- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 22 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สายด่วนจลาจล
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 มกราคม 2562)
หลายสิบปีก่อนที่จะมีเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือโซเชียลมีเดียใดๆ วัยรุ่นชาวสวีเดนกว่าพันคนนัดแนะมาชุมนุมกันใจกลางกรุงสตอกโฮล์มโดยอาศัยเพียงแค่โทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ “จลาจลสายด่วน”
ค่ำวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 1982 วัยรุ่นหลายสิบคนปรากฏตัวขึ้นที่สถานีรถไฟฟ้าใจกลางกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากนั้นไม่นานก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นหลายร้อยคน และสุดท้ายกลายเป็นมากกว่าพันคน พวกเขาทยอยเดินตามกันออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าตรงไปที่สะพานคอนกรีตที่ทอดตรงเข้าสู่สวนสาธารณะราลามบ์โชฟสปาร์เกน
เด็กวัยรุ่นกระจายตัวกันเต็มท้องถนน พวกเขาไม่มีอาการมึนเมา ไม่มีแผ่นป้ายประท้วง ไม่ได้เรียกร้องใดๆทั้งสิ้น พวกเขาเพียงแค่นัดแนะมาพบหน้าพบตากัน แต่สถานีรถไฟฟ้าคับแคบเกินกว่าจะรองรับคนกว่าพันคนในเวลาเดียวกัน พวกเขาจึงเคลื่อนทัพมุ่งหน้าไปยังสถานที่ที่สามารถจุคนจำนวนมากได้ นั่นก็คือสวนสาธารณะราลามบ์โชฟสปาร์เกน ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 3 ช่วงตึก
แม้ว่าการชุมนุมจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่การที่วัยรุ่นจำนวนมากมารวมตัวกันในสวนสาธารณะยามค่ำคืนเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไร ราวหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่วัยรุ่นมารวมตัวกัน ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นายมาสลายการชุมนุม
ส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจากหน่วย Piketstyrka หรือหน่วย “สวาท” ของประเทศสวีเดน พวกเขาอยู่ในชุดปราบจลาจล สวมหมวกเหล็ก ถือกระบองและโล่ และสุนัขตำรวจ หลังจากตำรวจเดินทางมาถึง การชุมนุมที่เงียบสงบก็กลับกลายเป็นความสับสนวุ่นวาย
ตำรวจต้อนกลุ่มวัยรุ่นโดยใช้กระบองและสุนัขตำรวจให้ถอยกลับไปที่สะพานคอนกรีตหน้าทางเข้าสวนสาธารณะ เสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจดังขึ้นมาจากกลุ่มวัยรุ่น ก้อนหินและขวดเบียร์ปลิวเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนต้องรีบหาที่กำบังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้หรือรถยนต์ที่จอดอยู่ริมทาง
ตำรวจ 4 นายได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในนั้นกระดูกไหปลาร้าหัก วัยรุ่นราว 10 คนถูกจับกุมตัว เช้าวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “จลาจลเยาวชน” แต่หลังจากที่พบว่าอะไรเป็นต้นเหตุทำให้วัยรุ่นกว่าพันคนมารวมตัวกันได้ เหตุการณ์นี้ถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า “จลาจลสายด่วน”
พบช่องโหว่
ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวเริ่มต้นโดยใครหรือตั้งแต่เมื่อไร แต่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นราวปี 1981 เมื่อวัยรุ่นบางคนบังเอิญพบช่องโหว่ของระบบโทรศัพท์พื้นฐานที่ดำเนินโดย Televerket บริษัทผูกขาดการติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานในประเทศสวีเดนแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากที่มีผู้เช่าหมายเลขโทรศัพท์ขอยกเลิกการบริการ Televerket จะดองหมายเลขที่ถูกยกเลิกไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ยังไม่นำไปขายให้กับผู้ขอเช่ารายใหม่โดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่มีคนที่ยังไม่ทราบว่าผู้เช่ารายเดิมได้ยกเลิกการใช้โทรศัพท์หมายเลขนั้นๆไปแล้วโทร.มาที่หมายเลขนั้น ซึ่งเป็นการรบกวนผู้เช่าหมายเลขรายใหม่
ช่วงระยะเวลาดองหมายเลขนี้ หากมีคนโทรศัพท์มาที่หมายเลขที่ถูกดองจะได้ยินเสียงจากเครื่องบันทึกเสียง “หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาหมุนหมายเลข 90120” ตามด้วยเสียง “บี๊บ” สั้นๆเตือน 4 ครั้ง และจังหวะเงียบ ก่อนที่เครื่องบันทึกเสียงจะวนกลับมาเล่นอีกครั้ง
จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม มีใครบางคนค้นพบว่าหากมีคน 2 คนโทร.หาหมายเลขที่ถูกดองหมายเลขเดียวกันในเวลาเดียวกัน ทั้ง 2 คนนั้นจะสามารถพูดคุยกันได้ โดยมีเสียงจากเครื่องบันทึกเสียงของ Televerket ดังอยู่เบื้องหลังเป็นระยะๆ
โซเชียลมีเดีย
การใช้โทรศัพท์พื้นฐาน หากโทร.ข้ามเขตจะถูกคิดค่าโทร.เป็นนาที แต่การโทร.หาหมายเลขที่ถูกดองจะไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นการโทร.หาหมายเลขที่ถูกระงับการใช้งาน ดังนั้น ผู้ที่รู้ช่องโหว่ของระบบโทรศัพท์จะสามารถใช้โทรศัพท์คุยกันได้นานหลายชั่วโมงโดยไม่เสียเงินแม้แต่แดงเดียว พวกเขาตั้งชื่อหมายเลขที่ถูกดองว่า “สายด่วน” (Hotline)
ยิ่งไปกว่านั้นหากหมายเลขที่ถูกดองได้รับการเชื่อมต่อกับตู้สาขาโทรศัพท์ หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า PBX (Public Branch Exchange) จะทำให้สามารถรองรับหมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.มายังหมายเลขที่ถูกดองได้มากถึง 49 หมายเลขในเวลาเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้เองเหล่าวัยรุ่นจึงนิยมมองหาหมายเลขโทรศัพท์ถูกดองที่เคยเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัท ห้างร้าน หรือองค์กร เพราะจะได้หมายเลขโทรศัพท์ที่เรียงกันเป็นชุดครั้งละหลายสิบหมายเลข ง่ายต่อการจดจำ อีกทั้งหมายเลขโทรศัพท์เหล่านั้นมักเชื่อมต่อกับตู้สาขาโทรศัพท์ ทำให้สามารถพูดคุยกันได้หลายคนในเวลาเดียวกัน
หากจะเรียกว่าเป็นโซเชียลมีเดียยุคบุกเบิกก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะวัยรุ่นสวีเดนในยุคนั้นจะรีบกลับบ้านทันทีที่เลิกเรียน หยิบโทรศัพท์หมุนไปยังหมายเลขที่ถูกดอง (โทรศัพท์พื้นฐานสวีเดนในสมัยนั้นยังใช้ระบบหมุนหมายเลข) เพื่อพูดคุยกับคนแปลกหน้าเป็นชั่วโมงๆโดยใช้นามแฝงเหมือนกับการใช้อวตารสำหรับเล่นโซเชียลมีเดียในปัจจุบันอย่างไม่ผิดเพี้ยน
ดับฝันคนวัยมันส์
หมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกดองไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป เพราะ Televerket จะดองหมายเลขไว้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีการค้นหาหมายเลขที่ถูกดองใหม่ๆตลอดเวลา การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนแปลกหน้าทำให้สามารถได้หมายเลขที่ถูกดองหมายเลขใหม่ๆอยู่เสมอ
ผู้ที่โทร.มายังหมายเลขที่ถูกดองหมายเลขเดียวกันในเวลาเดียวกันบ่อยๆ สุดท้ายแล้วก็เกิดความสนิทสนม นัดแนะพบปะเจอะเจอกัน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆตามชนบท ซึ่งมักจะมีเพื่อนไม่มากนัก เพื่อนที่โรงเรียนเป็นกลุ่มเดียวกับเพื่อนแถวบ้าน มองไปทางไหนก็เจอคนหน้าเดิมๆ พวกเขาตื่นเต้นที่จะได้รู้จักเพื่อนใหม่จากการใช้โทรศัพท์สายด่วน
การนัดแนะพบปะเจอตัวเป็นๆขยายตัวจากบุคคลกับบุคคล กลายเป็นพบกันเป็นกลุ่ม จากกลุ่มเล็กๆขยายเป็นกลุ่มใหญ่และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายพวกเขาจำนวนกว่าพันคนนัดแนะพบกันในค่ำวันที่ 17 กันยายน 1982
หลังจากที่ Televerket พบว่าระบบโทรศัพท์มีช่องโหว่ ทางบริษัทก็รีบแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการนำช่องโหว่นั้นไปใช้เป็นสายด่วนได้อีก ทำให้บรรดาวัยรุ่นสวีเดนล่ารายชื่อเรียกร้องให้ Televerket อย่าทำการแก้ไขช่องโหว่ของระบบโทรศัพท์ เพราะมันคือโซเชียลมีเดียของพวกเขา อารมณ์ก็คล้ายๆกับการระงับการใช้งานเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมในปัจจุบันนั่นเอง
เหรียญมีสองด้าน
Televerket เชิญตัวแทนกลุ่มวัยรุ่นมาปรึกษาหาทางออก หลังจากเล็งเห็นความสำคัญของสายด่วนที่มีต่อกลุ่มวัยรุ่น Televerket ตัดสินใจเปิดสายด่วนอย่างถูกต้องเป็นทางการ ภายใต้เงื่อนไขการใช้งาน สายด่วนแต่ละหมายเลขรองรับครั้งละไม่เกิน 5 คู่สาย และมีเวลาใช้งานไม่เกิน 5 นาที
แม้ว่าสายด่วนใหม่จะจำกัดจำนวนคู่สายและระยะเวลาการใช้งานต่อครั้ง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย มีปริมาณการใช้งานสายด่วนใหม่ 3 ล้านครั้งต่อเดือน เฉพาะเมืองกอเทนเบิร์กเพียงเมืองเดียวมีการใช้งานสายด่วน 18 ล้านครั้งต่อปี
คุณแม่รายหนึ่งเดินทางมาขอบคุณผู้บริหาร Televerket ด้วยตนเอง เล่าให้ฟังว่ามีลูกสาวที่ร่างกายไม่สมประกอบ ทำให้เธอไม่มีเพื่อนและรู้สึกโดดเดี่ยว แต่หลังจากที่ Televerket เปิดให้บริการสายด่วน ลูกสาวเธอก็มีเพื่อน (ทางโทรศัพท์) มากมาย เปลี่ยนเป็นคนร่าเริง
แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งใช้โทรศัพท์สายด่วนในการค้ายาเสพติด ขายสินค้าที่ขโมยมา ฯลฯ ปี 1986 ผู้ป่วยจิตเภทรายหนึ่งหลบหนีออกจากโรงพยาบาล ใช้โทรศัพท์สายด่วนหลอกหญิงสาวที่อยู่ปลายสายอีกด้านว่าเป็นผู้ช่วยแพทย์จนเธอหลงเชื่อเชื้อเชิญให้มาหาที่บ้าน และถูกผู้ป่วยจิตเภทคนนั้นสังหารอย่างโหดเหี้ยม
ปี 1995 นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมบีบให้ Televerket ยกเลิกการให้บริการสายด่วน หลังจากที่โทรศัพท์สายด่วนถูกยกเลิกการให้บริการ คุณแม่ที่มีลูกสาวร่างกายไม่สมประกอบคนเดิมติดต่อมาที่ผู้บริหาร Televerket อีกครั้ง เธอบอกว่าลูกสาวเธอเสียใจที่อยู่ๆก็ไม่สามารถติดต่อกับเพื่อนๆได้ เธอเสียใจมากจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ได้ต้องการโยนความผิดให้กับ Televerket ในทางตรงกันข้ามเธอมาเพื่อขอบคุณ Televerket ที่พยายามยื้อเวลาการให้บริการสายด่วนได้นานถึง 10 ปี ขอบคุณที่ Televerket ทำให้ลูกสาวเธอมีความสุขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาต้องใช้เวลาอีกนานเกือบ 20 ปีกว่าที่วัยรุ่นทั่วโลกจะได้ใช้โซเชียลมีเดียอีกครั้ง
1.วัยรุ่นกว่าพันคนชุมนุมในสวนสาธารณะใจกลางกรุงสตอกโฮล์ม
2.โทรศัพท์พื้นฐานเป็นโซเชียลมีเดียของวัยรุ่นสวีเดน
3.สุนัขตำรวจไล่ต้อนวัยรุ่น
4.ตำรวจต้อนวัยรุ่นกลับขึ้นไปบนสะพานคอนกรีต
5.ตำรวจควบคุมกลุ่มวัยรุ่นบนสถานีรถไฟฟ้า
6.วัยรุ่นสวีเดนล่ารายชื่อคัดค้านการยกเลิกสายด่วน
7.ตู้ชุมสายที่ให้บริการสายด่วนอย่างเป็นทางการ
You must be logged in to post a comment Login