- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ไม่มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มีแต่..ชงเอง กินเอง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 1-8 กุมภาพันธ์ 2562)
การยื่นใบลาออกของ 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 29 มกราคมคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและรองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และเลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรค ไม่ได้สร้างความประหลาดใจนัก เพราะทั้ง 4 คนถูกกดดันให้ลาออกนานแล้ว
นายสนธิรัตน์บอกว่า การลาออกมาเล่นการเมืองเต็มตัวยังไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดลาออกหลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ ซึ่งพวกตนรับแรงกดดันด้วยความอดทน เพราะส่วนใหญ่เป็นคำวิจารณ์ทางการเมืองที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการ “เราไม่ใช้ความได้เปรียบทางการเมืองมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง”
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีเสียงเรียกร้องให้ลาออกหากรับเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายอุตตมบอกว่าจะประกาศบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคภายในวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ แม้จะมีกระแสข่าวว่าอาจประกาศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ก็ตาม
ประเด็นสำคัญไม่ว่าจะเลือกเข้าสู่การเมืองเต็มตัวในฐานะนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ หรือรอเสียบ “นายกฯคนนอก” พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจเต็มในฐานะรัฐบาลทหาร รวมถึงมาตรา 44 ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการอย่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แบะท่านายกฯบัญชีรายชื่อพรรค
พล.อ.ประยุทธ์พูดชัดเจนถึงการตัดสินใจทางการเมือง (29 มกราคม) หลังการประชุม ครม. ว่า ถ้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อก็จะอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และจะไม่ลาออกทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่ก็จะต้องระมัดระวังตัวเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขั้นแรกแล้ว ดูนโยบายต่างๆว่าจะมีปัญหากับการเป็นนายกฯหรือไม่
“ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯคนในคนนอกวุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ”
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ว่า “คสช. เขาต้องอยู่ถึงเมื่อไร อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ เมื่อรู้แล้วก็ตามนั้น อย่ามาถามซ้ำ ส่วนการหารือกับฝ่ายกฎหมายและ กกต. เดี๋ยวเขาก็จะหารือในวันนี้พรุ่งนี้ จะรีบร้อนไปไหน”
บรรทัดฐานระบอบเผด็จการ
การกดดันให้ 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันไม่ลาออก เป็นคนละเรื่องคนละมาตรฐานกับที่นายสนธิรัตน์อวดอ้างว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่บอกว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” ให้ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน มีอำนาจเลือกนายกฯคนนอกและควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ต้องทำตามกรอบที่ คสช. กำหนดไว้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึง 4 รัฐมนตรีลาออกว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะลดความเสี่ยงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะการมีอำนาจในรัฐบาลสามารถให้คุณให้โทษกับผู้อื่นได้ แม้ความจริงทั้ง 4 คนไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งก็ได้หากรัฐบาล คสช. ดำรงสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้งเหมือนรัฐบาลปรกติ
นายจาตุรนต์ยังกล่าวว่า หากพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯในบัญชีของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจเต็มและสามารถสร้างความได้เปรียบหรือเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐได้ แค่ชื่อพรรคคล้ายนโยบายของรัฐบาล คสช. ก็ถือว่าเป็นการเอาเปรียบมาตั้งแต่ต้น และจะยังอยู่ในสถานะได้เปรียบต่อไป พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งหรือเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งหลักประกันที่จะยอมรับได้คือเป็นรัฐบาลรักษาการเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งก็ต้องแสดงออกว่าจะดำรงตำแหน่งอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม เช่น ในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งที่ผ่านมาเคยใช้อำนาจปลดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอนุญาตให้แบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น หากประสงค์จะเข้าสู่การเลือกตั้งต้องทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะไม่มีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงต้องยอมรับกติกา วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากหัวหน้า คสช. หรือไม่ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์เอง
“อาทิตย์” คว่ำบาตร “ลุงตู่-พปชร.”
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อ้างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ลาออกทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เท่ากับไม่สนเสียงครหานินทาเรื่องความสง่างามทางการเมือง ซึ่งต้องเชื่อมั่นว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อแน่นอน เพราะระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนที่ “เนติบริกร” คิดค้นขึ้นมาแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะชนะเสียงข้างมากหรือมากกว่า 200 เสียงขึ้นไป
หากพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก หรือพรรคการเมืองใหญ่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็หมายความว่าการเลือกตั้งจะต้องพลิกล็อกแบบถล่มทลาย คือประชาชนรวมพลังไม่เอาพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยก 8 เหตุผลที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีก เพราะไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ เอื้อผลประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ ทั้งยังใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคการเมืองฝ่ายตน ล่าสุดโลกออนไลน์ก็ร้อนระอุอีกครั้งเมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ โพสต์เฟซบุ๊ค Arthit Ourairat ข้อความสั้นๆ 2 ครั้ง (27 มกราคม) ว่า “ขอเรียกร้องเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้รักชาติ พระมหากษัตริย์ และประชาชนทั้งหลายคว่ำบาตรพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์ในการเลือกตั้ง” และ “กเฬวรากพรรคการเมืองของมาเฟียและทาสรับใช้นายทุน เพื่อแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน”
ดร.อาทิตย์ยังโพสต์เฟซบุ๊ค (26 มกราคม) ระบุว่า “5 ปีแห่งความทุกข์ระทมของประชาชน 5 ปีแห่งความหายนะของชาติบ้านเมือง” โดยออกตัวว่า ผมไม่ได้เขียนเอง ผมไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่อ่านแล้วจริงทุกเรื่อง บอกได้คำเดียวว่าหนักกว่านักการเมืองอาชีพ ชาตินี้คงจะหาผู้นำที่สร้างความบรรลัยให้ชาติบ้านเมืองมากเท่า “ลุง” คนนี้ไม่มีอีกแล้ว โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัวและนายทุนน่าเกลียดจริงๆ
-ที่ดินรถไฟมักกะสัน ปอดของกรุงเทพฯที่ ร.5 ท่านประทานไว้เป็นสาธารณประโยชน์กับคนไทย ก็ใส่พานประเคนให้เจ้าสัว (…)
-ยกที่ดินยาสูบให้นายทุนไปทำอสังหาฯ และยังปรับภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไทย ทำให้บุหรี่ไทยแพงขึ้นเทียบเท่าบุหรี่นอก คนก็เลยหันไปสูบบุหรี่นอก ทำให้โรงงานยาสูบที่เคยกำไรหมื่นล้านกลายเป็นขาดทุนหลายพันล้าน
-ให้เจ้าสัว (…) ต่อสัญญาเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยไม่ต้องประมูลแข่งขัน และแก้ไขสัญญาเช่าจาก 25 ปี เป็น 50 ปี
-ให้ต่างชาติ+นายทุนเช่าที่รัฐ 99 ปี ประชาชนไม่เห็นด้วยก็เปลี่ยนเป็นให้เช่า 50 ปี ต่อสัญญาได้อีก 49 ปี สรุปคือให้เช่า 99 ปี
-เดินหน้าโครงการเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด (นิคมอุตสาหกรรม) บางพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บางพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นิคมอุตสาหกรรมสกปรกอันตรายแค่ไหนก็ดูมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง
สารพัดค่าโง่
-ยกที่สาธารณะ ที่ป่า รวมถึงไล่ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านไปยกให้นายทุนทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ
-ให้ต่างชาติซื้อที่ดินใน 13 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ไม่อั้น
-โครงการ EEC เอื้อประโยชน์สุดๆให้ต่างชาติและนายทุน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี/ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ต่ำสุดในอาเซียน/ ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ/ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัย/ อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน/ ให้สิทธิการเช่าที่ดินรัฐถึง 50 ปี และสามารถพิจารณาต่ออายุอีก 49 ปี/ วีซ่าทำงาน 5 ปี
-มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรี ใช้เงินภาษีประชาชนสร้าง 1.4 แสนล้าน แต่ไม่มีปัญญาทำด่านเก็บเงิน ต้องให้เอกชนมาสัมปทานเป็นผู้ทำด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างให้เอกชนปีละ 2,000 ล้าน สัญญา 30 ปี รวยแบบง่ายๆไม่ต้องมีความเสี่ยงใดๆ
-ดึงโครงการทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์และบางนา-ชลบุรีเข้ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เอื้อประโยชน์ให้นายทุนรวย
-ค่าโง่คลองด่านคดียังไม่สิ้นสุด แต่รีบจ่ายงวดแรกไป สุดท้ายศาลตัดสินว่าไม่ต้องจ่ายค่าโง่ แต่ค่าโง่งวดแรกที่จ่ายไปก็ไม่ยอมทวงคืน
-ส่อแววล้มมวยเรื่องค่าโง่เหมืองทองคำที่ถูกบริษัทคิงส์เกตจากออสเตรเลียฟ้องร้อง เพราะคิงส์เกตเคยติดสินบนรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและข้าราชการระดับสูงของไทยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จำนวน 3,000 ล้าน โดยตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียส่งหลักฐานการโอนเงินมาให้ กลต.ไทย และได้ส่งต่อมาให้ ป.ป.ช. อีกทีในปี 2558 แทนที่รัฐบาลจะเร่งรีบตรวจสอบเอาผิดเพื่อนำมาใช้ต่อสู้คดีถูกฟ้องเรียกค่าโง่ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ กลับดองเรื่องเงียบ ไม่เคยพูดถึงสักแอะ ส่อเจตนาจริงๆ
-เบื้องหน้าสั่งปิดเหมืองทอง แต่เบื้องหลังยังเดินหน้า มีการไล่ยึดที่ดินชาวบ้านไปยกให้นายทุนทำเหมืองทอง
-เอาเงินสำรองระหว่างประเทศไปเล่นหุ้น
-ข้าวดีตีเป็นข้าวเสื่อมราคาแล้วขายถูกเอื้อประโยชน์นายทุน
-ขายเหมาเข่ง 11 รัฐวิสาหกิจสมบัติของชาติ โดยใช้แผนตบตาคนไทยด้วยการตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจ อ้างให้รัฐดูแล แต่เปิดทางให้นายทุนเข้ามาถือครอง
ไล่ยึดที่ดินชาวบ้าน
-ปลดล็อกผังเมืองเอื้อนายทุน โครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม-ชุมชนไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
-ผ่าน พ.ร.บ.แร่เอื้อนายทุน ทีนี้ประทานบัตรเหมืองแร่ไปทับที่ดินชาวบ้านคนไหน เจ้าของที่ดินก็จะกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินตนเอง
-ไล่ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านที่อยู่ทำกินมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเพื่อไปยกให้นายทุนทำเหมืองแร่ ชาวบ้านคนไหนไม่ยอมก็ฟ้องเอา มีติดคุกไปหลายราย ผู้สูงวัยทั้งนั้น
-เดินหน้ายัดเยียดเหมืองโปแตชทำลายเกษตรกรรมที่ภาคอีสานเอื้อนายทุน
-ยัดเยียดการสร้างเขื่อนวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช และแอบอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 เพื่อให้ประชาชนยอมรับ ทั้งที่ในหลวงไม่เคยยัดเยียดโครงการใดๆถ้าหากประชาชนไม่ต้องการ (โครงการนี้มีประชาชนทูลขอพระราชทาน ในหลวงท่านจึงได้ให้หน่วยงานรับผิดชอบไปศึกษาโครงการ แต่สรุปแล้วไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ และยังไปทำลายป่าลุ่มน้ำชั้น 1 โครงการจึงล้มเลิกไป แต่ถูกดันโครงการอีกครั้งในรัฐบาลนี้และยังมีการแอบอ้างว่าเป็นโครงการของในหลวง
-เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกหลายจังหวัดเอื้อประโยชน์นายทุนเหมืองถ่านหิน ทั้งที่ทั่วโลกทยอยยกเลิก เพราะสกปรก มีมลพิษ อันตราย
พลังงานฉาวแล้วฉาวอีก
-ยัดเยียดการขุดเจาะปิโตรเลียมที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด จ.ขอนแก่น เอื้อนายทุนบริษัทน้ำมัน มีชาวบ้านคัดค้านก็ส่งฝ่ายปกครองไปข่มขู่ให้ยินยอม
-เชฟรอนโกงภาษี 3,000 ล้าน แทนที่จะไล่กลับอเมริกา กลับใจดีต่อสัมปทานให้แหล่งทานตะวันในอ่าวไทยของเชฟรอนไปอีก 10 ปี ที่สุดอุบาทว์คือ คิดค่าลงนามต่ออายุสัมปทานแค่ 15 ล้านบาท และส่วนแบ่งจากการขายเพียง 1% จากมูลค่าปิโตรเลียมของแหล่งนี้ 3-5 แสนล้านบาท (แหล่งนี้ขุดน้ำมันดิบมูลค่า 40 ล้านบาท/วัน ขุดวันเดียวก็ได้เงินมากกว่าที่จ่ายค่าลงนามต่อสัญญากับรัฐกว่าเท่าตัวแล้ว และแหล่งนี้ยังมีก๊าซธรรมชาติอีกมาก)
-เชฟรอนเจตนาสำแดงใบขนน้ำมันปลอดภาษีเท็จซ้ำซาก ผิดกฎหมายอาญาแผ่นดิน ก็อุ้ม ไม่เอาผิด และยังให้ร่วมประมูลสัมปทาน
-ส่วนกรณีนี้ยิ่งหนัก 7 บริษัทน้ำมันทำผิดกฎหมาย ลักลอบขุดน้ำมันในที่ ส.ป.ก. ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้เลิกขุด แต่นอกจาก คสช. จะไม่เอาผิดแล้ว ยังใช้ ม.44 ล้างผิดให้ และแก้กฎหมาย ส.ป.ก. อนุญาตให้เอกชนขุดน้ำมันในที่ ส.ป.ก. ต่อไปได้ ขนาดคำสั่งศาลยังไร้ความหมาย แล้วบ้านนี้เมืองนี้จะอยู่กันอย่างไร
-มีก๊าซ มีน้ำมันเต็มแผ่นดิน แทนที่จะขุดเองเพื่อให้รายได้เข้ารัฐเต็มๆ ไม่ต้องไปแบ่งให้ใคร ก็ไปแจกสัมปทานให้ต่างชาติรวย
-แจกสัมปทานปิโตรเลียมโดยเลือกระบบที่รัฐเสียประโยชน์ ระบบจ้างผลิตที่รัฐได้ประโยชน์ 80-90% ไม่เอา แต่เลือกระบบ PSC (จำแลง) ที่ได้ส่วนแบ่งแค่ 30%
-แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้ไทยตกเป็นทาสบริษัทน้ำมันต่างชาติหนักข้อขึ้นกว่าเดิม
-แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ลดการจัดเก็บภาษีรายได้จากบริษัทน้ำมันผู้สัมปทาน จากเดิมเก็บอยู่ 50% ก็ลดเหลือ 20%
-ก่อน คสช. เข้ามา เก็บภาษีรายได้จากผู้สัมปทานปิโตรเลียมได้ราว 1 แสนล้านบาท/ปี ปัจจุบันเก็บแค่ไม่ถึง 4 หมื่นล้านบาท/ปี
-ขูดรีดภาษีน้ำมันประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตกว่าทุกรัฐบาล
-ก่อน คสช. เข้ามา เก็บภาษีน้ำมันประชาชนอยู่ราว 6 หมื่นล้านบาท/ปี ปัจจุบันเก็บ 2.2 แสนล้านบาท/ปี
-ขึ้นราคาก๊าซ LPG อย่างบ้าคลั่ง ขึ้นมากที่สุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านๆมาชนิดทิ้งไม่เห็นฝุ่น
-ขึ้นลงราคาน้ำมันไม่เป็นธรรมกับประชาชน ตลาดโลกขึ้น น้ำมันไทยรีบขึ้นราคาตาม ตลาดโลกลดลง น้ำมันไทยไม่ค่อยจะลงตาม และหลายครั้งขึ้นราคาสวนทางตลาดโลกแบบหน้าด้านๆ และตอนขึ้น 50 สตางค์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนลง 20-40 สตางค์เป็นส่วนใหญ่ ขึ้นลงลักษณะนี้จนประชาชนด่าจนหมดคำด่าไปแล้ว
-แยกธุรกิจค้าน้ำมันออกจาก ปตท. ไปยกให้นายทุน
-ขายหุ้นโรงกลั่นบางจากที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ให้กลุ่มทุน
-ขายหุ้นโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม (SPRC) ที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ให้นายทุน
-ปตท. โกงท่อก๊าซก็ไม่ยอมทวงคืน
-แยกท่อก๊าซออกจาก ปตท. ไปให้นายทุน
-อุ้มธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. ด้วยการยกเลิกเก็บเงินภาคปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งที่เดิมเขาก็จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยกว่าประชาชนอยู่แล้ว ทำให้ทุกวันนี้ภาคปิโตรเคมีไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันสักบาท ทั้งที่ใช้ก๊าซ LPG มากกว่าใคร ใช้มากกว่าภาคครัวเรือนที่คนไทยใช้หุงต้มกันทั้งประเทศอีก
ยอมเป็นเบี้ยล่างเขมร
-เขมรบุกยึดที่นาคนไทยที่บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว ก็ไม่ขับไล่ออกไป แถมให้คนของรัฐไปกล่อมชาวบ้านให้แบ่งที่ให้เขมร อ้างเพื่อความสัมพันธ์ (น่าจับไปตัดคอทิ้งจริงๆ)
-ปล่อยเขมรสร้างอนุสาวรีย์บนพื้นที่ทับซ้อนที่ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ละเมิดข้อตกลงไทย-เขมรที่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ทับซ้อน
-ปล่อยเขมรเอาหลักเขตมาปักบนปราสาทตาเมือน จ.สุรินทร์ คนไทยรักชาติจะถอนออกก็สั่งทหารใหญ่ที่ดูแลให้ล้อมลวดหนามเอาไว้ไม่ให้ถอนออก
-ปล่อยเขมรสร้างกาสิโนล้ำแดนที่ด่านช่องสายตะกู บุรีรัมย์ คุณวีระ สมความคิด จะไปตรวจสอบก็ถูกข่มขู่
-MOU43 เขียนสมัยชวน หลีกภัย รองรับแผนที่เขมร จะทำให้ไทยเสียดินแดนบนบกในหลายพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทย-เขมร และ MOU44 ที่เขียนสมัยทักษิณ ชินวัตร ไปรองรับไหล่ทวีปเขมร จะทำให้ไทยเสียพื้นที่ทางทะเลในบริเวณเกาะกูดที่มีน้ำมัน คสช. ก็กอดไว้เหนียวแน่น ไม่ยอมยกเลิก
-ปล่อยเขมรบุกยึดดินแดนอย่างง่ายดายในหลายพื้นที่ ไม่คิดปกป้องอธิปไตย แต่ช็อปอาวุธกระจาย ทั้งรถถัง เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ
แอบอ้างเบื้องบน
-ในหลวงเคยรับสั่งว่าทะเลบ้านเราตื้น ไม่เหมาะกับการมีเรือดำน้ำ แต่ลุงซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล้านหน้าตาเฉย ไม่เห็นในหลวงอยู่ในสายตา
-อ้างศาสตร์พระราชา อ้างเศรษฐกิจพอเพียง แอบอ้างในหลวง โหนพระองค์ท่านเรียกคะแนนนิยมให้ตัวเอง แต่ทำตรงข้าม ทั้งอุ้มทุน ทั้งใช้จ่ายเกินตัว ฟาดแต่เมกะโปรเจกต์วงเงินสูงๆ สร้างหนี้มากมายมหาศาล
รัฐธรรมนูญเปิดทางขายชาติ
-เขียนรัฐธรรมนูญเปิดทางขายชาติให้ทางสะดวก ม.190 เดิม เรื่องหนังสือสัญญา การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ที่ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยพยายามแก้ไขเพื่อให้ผ่านสภาง่ายๆ โดยเรื่องที่จ้องกันตาเป็นมันก็คือเรื่องของการตกลงแบ่งผลประโยชน์พลังงานบนพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยกับเขมร แต่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยแก้ไม่สำเร็จ เพราะถูกประชาชนรู้ทันคัดค้าน แต่สุดท้ายก็มาสำเร็จด้วยฝีมือลุงตู่ เพราะไปหลอกคนไทยว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง และห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ โดยโยกไปแก้ที่ ม.178 เพื่อหลบหลีกสายตาคนไทย
-เขียนรัฐธรรมนูญ ม.146 ลิดรอนอำนาจพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่ร่างพระราชบัญญัติใดๆ ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อครบ 90 วันแล้วยังไม่พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ก็แก้ไขเป็นว่า ถ้าเสียง 2 ใน 3 ของสภาเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินั้น ให้นายกฯนำร่างพระราชบัญญัติทูลเกล้าฯอีกครั้ง ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือไม่พระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ก็ให้นายกฯนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศใช้ได้เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (หลังรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติและได้นำทูลเกล้าฯ ก็ได้มีการตีกลับให้ไปแก้ไขในหมวดอำนาจพระมหากษัตริย์ ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับมาตรานี้หรือเปล่า เพราะนายกฯปิดปากเงียบ)
ฯลฯ
ดร.อาทิตย์สรุปท้ายว่า “ทุกเรื่องที่ว่าไปมาจากสื่อหลักๆ ผมเคยทำโพสต์และแชร์ออกไปแล้วทั้งนั้น นี่แค่เท่าที่จำได้นะ หรือถ้าใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็มาบอกไว้ในคอมเมนต์ได้ ผมจะนำมาใส่เพิ่มเติม”
ดัชนีโกงไทยรูดลงจาก 96 ไป 99
ข้อความของ ดร.อาทิตย์ที่โพสต์เฟซบุ๊คสอดคล้องกับผลการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index – CPI) ประจำปี 2018 (2561) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) ซึ่งเว็บไซต์บีบีซีไทยรายงาน (29 มกราคม) ปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถูกลดอันดับลงจากอันดับที่ 96 เมื่อปี 2560 ซึ่งได้คะแนน 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 ขณะที่ในปี 2559 ได้คะแนน 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
จากการวิเคราะห์ของ TI พบว่า ยิ่งมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากเท่าใดก็ยิ่งก่อให้เกิดวิกฤตทางประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศที่โน้มเอียงไปในแนวทางของการมีผู้นำเผด็จการหรือประชานิยม
แพทริเซีย โมเรียรา ผู้อำนวยการทั่วไปของ TI ระบุว่า “คอร์รัปชันเป็นตัวทำลายประชาธิปไตยและนำไปสู่วงจรอุบาทว์ คอร์รัปชันบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย และเมื่อสถาบันมีความอ่อนแอก็ไม่สามารถจัดการกับคอร์รัปชันได้”
ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลกในปีที่แล้วชี้ว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆทั่วโลกทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 คะแนน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นได้ 36 คะแนน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43
จากการวิเคราะห์ของ TI ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันและความเป็นประชาธิปไตย โดยประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่จะทำคะแนน CPI ได้เฉลี่ยประมาณ 75 คะแนน ส่วนประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำจะทำคะแนนได้เฉลี่ยประมาณ 49 คะแนน และประเทศที่มีการปกครองแบบผสมโดยมีแนวโน้มไปทางเผด็จการมีคะแนนเฉลี่ยราว 35 ขณะที่ประเทศที่เป็นเผด็จการมีคะแนนต่ำที่สุดคือเฉลี่ยราว 30
ป.ป.ช. ชี้คะแนนลดจาก 3 ปัจจัย
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงคะแนนที่ TI จัดอันดับประเทศไทยว่า พิจารณาข้อมูลจาก 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง ได้แก่ 1.ด้านพัฒนาการจัดการสถาบันระหว่างประเทศ 2.ด้านการให้คำปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ 3.ด้านความหลากหลายของโครงการประชาธิปไตย ซึ่งพิจารณาจากการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
นายวรวิทย์กล่าวถึงคะแนนที่ลดลงว่า น่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทำให้การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน
เรทติ้ง “ทั่นผู้นำ-รัฐบาลทหาร”
แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ถูกมองว่าเข้มงวดจนเกินไปแม้แต่เรื่องหยุมหยิมเล็กๆน้อยๆ ทำให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้จำกัด ซึ่งแต่ละพรรคต้องเสนอนโยบายให้เข้าถึงและถูกใจประชาชนให้มากที่สุด โดยพรรคพลังประชารัฐถือว่าได้เปรียบที่สุด เพราะชื่อพรรคที่เหมือนนโยบายรัฐบาลและกรอกหูประชาชนผ่านทุกสื่อทุกวันมานานเป็นปี แต่จะถูกใจประชาชนหรือไม่ หรือจะเหมือนรายการคืนวันศุกร์ของ “ทั่นผู้นำ” ที่เรทติ้งต่ำติดพื้นหรือไม่ ประชาชนจะให้คำตอบในวันเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับผลงานรัฐบาล คสช. ที่อ้างว่ากว่า 4 ปีมีมากมาย และจะแถลงผลงานปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2560-12 กันยายน 2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์จะแถลงด้วยตัวเองวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทั้งจะจัดทำเป็นรูปเล่มจำนวน 421 หน้า เสนอ สนช. และจัดทำเป็นฉบับย่อแจกจ่ายประชาชน เนื้อหาแบ่งเป็น 6 ด้านคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะปรับรูปแบบรายการคืนวันศุกร์ใหม่อีกครั้ง โดยจะใช้เวลาพูดเพียง 7 นาที จากนั้นนำจุดแข็งด้านต่างๆมานำเสนอผ่านวิดีทัศน์อีก 7 นาที เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการต่างๆที่รัฐบาลได้ทำ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย เนื้อหารายการจะกระชับและสั้นไม่เกิน 25 นาที ปัญหาคือ “ทั่นผู้นำ” ยอมรับหรือไม่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ดูรายการคืนวันศุกร์เพราะอะไร ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” ก็เคยเปรยว่าท้อแท้ที่คนไม่ฟัง เช่นเดียวกับรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่ประชาชนปิดทีวีหนี
“มช.โพล” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดือนกันยายน 2561 ในรอบ 3 เดือนว่าดูรายการคืนความสุขของ คสช. มากน้อยเพียงใด พบว่าดูมากที่สุด (10-12 ครั้ง) ร้อยละ 0.9 มาก (7-9 ครั้ง) ร้อยละ 3.8 ปานกลาง (4-6 ครั้ง) ร้อยละ 9.9 น้อย (1-3 ครั้ง) ร้อยละ 33.4 และไม่เคยดูสักครั้ง ร้อยละ 51.7
สวนดุสิตโพลสำรวจเดือนพฤษภาคม 2561 ดูรายการคืนความสุขทุกวันศุกร์ พบว่า 72.7% ไม่ติดตาม/ติดตามน้อย มีเพียง 27.3% ที่ติดตาม ส่วนผลงานของรัฐบาลในรอบ 4 ปี พบว่า 70.6% เห็นว่าแย่/แย่มาก และ 29.4% เห็นว่าดี/ดีเยี่ยม
สู้ด้วยนโยบายและผลงาน
การแถลงผลงานรัฐบาล คสช. จะ 1 ปีหรือ 4 ปี จึงไม่ต่างกับรายการทุกคืนวันศุกร์ของ “ทั่นผู้นำ” และรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่มีคำถามว่าประชาชนจะฟังและเชื่อหรือไม่ ยิ่งเปรียบเทียบกับนโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคที่หาเสียงขณะนี้จะเห็นชัดเจนถึงความแตกต่างซึ่งประชาชนเข้าใจง่ายและจับต้องได้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล (25 มกราคม) ว่า ที่ผ่านมามีผลงานที่รัฐบาลทำออกมามากมาย ยิ่งปีสุดท้ายเป็นปีที่รัฐบาลพยายามเก็บงาน หลายเรื่องเหมือนกับการตัดชุดวิวาห์ ต้องใช้เวลาในการตัดเย็บ ดีไซน์ การชุน และสุดท้ายจะเห็นผลในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนแต่งงาน
ผลงานรัฐบาล คสช. ที่บอกว่ามีมากมาย ก็มีคำถามว่าผลงานอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม หรือการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม รวมถึงนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐประกาศก็มีคำถามว่าทำไมกว่า 4 ปีรัฐบาล คสช. ไม่ทำ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาล คสช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดว่าล้มเหลวสิ้นเชิง
อย่างที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ โพสต์ว่าเป็น “5 ปีแห่งความทุกข์ระทมของประชาชน และ 5 ปีแห่งความหายนะของชาติบ้านเมือง” และนายจาตุรนต์ ฉายแสง ถามประชาชนกับ 10 ปัญหาประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. คือ 1.เศรษฐกิจเติบโตช้า 2.เกษตรกรยากจน/ประชาชนรายได้ตกต่ำ 3.หนี้ครัวเรือนเพิ่ม 4.รวยกระจุก จนกระจาย 5.ส่งออกต่ำ/ท่องเที่ยวลด 6.สังคมเหลื่อมล้ำ 7.ยาเสพติดเกลื่อนเมือง 8.คอร์รัปชันสูง 9.การศึกษาล้าหลัง และ 10.มลภาวะในเมืองใหญ่
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย 5 พลังปลุกเศรษฐกิจให้คืนกลับมา หมดเวลารัฐบาลทหาร และเพิ่ม 3 ด้านแข็งแกร่งได้เวลาคนไทยกระเป๋าตุง ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ประกาศผลักดัน 6 ยุทธศาสตร์สู่ไทยยั่งยืน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายเศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่ ประกันรายได้คนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตั้งกองทุนน้ำ-ประกันรายได้เกษตรกรและแรงงานขั้นต่ำ ข้าวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท และราคายางไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศเปลี่ยนแปลงประเทศไทยและหยุดยั้งการปฏิวัติรัฐประหาร โดยสิ่งแรกที่จะทำหากมีอำนาจคือ รื้อรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร และปฏิรูปกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ โดยยืนยันว่าการเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดและต้องทำด้วย
ไทยรักษาชาติชู “เทคซิโนมิกส์”
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เปิดนโยบายพรรคว่า คือการหลอมรวมคนที่มีประสบการณ์และคนรุ่นใหม่ เป็นเบ้าหลอมที่มีรากฐานมาจากพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต พรรคไทยรักไทยที่มีหัวใจคือ “ประชาชน” ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวทันโลกด้วยปรัชญา “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ประชาชนจะกลับมามีกำลังซื้อ เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ผู้ประกอบการเข้มแข็ง ชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ “เราทำได้ ทำมาแล้ว และจะขอทำต่อ” โดยจะใช้วิธีคิดแบบ “เทคซิโนมิกส์” (Techsynomics คือ Technology sync Economics) สร้างโอกาสใหม่ด้วยระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาต่อยอดเศรษฐกิจทั้งระดับบนและระดับล่าง เพื่อสร้างโอกาสและทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น
สร้าง 5 โอกาสใหม่ให้กับคนตัวเล็กๆคือ 1.โอกาสใหม่ของภาคการเกษตร ให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” ผ่านระบบ E-Commerce 2.โอกาสใหม่ของภาคแรงงาน ย้ายแรงงานจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวได้ถึง 6 ล้านล้านบาทในปี 2571
3.โอกาสใหม่ของภาคบริการ 4.โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการรายย่อย และ 5.โอกาสใหม่ของเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Startup) สร้าง Platform E-commerce แบบอาลีบาบาหรืออเมซอนที่เป็นของคนไทยเอง
ร.ท.ปรีชาพลมั่นใจว่าแนวคิดเทคซิโนมิกส์จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสใหม่ให้กับคนไทยให้กลับมาอยู่ดีกินดีและมีความสุข พร้อมก้าวไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และพร้อมจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่เจ็บปวดและจมปลักอยู่ในวังวนแห่งความล้าหลัง
ไม่มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง มีแต่..ชงเอง กินเอง
นอกจากกติกาที่เอาเปรียบอย่างเห็นได้ชัดแล้ว หลายฝ่ายยังกังวลว่าน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่จะมีการโกงสารพัดรูปแบบอย่างมโหฬาร ทั่วโลกจึงจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเท่าเทียมหรือไม่ เพราะนักวิเคราะห์การเมืองและนักวิชาการทั้งไทยและเทศต่างก็มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่ “ประชาธิปไตยครึ่งเดียว” หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” ซึ่งแน่นอนว่าความขัดแย้งความแตกแยกจะยังเป็นปัญหาต่อไป
ล่าสุด “กลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารหยุดปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อปูทางสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่เสรีและเปิดกว้าง ทั้งแสดงความกังวล “ส.ว.ลากตั้ง” 250 คน และ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งผูกมัดรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งให้ต้องทำตาม หากไม่ทำตามก็มีโทษให้ถูกถอดออกจากตำแหน่งหรือจำคุก
การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมจึงเป็นการชี้อนาคต “ประเทศกูมี” ว่าเป็น “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ภายใต้ “ระบอบอำนาจนิยม” หรือจะเป็นประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
“ผู้นำ” จะมีความสง่างามหรือไม่ โดยเฉพาะบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งมีชื่อเหมือนกับโครงการประชานิยมของรัฐบาลคือ “โครงการประชารัฐ” เห็นชัดเจนอย่างเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดจนถึงการทำรัฐประหารขึ้นยึดอำนาจ สุดท้ายก็เป็นแค่ปาหี่การเมือง
วาทกรรมที่สร้างเอาไว้ สุดท้ายก็ไม่มี “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” มีแต่.. “ชงเอง กินเอง”
ถึงเวลาแล้ว ..ฮีโร่คนเดิมพร้อมจะครองอำนาจต่อไป ..แอ็ค…ชั่น!!??
You must be logged in to post a comment Login