วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พร้อมหรือยังSystem Integrator ยุคดิจิทัลและ AI?

On January 31, 2019

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาิชย์ รายงาน แนวโน้มการใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมการผลิตส่งผลให้ธุรกิจที่ให้บริการด้านการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีให้กับองค์กรต่างๆ หรือ System Integrator (SI) มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงระหว่างปี 2019 – 2023 มูลค่าตลาดของธุรกิจ SI ที่จะได้รับจากโครงการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปสูงสุดราว 45,000 ล้านบาท จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการใช้ AI ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพอย่าง ปิโตรเคมีและเครื่องดื่ม ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการ ผู้ให้บริการด้าน SI ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI อย่างต่ำราว 500 บริษัทในปี 2023

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ให้บริการด้าน SI ของไทยยังมีความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างรายได้ที่มีการพึ่งพารายได้หลักจากงานโครงการ ที่มีความไม่แน่นอนและแข่งขันสูง รวมถึงอำนาจต่อรองกับเจ้าของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างต่ำหากจำเป็นต้องมีการแก้ไขระบบเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการเดิมของลูกค้า หรือแม้แต่ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้าน data science และ AI ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

อีไอซี มองว่า การยกระดับผู้ให้บริการด้าน SI ของไทยให้มีความสามารถเทียบเคียงกับระดับสากล เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องอาศัยเวลา ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจแล้ว ผู้ให้บริการควรพิจารณาความร่วมมือกับผู้ให้บริการในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบ platform partner หรือ subcontractor เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือในการพัฒนาระบบ AI และ platform ต่างๆ รวมไปถึงควรพิจารณาเพิ่มโอกาสในการหารายได้จากบริการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การพัฒนาโปรแกรมสำหรับควบคุมระบบโรงงาน และ data center เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากบริการหลังการติดตั้ง อีกทั้งลดการพึ่งพารายได้จากงานโครงการที่มีความไม่แน่นอน

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) คือเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากคนทั่วโลก กำลังเข้ามามีบทบาทและส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยในโรงงาน โดยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI (AI application1) ที่น่าสนใจหลากหลายด้านเช่น AI-enhanced predictive maintenance, Digital twin, AI-enhanced supply chain management และ human-robot collaborative ทั้งนี้การพัฒนาหรือนำ AI มาประยุกต์ใช้ในโรงงานที่เห็นโดยทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

1. การพัฒนาระบบ AI และ AI application ขึ้นมาเองเพื่อใช้ในโรงงานของตน รูปแบบนี้จะพบเห็นได้ในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Siemens, General Electric และ Hitachi เป็นต้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีหน่วยเฉพาะด้าน IT จึงสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้

2. การประยุกต์ใช้ระบบ AI และ AI application ซึ่งรูปแบบนี้จะเหมาะกับองค์กรหรือโรงงานที่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาระบบ AI ขึ้นมาเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีหน่วยงานเฉพาะด้าน IT ภายในจึงจำเป็นต้องพึ่งพาระบบ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจากบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการสื่อสารหรือเชื่อมต่อระบบระหว่างเครื่องจักรเดิมของโรงงานและเทคโนโลยี AI ที่นำมาใช้ ทำให้จำเป็นต้องใช้บริการจากหน่วยงานที่ให้บริการด้านการเชื่อมต่อระบบและเทคโนโลยีต่าง หรือ System Integrator (SI) เข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาดังกล่าว

สำหรับในไทยเนื่องจากเราไม่ใช่ผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน IT การประยุกต์ใช้ระบบ AI ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบที่ 2 จึงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการพัฒนาระบบ AI ของตนเองมาใช้ ส่งผลให้ SI เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย


You must be logged in to post a comment Login