- อย่าไปอินPosted 19 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
IMF ปรับลด GDP โลก เศรษฐกิจชะลอ-ความเสี่ยงเพิ่ม
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงาน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงการณ์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 ลดลงอยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ จากประมาณการเดิมตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ณ เดือนตุลาคม ปี 2018 ที่ระดับ 3.7% ทั้งสองปี เนื่องมาจากการเติบโตของหลายกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด ประกอบกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การตึงตัวขึ้นของภาวะการเงินโลก และปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองในหลายภูมิภาค
IMF ปรับลด GDP ของเศรษฐกิจโลกจากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่าคาด ผลกระทบของสงครามการค้า ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวและความเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองมีแนวโน้มส่งผลลบต่อเนื่อง การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมถูกปรับลงสอดคล้องกับการลดลงของระดับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (manufacturing PMI) ของเศรษฐกิจโลกและของเศรษฐกิจหลัก ที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2018 (รูปที่ 1) ซึ่งดัชนีย่อยในส่วนของภาคการส่งออกบ่งชี้ทิศทางการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทิศทางการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงค่อนข้างเร็วกว่าคาด ซึ่งเมื่อเทียบกับประมาณการในเดือนตุลาคม ปี 2018 (รูปที่ 2) การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักปี 2019 ถูกปรับลดลงสอดคล้องกัน โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) คาดว่าจะขยายตัวราว 2.0% ลดลงจากการประมาณการรอบก่อนหน้า 0.1% โดยเฉพาะยูโรโซนที่ถูกปรับลดลงมากราว 0.3% ทำให้คาดว่าจะขยายตัวราว 1.6% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายในภูมิภาคโดยเฉพาะเยอรมนี จากมาตรฐานค่ามลพิษรถยนต์ฉบับใหม่ และฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและประท้วงจากความไม่พอใจนโยบายของภาครัฐ ในอีกด้าน ญี่ปุ่นถูกปรับประมาณการสูงขึ้น 0.2% ในปี 2019 และ 2020 ทำให้คาดว่าจะขยายตัวราว 1.1% และ 0.5% ตามลำดับ สะท้อนผลเชิงบวกจากแนวโน้มการเร่งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการเตรียมมาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อรองรับผลกระทบของการขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคม 2019 สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EM) ในปี 2019 คาดว่าจะขยายตัวราว 4.5% ลดลงจากการประมาณการรอบก่อนหน้า 0.2% จากการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลกและผลของมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในหลายพื้นที่เศรษฐกิจหลักทั้งในสหรัฐฯ และยูโรโซนอาจมีแนวโน้มยืดเยื้อ จะยังคงเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020
IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2019 ของกลุ่มประเทศ DM นำโดยยูโรโซน และกลุ่มประเทศ EM สะท้อนความเสี่ยงทางการเมืองและผลลบของมาตรการกีดกันการค้า IMF ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2019 อยู่ที่ 1.6% (จากเดิม 1.9%) เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวที่มากกว่าที่คาด ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในยูโรโซนและปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ 1) เยอรมัน ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอลงจากมาตรฐานค่ามลพิษรถยนต์ฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ผลิตรถยนต์ลดลง ทำให้ภาคการผลิตและบริโภคชะลอตัว รวมถึงภาคการส่งออกที่เริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก 2) อิตาลี ซึ่งแม้ว่าวิกฤตร่างงบประมาณและแผนนโยบายการคลังล่าสุดจะได้ข้อสรุปในทางประนีประนอมกับสหภาพยุโรป แต่ภาวะทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีได้ปรับสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2018 สะท้อนต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในที่เริ่มชะลอตัวลงพร้อมกัน และ 3) ฝรั่งเศส ที่ประสบผลลบต่อเนื่องจากการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ไม่พอใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2018 นอกจากนี้ บทสรุปของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังมีความไม่แน่นอน และกรณีในการเกิด no-deal Brexit ซึ่งจะกระทบต่อภาวะการค้าและการลงทุนในภูมิภาคยังเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM ในภาพรวมถูกปรับลดประมาณการการเติบโตอยู่ที่ 4.5% (จากเดิม 4.7%) โดยกลุ่มประเทศที่ถูกปรับลดการเติบโตสูง ได้แก่ ตุรกีและอาร์เจนตินาที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2018 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้นมากเพื่อยับยั้งเงินทุนไหลออก แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มส่งผลบั่นทอนเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางที่ยังมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายใน รวมถึงอานิสงค์ของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมน้อยลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการของ IMF ณ เดือนตุลาคม ปี 2018
IMF คงประมาณการเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM เอเชีย ชี้มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกยังสูง IMF คงตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2019 ที่ 6.2% (ปรับลงตั้งแต่ประมาณการรอบเดือนตุลาคม ปี 2018) จากผลการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 ทำให้ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกจีนลดลงในระยะสั้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในยังถูกสะท้อนออกมา
ในตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น การบริโภค การลงทุน และการขยายตัวของสินเชื่อ ในขณะที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 2018 อย่างไรก็ดี ทางการจีนยังคงมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน อาทิ การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และนโยบายการคลัง เช่น การปรับปรุงนโยบายภาษีเพื่อสนับสนุนการบริโภคและสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ความเสี่ยงที่จีนจะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง (hard landing) ยังคงต่ำ ด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM เอเชีย ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูง ในภาพรวมยังคงประมาณการเท่าเดิมที่ 6.3% เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียถูกปรับตัวเลขการเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 7.5% (จากเดิม 7.4%) ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่ม ASEAN-5 (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยที่ 5.1% ในปี 2019
(จากเดิม 5.2%) จากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจจีน และปัจจัยลบจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศ EM เอเชียยังมีความเสี่ยงหากผลการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ประสบผลสำเร็จ และสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจีนหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เพิ่มเติม
มุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยง โดย IMF ปรับประมาณการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN-5 ลงจากประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อีไอซีประเมินไว้ที่ระดับ 3.8% ในปี 2019 ชะลอลงจากปี 2018 ที่ 4.2% และคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2019 ซึ่งขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงจากปี 2018 ที่ 6.7% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM และผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายใน จากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อีไอซีมองความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2019 สูงขึ้นสอดคล้องกับการปรับประมาณการใหม่ของ IMF ซึ่งประกอบด้วยความเสี่ยงสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) สงครามการค้า ที่ยังต้องจับตาผลการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายในเดือนมีนาคม 2019 รวมถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจเก็บภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ภายหลังการประกาศผลการสืบสวน (ตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ) ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 2) ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดยการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งทำให้ต้นทุนการระดมเงินทุนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เคยล้นเหลือทยอยลดลงต่อเนื่องจากแนวโน้มการดำเนินโยบายการเงินที่เข้าสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางหลักหลายประเทศและ 3) ปัญหาการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งประเด็นสำคัญได้แก่ บทสรุปข้อตกลง Brexit ของสหราชอาณาจักรก่อนวันที่ 29 มีนาคม การเลือกตั้งสภายุโรปในเดือนพฤษภาคมที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของยุโรป และประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ (US debt ceiling) ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะและส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และมีเส้นตายการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 ซึ่งยังคงสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดการเงินโลกในปี 2019 ได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีสูง แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านทานผลกระทบจากภายนอกและสามารถเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนภายในได้ ทั้งนี้ อีไอซีมองเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
You must be logged in to post a comment Login