วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5

On January 18, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 มกราคม 2562)

PM2.5 คืออะไร

PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ เนื่องจาก “เจ้าตัวน้อย” นี้มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวมากมหาศาล ทำให้สามารถนำพาสารต่างๆล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควัน โดยตัวมันเองและสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมันถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและส่งสัญญาณเตือนภัยมานานแล้ว

เจ้าตัวน้อยนี้มาจากไหน

แหล่งสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์และฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งจะมีการผลิตขึ้นใหม่ในทุกวัน แต่มันจะสะสมได้ง่ายถ้ามีการผลิตมากขึ้นและฟุ้งกระจายออกไปได้น้อยลง ตัวอย่างคือ “เชียงใหม่” ในช่วงต้นปีของทุกปีที่มีการเผาพื้นที่เกษตรกรรมกันมาก และตัวเมืองมีภูเขาล้อมรอบ จึงเป็นแอ่งกระทะที่ขังเจ้าตัวน้อยได้ง่าย แต่ใน “กรุงเทพฯ” ของเรามีการผลิตอนุภาคนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะจากยานพาหนะในท้องถนน ในช่วงปลายปีถึงต้นปีจะเกิดสภาวะ “การตกตะกอน” เมื่ออุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ร่วมกับความชื้นสูงและลมอับ อีกทั้งการมีตึกสูงจำนวนมากทำให้ตัวเมืองเหมือนเป็นแอ่งกระทะกลายๆ เจ้าตัวน้อยจึงวนเวียนอยู่มากในช่วงกลางคืนแล้วค่อยๆจางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ทำงานส่องสว่างเต็มที่

มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร

เนื่องจากขนาดที่เล็กของเจ้าตัวน้อยทำให้เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจสามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลมที่เราหวงแหนเป็นหนักหนา และด้วยคุณสมบัติขนาดจิ๋วจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความร้ายกาจของมันต่อปอดของเราเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนติออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียม จนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายที่สำคัญ 3 ประการคือ

1.ทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง

2.ทำให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

3.ในระยะยาวส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอยจนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น

มีคำแนะนำในการลดปริมาณ “เจ้าวายร้ายตัวน้อย” ในบรรยากาศได้อย่างไร

พวกเราเหล่า “ประชารัฐ” สามารถร่วมไม้ร่วมมือควบคุมแหล่งกำเนิดของมันได้โดย

1.ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

2.ใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมา

3.ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทำลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี

4.หลีกเลี่ยงการเผาป่า เผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม เผาขยะและวัสดุเหลือใช้

แล้วคนทั่วไปจะสามารถป้องกันตนเองได้อย่างไร

ช่วงที่มีค่า PM2.5 ในอากาศสูงเกินค่าปรกติขององค์การอนามัยโลกคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ของกรมควบคุมมลพิษเรายังใช้ที่ค่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรังไม่ควรออกนอกบ้าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องเดินทางไปในที่สาธารณะให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าสิบห้า” ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคขนาดจิ๋วได้ถึง 0.3 ไมโครเมตร โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้า สำหรับคนทั่วไปที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านอย่างน้อยให้ใส่ “หน้ากากอนามัย” ที่ยังพอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 2-3 ไมโครเมตรได้ โดยต้องใส่ให้ถูกต้องเช่นกันคือ หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงและช่วยการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก

“คืนอากาศบริสุทธิ์ให้พวกเราสูดหายใจ ควบคุมตัวร้าย PM2.5 ไม่ให้เกินมาตรฐาน”


You must be logged in to post a comment Login