วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การเมืองหลังเลือกตั้ง

On January 30, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 30 ม.ค. 62)

การลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ไม่เพียงทำให้ภาพการเมืองในวันนี้ชัดเจนขึ้น แต่ยังสามารถมองทะลุอนาคตไปเห็นภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งได้ดีอีกด้วย เมื่อ “ลุงตู่” ประกาศชัดขอร่วมเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง แต่ไม่ลาออกจากตำแหน่ง เพราะห่วงสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ต้องอยู่เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

พลันที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อไปลุยงานการเมืองเต็มตัว ก็มีคำถามตามมา

หลายคำถามที่สังคมรอคอยคำตอบมีความชัดเจนมากขึ้น

โดยเฉพาะคำตอบจากปากของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ประเด็นแรกคือ แม้จะมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างลง 4 ตำแหน่ง แต่จะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีเอาใครเข้ามาทำงานแทน โดยจะให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงนั้นๆรับงานของ 4 รัฐมนตรีทำแทนไปพลางก่อน

ความน่าสนใจในกรณีนี้คือ การไม่ปรับคณะรัฐมนตรีเอาใครเข้ามาทำงานแทนจะดำรงอยู่ไปได้นานหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่รัฐบาลทหาร คสช. จะอยู่ในตำแหน่ง และยังมีอำนาจบริหารเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ รัฐบาลทหาร คสช. จะอยู่ในอำนาจต่อไปได้อย่างน้อยที่สุด 4 เดือน

อย่างมากที่สุดอยู่ต่อไปได้โดยไม่จำกัดเวลาหากหลังเลือกตั้งแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ อย่างที่ “ลุงตู่” บอกว่าไม่ห่วงสถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง แต่ห่วงว่าหลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นบ้างไม่รู้ และตนเองมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

4 เดือนว่านานแล้ว หากอยู่นานกว่านั้นการหาคนมาทำงานแทน 4 รัฐมนตรีย่อมมีความจำเป็น โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

ความน่าจะเป็นของการปรับหรือไม่ปรับคณะรัฐมนตรีจึงมีอยู่พอๆกัน และดูเหมือนว่าโอกาสในการปรับจะเหลื่อมกว่านิดๆ

ความน่าสนใจต่อมาคือ อนาคตทางการเมืองของ “ลุงตู่” ที่ดูเหมือนมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเลือกแนวทางเอาชื่อไปใส่ในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

ประเด็นคือเมื่อเปิดตัวเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคการเมืองจะถูกกระแสกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเหมือนกับ 4 รัฐมนตรี

แต่เรื่องนี้ “ลุงตู่” ไม่แคร์ พร้อมย้อนถามว่าถ้าออกไปใครจะทำงาน

ความไม่แคร์ของ “ลุงตู่” ทำให้เครดิตการลาออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรีเพื่อหาเสียงช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการเมืองไทย ดำรงอยู่ได้เพียงแป๊บเดียว จะอ้างว่าสร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับการเมือง ทำในสิ่งที่นักเลือกตั้งอาชีพไม่เคยทำมาก่อน ก็คงอ้างได้ไม่เต็มปากเมื่อ “ลุงตู่” ยังนั่งทับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้เห็นความสองมาตรฐานอยู่

การไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อลุยการเมืองเต็มตัว นอกจากพลาดโอกาสสร้างเครดิตความเป็นผู้นำปฏิรูปการเมืองของ “ลุงตู่” แล้ว อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจต้องย้อนไปดูคำพูดก่อนหน้านี้ที่ว่าห่วงสถานการณ์หลังเลือกตั้ง และตัวเองมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

ทำให้พอมองเห็นภาพว่าต่อให้อีกฝ่ายชนะเลือกตั้ง หากแต้มไม่ทิ้งขาดหรือรวมกันแล้วได้ไม่เกินครึ่ง โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ไม่ง่าย

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่ง่าย รัฐบาลทหาร คสช. ก็มีอำนาจเต็มในการทำงานต่อไป แถมยังรวมถึงอำนาจพิเศษมาตรา 44 ที่ยังใช้ได้ตามปรกติอีกด้วย

การลาออกของ 4 รัฐมนตรี ไม่ใช่เพียงทำให้ภาพการเมืองวันนี้มีความชัดเจนขึ้น แต่การเมืองในอีก 4 เดือนข้างหน้าก็ปรากฏเค้ารางให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน


You must be logged in to post a comment Login