วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“โคทม”แนะพรรคอันดับ1เชิญ พปชร.ร่วมรัฐบาลชี้เป็นการแชร์อำนาจที่แท้จริง

On January 30, 2019

รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในฐานะอดีต กกต. ตนไม่อยากวิจารณ์ กกต. แต่อยากให้กำลังใจ ขอให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าฟังผู้มีอำนาจมากนัก แต่ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยก่อนหน้านี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนฯร่วมกับอีก 2 มูลนิธิ ได้เชิญพรรคการเมืองมาลงนามเพื่อให้สัญญากับประชาชนว่าจะมีน้ำใจนักกีฬาในการแข่งขัน นี่จะเป็นจรรยาบรรณในการหาเสียง ซึ่งต้องใช้ประกอบกับกฎหมาย ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างข้อบังคับบางส่วนที่น่าสนใจ ซึ่งไม่มีในอดีต เช่น หัวคะแนนที่เป็นทางการ ซึ่งเรียกว่า “ผู้ช่วยหาเสียง” ที่จะมีรายได้จากผู้สมัคร ส.ส.ได้เพียง 320 บาทต่อวัน และผู้สมัคร ส.ส.จะมีผู้ช่วยฯได้วันละไม่เกิน 20 คน หากเปลี่ยนตัวก็ต้องเสนอชื่อ เปลี่ยนได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 6 คน ขณะที่ขบวนรถแห่หาเสียง มีได้วันละไม่เกิน 10 คัน และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าช่วยพรรคการเมืองหาเสียงจะผิดวินัยทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนอยากพูดมากที่สุด คือการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งหลายคนอาจหวังพึ่งคนรุ่นใหม่ แต่คนส่วนใหญ่ที่ตนคบหาเป็นคนชั้นกลางใน กทม.ซึ่งหนุนบทบาททหารในทางการเมือง ซึ่งตนก็ไม่ว่าอะไรถ้าเขาจะหนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่เมื่อดูการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งเป็นระบบสัดส่วน ซึ่งแปลว่า จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นสัดส่วนกับคะแนนนิยมของพรรค ขณะที่หัวใจของพรรคการเมืองคือนโยบาย ประชาชนควรเลือกพรรคที่มีนโยบายที่เขาให้ความสำคัญและเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง เช่นขณะนี้ หลายพรรคการเมืองเสนอเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพูดกันมานาน แต่ไม่เคยเปลี่ยนได้ เพราะเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกระจายอำนาจ ความปรองดอง และความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ทั้งนี้ ตนมองว่า ภาพอนาคตที่อยู่ในความคาดหวังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาอาจดูรูปแบบการรัฐประหารในอดีต เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 11 ปี เมื่อร่างเสร็จก็เลือกตั้ง พอเลือกตั้งแล้วไม่ถูกใจก็รัฐประหาร หรือการรัฐประหาร 2519, 2534, 2549 ที่เชื่อกันว่าเมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แล้วจะทำให้ผลเลือกตั้งเป็นไปตามที่หวัง แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บอกแล้วว่าผลออกมากลับไม่ใช่อย่างนั้น เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2557 ที่บอกว่าจะอยู่ไม่นาน แต่ก็เปลี่ยนใจระหว่างทาง

“แผนของเขาคือ แผน 13 ปี รัฐบาลปัจจุบันอยู่ประมาณ 5 ปีเศษ หลังจากนั้น 4 ปี ส.ว.ชุดเดิม กติกาเดิม ก็น่าจะได้นายกฯคนเดิม นี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่คือการยึดกุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ท่านตั้งพรรคที่ไม่มีชื่อ ให้มีเสียงในรัฐสภา ซึ่งคือ ส.ว. นี่เป็นการยึดอำนาจแบบละมุนละม่อมผ่านอำนาจทางนิติบัญญัติ แต่จะเป็นอย่างที่หวังหรือไม่ ผมไม่ทราบ” รศ.โคทมกล่าว

รศ.โคทมกล่าวว่า ข้อเสนอของตนสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ 1.เคารพหลักการ พรรคการเมืองต้องมี ส.ส.เกิน 250 คน จึงจะมีสิทธิเลือกนายกฯ 2.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แปลว่า คนที่เป็นนายกฯควรต้องเป็น ส.ส. 3.ต้องเอานโยบายของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่มีเสียงเกิน 250 เสียง มาใช้ประโยชน์ทั้งหมด จึงจะเป็นการเคารพเสียงของประชาชน 4.ในทางปฏิบัติ ให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 เชิญพรรค พปชร.มาคุยก่อน พยายามให้มาร่วมรัฐบาล เพราะพรรคอันดับ 1 มีอำนาจมหาศาลอยู่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นการแบ่งปันอำนาจอย่างแท้จริง เหมาะสมกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้บ้านเมืองสงบ มีเสถียรภาพ หากเสียงไม่พอ ก็ดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลได้ และขอว่าอย่าบริหารแบบเดิม อย่าต่อรองตำแหน่ง มิเช่นนั้น จะเป็นไปตามคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่บอกว่าบาปประการหนึ่งคือการเมืองที่ไม่มีหลักการ ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนอย่ายกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียทั้งหมด เพราะอนาคตอยู่ในมือของทุกคน


You must be logged in to post a comment Login