วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

TIJ จับมือฮาร์วาร์ดบ่มเพาะนักบริหารรุ่นใหม่ สู่นักนโยบายเพื่อสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

On February 2, 2019

1 ด 2 N

ประเด็นปัญหาของโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลาย เข้ามาอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ อย่างองค์กรอาชญากรรรมข้ามชาติบนโลกไร้พรมแดน หรือปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในสังคมที่นับวันจะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้หญิง เด็ก ผู้พิการ เป็นต้น แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ตามทฤษฏีที่ร่ำเรียนกันมาในหลายครั้งจึงไม่อาจเปลี่ยนสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญการมองปัญหาอย่างไม่รอบด้าน ก็อาจทำให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไป
การรับมือกับสภาพการณ์เช่นนี้ อาจจะต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ ดังเช่นการใช้นวัตกรรมทางการยุติธรรม หรือ “Tech for Justice” ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้กล่าวไว้ ซึ่งก็ได้สะท้อนให้เห็นจากการที่ TIJ จัดโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับสถาบัน IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการนำหลักนิติธรรม อันเป็นรากฐานสำคัญของการนำพาให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (the United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) มาใช้ในสังคม ผ่านการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ร่วมกันคิดและวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การเรียนจากประสบการณ์จริงและกรณีศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ เพื่อสร้างเป็นสนามทดลอง (Problem Labs) ให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมีส่วนร่วมในการอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น และเสนอทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในบริบทอนาคต
ในหลักสูตรอบรมปีล่าสุดนี้ TIJ ยังได้ร่วมกับคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาหลักสูตรให้ทันสถานการณ์ มีการหยิบยกประเด็นปัญหาสังคมที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชีย เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเข้าถึงความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาถกเถียงกัน โดยเริ่มต้นจากวันแรกที่มีการปูพื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 140 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก ได้เข้าใจถึงสาระสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม
ทั้งนี้ นายนิโคลัส บูธ ที่ปรึกษานโยบายด้านธรรมาภิบาล การเข้าถึงความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme-UNDP) กล่าวแนะนำถึง SDGs ไว้ว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 แตกต่างจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ MDGs ตรงที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงรากของปัญหา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกWBW นิโ

ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดยืนว่า “leave no one behind” เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”
คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะออกนโยบายและกฎหมายอย่างไรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและมีความเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรมในโลกยุคปัจจุบัน จึงนำมาสู่หัวใจของการเรียนรู้ของสถาบัน IGLP ซึ่งก็คือการตั้งคำถามให้ถูกตั้งแต่ต้น โดย ดร.โอซามา ซิดดิค นักวิชาการด้านกฎหมายและที่ปรึกษาการปฏิรูปนโยบาย จากประเทศปากีสถาน ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Asking Better Policy Questions” และชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญนี้ว่า แนวทางการตั้งคำถามเพื่อออกนโยบายที่ถูกต้อง และนำมาซึ่งกฎหมายที่สามารถนำไปปฏิบัติและก่อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การจะกำหนดนโยบายที่ถูกต้องได้จำต้องให้ความสำคัญกับประเด็นที่ครอบคลุมกับภาคีในสังคมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทุกภาคส่วน โดยผู้กำหนดนโยบายควรตอบได้ว่า นโยบายนั้นให้ความยุติธรรม เป็นกลาง ไร้อคติหรือไม่ กรอบการกำหนดนโยบายขัดแย้งกับค่านิยม มาตรฐาน วัฒนธรรม ข้อกังวลของสังคมนั้นหรือไม่ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะด้านของผู้กำหนดนโยบายเองก็อาจเป็นอุปสรรคในการออกนโยบาย นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ไม่มีนโยบายใด หรือกฎหมายใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเดียวกันในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ทั้งหมด
อย่างกรณีของการออกนโยบายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลให้โลก “เปลี่ยน” จากผลกระทบที่มีต่อคนในทุกกลุ่มทุกชนชั้นและชนชาติ อย่างไร้พรมแดน เบน เฮิร์ลเบิร์ต ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท จากสหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้นำการสอนวิชาธรรมาภิบาลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Governance of Science and Technology) ได้พูดถึงการกำหนดนโยบายในด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประเด็นปัญหาระดับนานาชาติ การกำหนดนโยบายต้องเริ่มจากคำถามที่ว่าเราจะออกแบบเทคโนโลยีอย่างไร ใครจะเป็นคนตัดสินว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นที่ต้องการและเป็นเทคโนโลยีที่ดี รวมทั้งต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมที่จะนำกฎหมายไปใช้เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นๆ ด้วย
การอุ้มบุญเป็นกรณีตัวอย่างที่ก่อให้เกิดประเด็นโต้เถียงในสังคม เนื่องจากบางประเทศไม่มีกฎหมายรองรับ และจำเป็นที่นักนโยบายและสังคมต้องร่วมกันขบคิดว่าจะต้องออกแบบกฎหมายอย่างไรเพื่อมาสนองตอบปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อาทิ การที่กฎหมายไทยไม่ส่งเสริมการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ต้องการทดลองการให้บริการนวัตกรรมใหม่ ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องการทำธุรกิจในไทยต้องไปจดทะเบียนและระดมทุนในประเทศที่มีกฎหมายส่งเสริมบริษัทสตาร์ทอัพที่ดีกว่า ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าการที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไรบ้าง เป็นต้น

ดังนี้แล้วจะเห็นว่า ประเด็นปัญหาในสังคมปัจจุบันโยงใยทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนับวันยิ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดรูปแบบของสังคมและเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั่วโลก วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ประการหนึ่ง คือต้องเข้าใจปัญหาให้มากขึ้น อันหมายถึงการพัฒนาความเชี่ยวชาญและการส่งเสริมให้มีเวทีเสวนาหรือพื้นที่อภิปรายประเด็นปัญหาระหว่างหลากสาขาวิชาชีพ การจัดโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเวทีสำคัญเพื่อนำคำถามไปสู่การคิดที่ดีขึ้น และทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนคนในสังคมสามารถคิดหาหนทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ มีวิธีการใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหาและหาวิธีการในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป


You must be logged in to post a comment Login