วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พึ่งม.44อีกรอบ

On January 24, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 24 ม.ค. 62)

หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและเริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กลับมีปัญหาที่อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้แข่งขันกันได้ไม่เต็มที่ เมื่อมีพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้ครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ ส่วนพรรคอื่นๆส่งผู้สมัครได้ไม่ถึงครึ่งของจำนวน ส.ส. เขตที่มี ขณะที่วันเปิดรับสมัคร ส.ส. ใกล้เข้ามาแล้ว พรรคที่เหลือคงดำเนินการตั้งสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ไม่ทัน ต้องดูว่าผู้มีอำนาจจะแก้ปัญหานี้อย่างไร จะปล่อยเลยตามเลยหรือใช้อำนาจ ม.44 ทะลวงข้อจำกัดนี้ด้วยการออกคำสั่งงดเว้นการบังคับใช้บางมาตราของกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้ทุกพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องถือว่าทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองไม่พร้อมมาจากการปลดล็อกที่ล่าช้านั่นเอง

พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมาตามนัด จากนี้ไปก็นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งเต็มตัว แต่อาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่ทุกฝ่ายอยากเห็น โดยเฉพาะความพร้อมของบรรดาพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัคร ส.ส.

หากดูจากข้อมูลที่นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังพรรคการเมืองที่จัดตั้งตามกฎหมายพรรคการเมืองเก่าจำนวน 60 พรรค ที่ต้องดำเนินการ 4 เรื่องให้เสร็จตามข้อกำหนดของกฎหมายพรรคการเมืองใหม่จึงจะสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ

ปรากฏว่าจาก 60 พรรคการเมืองเก่า มีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้นที่ดำเนินการครบถ้วนทั้ง 4 ข้อ และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบแล้วคือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคประชาธิปไตยใหม่ ส่วนพรรคที่เหลือยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน รวมถึงพรรคที่เคยมี ส.ส. ในสภา อย่างพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา

อีกประเด็นที่สำคัญมากซึ่งทั้งพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่รวม 104 พรรค ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงจะสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้คือ การตั้งสาขาพรรค หรือการตั้งผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

แม้จะมี 39 พรรคการเมืองที่ทยอยรายงานการจัดตั้งมายังนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกจังหวัด มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่ตั้งสาขาหรือผู้แทนพรรคครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว โดยมีสาขาพรรค 8 สาขา และมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 69 แห่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 26 แห่ง พรรคภูมิใจไทยมีสาขาพรรค 3 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 58 แห่ง พรรคพลังประชารัฐมีเพียง 1 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 30 แห่ง พรรคเพื่อชาติมีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 21 แห่ง พรรคประชาชนปฏิรูปมีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 14 แห่ง พรรคเสรีรวมไทยมีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 21 แห่ง พรรคประชาธิปไตยใหม่มีสาขาพรรค 6 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 1 แห่ง พรรคไทยรักษาชาติมีเพียงสาขาพรรค 3 สาขา

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาแล้ว และการรับสมัครเลือกตั้งจะมีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม พรรคเหล่านี้คงไม่มีความพร้อมที่จะส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 350 เขต เพราะการจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมีเงื่อนไขยุ่งยากพอสมควร เช่น ถ้าเป็นการจัดตั้งสาขาพรรคต้องมีสมาชิกพรรคในเขตพื้นที่ที่สาขาพรรคนั้นรับผิดชอบไม่ต่ำกว่า 500 คน ถ้าจะตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดก็ต้องมีสมาชิกพรรคซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นตั้งแต่ 101 คนขึ้นไป และไม่ใช่ว่าประกาศแล้วมีผลทันที ต้องส่งเรื่องมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบความถูกต้องก่อนประกาศรับรองการจัดตั้งอย่างเป็นทางการด้วย

กรณีนี้จะทำให้พรรคการเมืองที่ไม่มีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคในเขตใดจะไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้นได้ เพราะตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ระบุให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องรับฟังความเห็นจากหัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก เพื่อประกอบการพิจารณาส่งผู้สมัครด้วย พื้นที่ไหนไม่มีสาขาพรรค ไม่มีตัวแทนพรรคที่ได้รับการรับรองจาก กกต. จึงไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้

จาก 104 พรรคมีพรรคที่พร้อมจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศเพียงพรรคเดียวคือพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคอื่นที่คุยว่าจะได้ ส.ส. เท่านั้นเท่านี้เป็นแค่ลมปาก เพราะไม่สามารถส่งผู้สมัครได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่คุยโวว่าจะได้

ต้องดูว่าปัญหานี้ผู้เกี่ยวข้องจะหาทางออกกันอย่างไร เพราะด้วยเวลากระชั้นชิดพรรคการเมืองคงตั้งสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ไม่ทันเปิดรับสมัคร ส.ส. แน่ หรือหากทำทันนายทะเบียนพรรคก็อาจรับรองให้ไม่ทันครบทุกพรรค ครบทุกจังหวัด เพราะเวลามีน้อยเกินไป

เห็นกระสันอยากเลือกตั้งกัน แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่พร้อมไปเสียฉิบ

ถ้าอยากให้เกิดการแข่งขันกันของทุกพรรคอย่างเต็มที่ ทางออกเดียวที่ทำได้ตอนนี้คือใช้อำนาจพิเศษ (มาตรา44) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทะลวงข้อจำกัดนี้ด้วยการออกคำสั่งงดเว้นการบังคับใช้บางมาตราของกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อให้ทุกพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องถือว่าทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคการเมืองไม่พร้อมมาจากการปลดล็อกที่ล่าช้านั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login