วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อัปลักษณ์พิสดาร?

On January 25, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 ม.ค. 62)

วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็นเรื่องท้าทายทั้ง “ผู้คุม” คือ กกต. และ “ผู้เล่น” คือพรรคการเมือง รวมถึง “ผู้เลือก” คือประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญและกติกาที่เปลี่ยนไป ซึ่งผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากอย่างที่ผ่านมา

พรรคฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนส่วนใหญ่ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งอัปลักษณ์และพิสดาร เพื่อสืบทอดอำนาจ “ระบอบพิสดาร” โดยเฉพาะ “ส.ว.ลากตั้ง” ที่มีอำนาจเลือก “นายกฯคนนอก” และล้มรัฐบาลเลือกตั้งที่มาจากประชาชน

ขณะที่ “บัตรเลือกตั้ง” ก็หดเหลือเพียงใบเดียวภายใต้ระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ทำให้ “ผู้เล่น” และ “ผู้เลือก” งงและสับสน ส่วนพรรคการเมืองก็จะได้ ส.ส. น้อยลงและอ่อนแอลงตาม “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม”

แม้แต่ช่วงการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ก็ยังมีอำนาจเต็มในการอนุมัติงบประมาณ โครงการ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ หรือให้ “สภาลากตั้ง” พิจารณากฎหมายและแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระได้ รวมทั้งยังมีอำนาจพิเศษ “มาตรา 44” ที่อาจเกิด “อภินิหารทางกฎหมาย” ระงับและล้มการเลือกตั้งได้

อำนาจเต็มของรัฐบาลจึงถูกตั้งคำถามว่า หาก “ลุงฉุน” แอ่นอกพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ไม่ว่าจะเป็นในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือ “นายกฯคนนอก” รวมถึง 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคการเมืองที่ชื่อเหมือนนโยบายรัฐบาลและสนับสนุน “ลุงฉุน” นั้น ไม่มีความละอายเลยหรือ?

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยคำถามเรื่องความ “บริสุทธิ์ยุติธรรม” ขณะที่ประชาชนสับสนมึนงง ไม่รู้ว่าจะเลือกผู้สมัครที่ชอบ พรรคที่ชอบ หรือผู้มีบารมีมาบริหารประเทศ เพราะ “เลือก 1 ได้ถึง 3” ในบัตรใบเดียว!!

เพราะนี่คือ “รัฐธรรมนูญทหาร” ไม่ใช่ “รัฐธรรมนูญของประชาชน”!


You must be logged in to post a comment Login