วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อธิการบดี ม.รังสิต ร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่”ค้านแก้พ.ร.บ.สลาก ทำสูญเสียรายหมื่นล้าน

On January 27, 2019

วันนี้ (27ม.ค.) ดร.อาทิตย์  อุไรรัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต  เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณา โดยเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ให้ลดรายได้ของแผ่นดินปีละเกือบ10,000 ล้านบาท แต่นำไปเพิ่มให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นค่าใช้จ่ายและกำไรแก่ผู้จัดจำหน่าย ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก5% เป็นการถาวร จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.การเพิ่มค่าการตลาดและกำไรให้ผู้จำหน่าย โดยที่รัฐสูญเสียรายได้ของแผ่นดินปีละเกือบหมื่นล้านบาท ไม่มีผลที่จะหยุดการขายสลากเกินราคา 2.ข้ออ้างว่าไม่ได้ปรับเปอร์เซ็นต์ค่าการตลาดมานานหลายปีแล้ว รับฟังไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงราคาสลากกินแบ่งฯ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม10บาท มาเป็น 80 บาท แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์จะคงเดิม แต่เมื่อราคาสลากฯ แพงขึ้น 8เท่าตัว ค่าการตลาดในแต่ละใบก็ได้รับมากขึ้นถึง8 เท่าตัวด้วยอยู่แล้ว3.การเพิ่มทั้งจำนวนสลากฯจาก 37ล้านฉบับ เป็น 90 ล้านฉบับ ทำให้ค่าการจัดจำหน่ายที่สำนักงานสกลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับสูงขึ้นอย่างมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารและรัฐบาลในอนาคตสามารถผันแปรไปใช้ตามความต้องการของตน  เพราะฝ่ายนิติบัญญัติได้ไปเพิ่มรายรับไว้ให้เป็นการถาวรแล้ว

“ร่าง พ.ร.บ.ที่สนช.กำลังพิจารณาในขณะนี้ เป็นร่างที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร กำหนดประเภทและรูปแบบสลาก โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  เสมือนให้เช็คเปล่าแก่ฝ่ายบริหารไปกรอกจำนวนเงินและวันที่เอาเอง ดังที่ปรากฏในมาตรา 7 (7/1) ข้ออ้างที่ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะต้องถูกคณะรัฐมนตรีอนุมัติอีกชั้นหนึ่งก็น่าจะเป็นการถ่วงดุลแล้ว ในความเป็นจริงรัฐบาลจะให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จึงเท่ากับว่า พ.ร.บ.ที่แก้ไขครั้งนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจะยกอำนาจและขอบเขตการดำเนินงานให้ฝ่ายบริหารทั้งหมด  ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นผู้ดำเนินการผลิตและกำหนดแผนการจำหน่ายจ่ายแจกด้วยตนเอง ขาดหน่วยงานหรือองค์กรกำกับตรวจสอบและประเมินผลงาน  เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดดำเนินการเอง กำกับตรวจสอบเอง หากอนาคตประเทศได้ผู้บริหารประเทศที่ฉวยโอกาสนำเงินส่วนแบ่งรายได้ไปใช้เพื่อประโยชน์สร้างความนิยม ดังเช่นที่เคยเกิดแล้วในอดีต ก็จะเป็นปัญหาแก่ประเทศชาติและสังคม” ดร.อาทิตย์  กล่าว

ดร.อาทิตย์  กล่าวว่า นอกจากนี้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ยังได้ระบุให้ฝ่ายนิติบัญญัติยกอำนาจการจัดสรรรายรับให้เป็นดุลพินิจของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ดังปรากฏในมาตรา 7 (7/2) ที่ให้อำนาจ การกำหนดอัตราเงินที่จัดสรรเป็นรายได้แผ่นดินตามมาตรา 22(2) และค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามมาตรา 22 (3)  เป็นของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ และฝ่ายบริหารอีกด้วย และพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ได้ยกเลิกกองทุนพัฒนาสังคม ซึ่งก่อตั้งตามคำสั่งของ คสช.ที่ 11/2558  ที่นำเงินรายได้จำนวน 3% ของรายรับ มาสร้างมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปไม่ให้ติดการพนัน ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วกิจการที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้  จะถูกนำรายได้ที่ผู้บริโภคจ่ายส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาเยียวยาสังคม แต่กฏหมายฉบับนี้กลับตัดกองทุนนี้ออกไป  ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ คสช.อย่างสิ้นเชิง

ดร.อาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เทคโนโลยีระบบดิจิตอล ได้พัฒนาก้าวไกลอย่างมาก รัฐบาลและสำนักงานสลากกินแบ่งฯ น่าจะสร้างระบบแอพพลิเคชั่นที่เอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อสลาก ซื้อสลากได้โดยตรงเพื่อประหยัดค่าบริหารจัดการ ค่าพิมพ์  ค่าขนส่ง ที่มีต้นทุนสูงถึง12%และจะเพิ่มเป็น17% ของรายได้จากสลาก ซึ่งแอพพลิเคชั่นสามารถให้ผู้ซื้อเลือกเลขสลาก เหมือนกับการเลือกใบสลากที่เป็นกระดาษ เมื่อเลือกและซื้อแล้ว ใบนั้นจะหมดไป ผู้อื่นซื้อซ้ำไม่ได้ มีการระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13หลักของผู้ซื้อ ทำให้สามารถจ่ายรางวัลไม่ผิดคน และสามารถป้องกันเด็ก เยาวชน ซื้อสลากกินแบ่งฯ ได้


You must be logged in to post a comment Login