุว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องเศรษฐกิจปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า ค.ศ. 2020 วัฏจักรระบบการเงินโลกน่าจะมีปัญหา เศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอลง หรือเกิดภาวะวิกฤตที่เป็นแรงกระแทกใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย เราคงหนีภาวะนี้ไม่ได้ เป็นห่วงประเทศไทยวันนี้เรายังไม่ปรับตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานล่างเราอ่อนแอมาก ถ้าโดนเที่ยวนี้เราจะป้องกันกันอย่างไร
บริษัทระดับโลกก็หากินข้ามชาติมาถึงไทย หากินข้ามจังหวัดไปจนถึงชนบท คนตัวเล็กๆเริ่มทำมาหากินลำบากขึ้น คนตัวขนาดกลางก็เริ่มเหนื่อยขึ้น เพราะถ้าไม่ใหญ่จริงไปรอดยาก มีทางเดียวคือต้องปรับตัวให้คนข้างล่างรวมตัวกันแข็งแรง ไม่ใช่เอามารวมกัน แต่เอาเทคโนโลยีถักร้อยให้รวมกัน ให้บริษัทเล็กๆแข็งแรงได้ ประเทศไทยต้องฝึกคนให้เป็นนายหุ่นยนต์ อย่านั่งรอให้หุ่นยนต์มาไล่เราออกจากงาน นั่นคือฝึกการใช้โปรแกรมด้าน AI หรือ Artificial Intelligence ฝึกการใช้และบังคับหุ่นยนต์ให้ทำงาน แม้กระทั่งชาวนา อีกหน่อยหุ่นยนต์จะมาหว่านข้าวเกี่ยวข้าวได้ เราอย่าไปหนี ต้องสู้กับมัน
อดีตนายกฯทักษิณยังระบุว่า ความรู้ใหม่การรักษาสุขภาพ เทคโนโลยีด้านสุขภาพตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การรักษาโรคปลายทางล้าสมัย สิ้นเปลือง ใช้เวลานาน และไม่ทำให้คนไข้ดีขึ้น โลกข้างหน้าจะใช้ดีเอ็นเอมาเป็นเครื่องมือประกอบในการวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น มีการพัฒนาการใช้จุลินทรีย์ ใช้ฟิสิกส์แทนยา และจะมียุค “Human Spare Parts” คือมีอะไหล่มนุษย์ อะไหล่ทุกชิ้นเปลี่ยนได้หมด ยกเว้นตัวสมอง หัวใจ ตับ ไต ไส้พุง เปลี่ยนได้หมด เมื่อมนุษย์อายุยืนขึ้นต้องออกแบบเศรษฐกิจใหม่มารองรับ สังคมไทยต้องเตรียมสังคมคนสูงอายุไว้ ต้องปรับตัวอย่างแรงในเรื่องการออกแบบเศรษฐกิจธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ การดูแลผู้คน และสวัสดิการของมนุษย์ทั้งหลาย
“ถ้าวันจันทร์ไหนว่างจะมาพูดกับพี่น้อง อาจเป็นจันทร์เว้นจันทร์ จะพยายามเล่าอะไรให้ฟังให้เป็นความรู้ เรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ไม่ค่อยอยากเสียเวลาพูด พูดกันแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตพวกเราดีกว่า”
รายการ Good Monday พุ่งกระฉูด
ที่น่าสนใจคือ สตูดิโอที่อดีตนายกฯทักษิณจัดรายการนั้นใช้แค่แทบเล็ตและไมโครโฟนเล็กๆสำหรับไลฟ์สดเท่านั้น แต่เพียงวันเดียวที่เปิดตัวรายการ ปรากฏว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 มกราคม รายการ Good Monday ขึ้นเป็นอันดับ 1 Top Chart ในหมวด All Categories ในแอพพลิเคชั่น Podcast ของแอปเปิล และยังเป็นอันดับ 1 ในหมวด News & Politics อีกด้วย รวมทั้งเข้าไปอยู่ใน Spotify ผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ซึ่ง Spotify เป็นบริการสตรีมเพลง พอดแคสต์ และวิดีโอ ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพชื่อสปอติฟายเอบีในสวีเดน มีผู้ใช้ทั่วโลกแล้วราว 140 ล้านคน และ 60 ล้านคนที่ใช้บริการแบบจ่ายเงิน เปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม 2560
ขณะที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ดิฉันนั่งฟังและอ่านแนวความคิดของพี่ชายผ่านเว็บไซต์ Thaksin Official คอลัมน์ “GOOD MONDAY รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวาน ได้แนวความคิดหลายมุมมองทีเดียวค่ะ ดิฉันเองเป็นน้องสาว แต่เวลาพี่เล่าเรื่องที่ไปพบคนนั้นคนนี้ เจอสิ่งใหม่ๆของประเทศนั้นประเทศนี้ ยังชอบฟังและรู้สึกสนุกทุกครั้งอย่างไม่มีเบื่อ ทำให้มีแนวความคิดใหม่ๆทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ตลอดจนวิธีการที่จะรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปในทุกๆวัน”
โพลโหวตดูทักษิณ 91% ดูลุงตู่ 9%
รายการ Good Monday ที่พุ่งกระฉูดหยุดไม่อยู่ ไม่ใช่แค่คนจัดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือเนื้อหาที่น่าสนใจและมีมุมมองที่มีประโยชน์ ไม่เหมือนรายการทุกคืนวันศุกร์ที่ย้ำซ้ำซากกับความเงียบสงบภายใต้กระบอกปืน ค่านิยมแบบคนดี และเศรษฐกิจแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่บังคับสื่อทุกช่องต้องถ่ายทอดสัญญาณ แต่แทบไม่มีใครอยากดูอยากฟัง
ล่าสุด “เฟซบุ๊คข่าวสดออนไลน์” ได้ทำโพลผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจโดยถามว่า “บอกกันชัดๆ คุณอยากดูรายการไหน..” โดยเปิดโหวตตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00 น. วันที่ 14 มกราคม และสิ้นสุดโพลภายใน 24 ชั่วโมงคือเวลา 21.00 น. วันที่ 15 มกราคม มีผู้ร่วมโหวตกว่า 87,000 คน ปรากฏว่ากว่า 91% หรือประมาณ 79,000 คน ระบุอยากดูรายการ Good Monday ของอดีตนายกฯทักษิณ และกว่า 9% หรือประมาณ 8,100 คน ระบุอยากดูรายการทุกคืนวันศุกร์ของ “ลุงตู่”
“ทั่นผู้นำ” ตบะแตก
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงอาการหงุดหงิดทันทีเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯทักษิณที่จัดรายการ Good Monday เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์แก้ไขปัญหาปากท้องและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับสะบัดหน้าหนีทันทีเมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถาม พร้อมตอบเสียงดังว่า “เฮ้ย ไม่พูด ขี้เกียจฟัง” และยังแสดงอาการงอนเดินออกจากกลุ่มสัมภาษณ์ว่า “ไม่พูดด้วยแล้ว”
ส่วน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ควรจะฟังหรือไม่ เขาอยู่นอกประเทศ จะไปทำอะไร จะมีคนฟังหรือไม่ ตนจะไปรู้หรือ พวกคุณต้องไปถามคนฟัง ส่วนที่อดีตนายกฯทักษิณชี้แนะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะนำมาพิจารณาปรับใช้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า อยู่ต่างประเทศจะไปแก้อะไรล่ะ คนตั้ง 70 ล้านคนเขาพร้อมที่จะทำงานด้วย ทำให้กับประชาชนด้วยกัน ไม่ใช่ของใครคนเดียวที่หนีคดีไปอย่างนี้หรอก
Good Monday VS Moody Friday
การเปิดตัวรายการ “Good Monday” ของอดีตนายกฯทักษิณ แม้จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ก็ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองอย่างมาก เพราะยิ่งสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำระหว่างอดีตนายกฯทักษิณกับ “ทั่นผู้นำ” ชัดเจนกับการจัดรายการทุกคืนวันศุกร์ที่ได้แต่บ่นและสร้างฝันที่น่าจะเรียกว่ารายการ “Moody Friday” มากกว่า
ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังจมดิ่ง และความเหลื่อมล้ำที่ “รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่ต่างกับสถานการณ์ทางการเมืองและการเลือกตั้งที่ยังลูกผีลูกคน แต่ “ทั่นผู้นำ” ยังเดินสายหาเสียงกับประชาชน สร้างความหวังลมๆแล้งๆจะปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะแค่ “ปฏิรูปตำรวจ” ยังล้มเหลวไม่เป็นท่า
พูดซ้ำพูดซากกับผลงานของรัฐบาล คสช. ที่ทำให้บ้านเมืองเงียบสงบภายใต้กระบอกปืน และความเป็นคนดีภายใต้ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ทั้งที่ “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้องย้อนแย้งกับคำพูดที่สอนให้ทุกคนเคารพกฎหมายและเป็นคนดี แต่ลืมมองตัวเองว่าทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและยังนิรโทษกรรมตนเองอีก แม้แต่การปราบโกงที่โหมโฆษณากรอกหูจัดงานใหญ่โตประกาศเจตนารมณ์ “ไม่โกงและไม่ยอมรับคนโกง” กลับถูกประทับตรา “ยุติธรรมแบบป้อมๆ” ที่ตอกย้ำ “คนดีทำอะไรก็ไม่ผิด”
กว่า 4 ปีภายใต้รัฐบาลทหารจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า การรัฐประหาร “เสียของ-เสียเปล่า” ไม่เคยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ไม่ว่าปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หรือปัญหาเศรษฐกิจ การ “ปฏิรูปประเทศ” เป็นแค่วาทกรรมที่เพ้อฝันเพ้อเจ้อ
กว่า 4 ปีภายใต้ “ระบอบพิสดาร” บ้านเมืองจึงจมดิ่งอยู่ในภาวะ “ประเทศกูมี” ที่บกพร่องทั้งภาวะประชาธิปไตยและภาวะความเป็นผู้นำ!!??
You must be logged in to post a comment Login