วันพฤหัสที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“วิษณุ”ชี้ปม”นาฬิกาหรู”ไม่ถือว่าทุจริตแต่ผิดที่ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน

On February 1, 2019

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่องนโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ภายในงานเปิดโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 10 ว่า นโยบายระดับประเทศเรื่องการปราบปรามการทุจริต กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ที่ 1 และ 6 คือด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ขณะนี้ดำเนินการสู่ระยะที่ 3  ครอบคลุมปี 2560-2564 

ทั้งนี้ นโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแง่ของการป้องกันและการปราบปราม หากพบการทุจริตต้องดำเนินการ แต่สิ่งที่เป็นนโยบายของประเทศ แม้แต่ในสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องสร้างความเข้มแข็งใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ กฎหมาย หน่วยงานทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลักธรรมาภิบาล และประชาชน ส่วนการสร้างองค์ความรู้ผู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นสากล ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องมายังคณะรัฐมนตรี ให้จัดการสอนวิชาเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้รู้เท่าทัน ครม.รับหลักการให้กระทรวงศึกษาไปดำเนินการสอดแทรกเรื่องนี้ไปในการเรียนการสอน หรือตั้งเป็นวิชาใหม่

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการกระทำมากกว่าการเรียนหรือการศึกษา แต่การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็มีความเป็นศาสตร์และศิลป์  ซึ่งปัจจุบันในสังคมยังไม่เข้าใจถึงความหมายของการทุจริต จนเกิดความสับสนในเรื่องประพฤติทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น กรณีนาฬิกา ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของการทุจริต ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน เพราะกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากไม่ยื่นก็ไม่ถือว่าทุจริต แต่จะผิดที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือหากยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ก็ไม่ถือว่าทุจริตเช่นกัน แต่สุดท้ายจะโยงไปสู่การทุจริตหรือไม่ก็เป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ประชาชนกลับเข้าใจว่าเป็นเรื่องทุจริตทั้งที่เป็นคนละเรื่องเพียงแต่อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login