วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แทบไม่เหลือแต้มต่อ

On January 29, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 29 ม.ค. 62)

ผลการเลือกตั้งวัดกันที่คะแนนเสียง ซึ่งการจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนต้องทำให้ประชาชนรักและศรัทธา แต่ดูเหมือนว่าพรรคพลังประชารัฐที่มีรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร คสช. เป็นผู้บริหารพรรคแทบไม่เหลือแต้มต่อจากผลงานที่ทำในช่วงที่ผ่านมา เพราะหลายนโยบายหาเสียงที่ประกาศออกมาทำลายความศรัทธาทางอ้อม เนื่องจากลบล้างสิ่งที่เรียกว่าผลงานที่คุยว่าประสบความสำเร็จ เมื่อรวมกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้น การสังหารโหด การคุกคามข่มขู่นักเคลื่อนไหวการเมือง ฯลฯ ทำให้แต้มต่อของพรรคพลังประชารัฐในด้านความนิยมทางการเมืองแทบไม่เหลือ คงมีเพียงแต้มต่อทางกฎหมายและแนวร่วม ส.ว.ลากตั้ง 250 คนเท่านั้น

การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ แม้จะมีบางคนกระหยิ่มอยู่ในใจว่ามีแต้มต่อเพราะรัฐธรรมนูญนี้เขียนมาเพื่อพวกเรา แถมยังมีความใกล้ชิดกับกลุ่มถือครองอำนาจรัฐ ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งขันอยู่พอตัว

แต่จากสถานการณ์ ณ ตอนนี้บอกได้เลยว่าแต้มต่อที่เคยถืออยู่ในมือแทบไม่เหลือ ทำให้แว่วเสียงเตือนของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยทักว่ากองหนุนแทบหมดแล้ว

ถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่เปิดตัวเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ

ต่อให้สุดท้ายแล้วเปลี่ยนใจ ไม่เอาชื่อมาใส่ในบัญชีผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ปักใจเชื่อแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐเป็นพวกเดียวกัน

ความเชื่อว่าเป็นพวกเดียวกันจึงเป็นดาบสองคม

คมหนึ่งอาจให้คุณกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าแม้จะใช้กองหนุนเกือบหมดอย่างที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเคยเตือน แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คอยตะโกนเชียร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทำให้อย่างน้อยพรรคพลังประชารัฐก็จะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มนี้

เมื่อมีคมที่เป็นคุณ แน่นอนว่าย่อมมีคมที่เป็นโทษ

คมที่เป็นโทษเกิดจากการทำงานของรัฐบาลทหาร คสช. ที่แม้จะมีผลงานมากมายจนพิมพ์ออกมาอวดได้หลายหน้ากระดาษ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ส่งผลด้านลบจนกระทบไปถึงคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่หลายเรื่องแทนที่จะเป็นนโยบายเรียกคะแนนกลับกลายเป็นนโยบายทำลายความนิยมของตัวเองโดยอ้อม

ทั้งนี้เพราะหลายแนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลทหาร คสช. ประกาศว่าทำสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

ยกตัวอย่างเช่น การลงพื้นที่หาเสียงของแกนนำพรรคพลังประชารัฐในภาคอีสานบางคนประกาศนโยบายว่าคนจนต้องท้องอิ่ม ราคาข้าวต้องได้ไม่ต่ำกว่าตันละ 18,000 บาท

การพูดเช่นนี้แน่นอนว่าเป็นการพูดเพื่อหาเสียง แต่ขณะเดียวกันก็ลบล้างสิ่งที่รัฐบาลทหาร คสช. คุยไว้ว่าทำให้เศรษฐกิจดี ประชาชนกินดีอยู่ดี ทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง แม้ไม่เกี่ยวกับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เป็นการทำหน้าที่ตามปรกติของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็กระทบถึงความนิยมในพรรคพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจับยาเสพติดที่พักหลังจับได้ล็อตใหญ่เป็นจำนวนมาก หรือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนมองอย่างสงสัย พร้อมตั้งคำถามว่ากว่า 5 ปีที่บริหารประเทศมานั้น มีอะไรเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่

นี่ยังไม่นับรวมพวกเกลอเก่าหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวชักชวนประชาชนบอยคอตไม่ต่อวีซ่าให้ท่านผู้นำหลังการเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วเจ็บจี๊ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

เมื่อรวมเข้ากับกรณีการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน กับคนติดตามที่ถูกตามล่าสังหารอย่างโหดเหี้ยม การถูกคุกคามข่มขู่หลายรูปแบบที่เกิดกับนายเอกชัย หงส์กังวาน แม้รัฐบาลทหาร คสช. จะไม่เกี่ยวข้อง แต่การที่ไม่มีคำตอบให้สังคมก็ย่อมนำมาซึ่งคำถามและข้อสงสัยเป็นธรรมดา

ทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้แต้มต่อของพรรคพลังประชารัฐในด้านความนิยมทางการเมืองแทบไม่เหลือ

คงมีเพียงแต้มต่อทางกฎหมายและแนวร่วม ส.ว.ลากตั้ง 250 คนเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login