วันพฤหัสที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“รสนา”เตือนป.ป.ช.อย่าเป็นองค์กรฟอกผิดให้นักการเมือง

On February 3, 2019

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเกี่ยวกับเรื่อง “ป.ป.ช. อย่าเป็นองค์กรฟอกผิดให้นักการเมือง”

โดย น.ส.รสนาระบุว่า กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่องนโยบายระดับประเทศและการปฏิรูปประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในงานเปิดโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 10 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 โดยนายวิษณุกล่าวยกตัวอย่างความหมายของการทุจริตที่ประชาชนมักสับสน ซึ่งได้อ้างอิงกรณีนาฬิกาว่า

“หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของการทุจริต กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากไม่ยื่นก็ไม่ทุจริต แต่ผิดที่ไม่ได้ยื่น ซึ่งการโยงไปสู่การทุจริตหรือไม่ สุดท้ายเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวน”

คดียืมนาฬิกาเพื่อนตามที่นายวิษณุกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องการทุจริต แค่ผิดเพราะไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเท่านั้น นายวิษณุคงไม่ได้ติดตามข่าวที่ว่า ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5:3 ได้มีมติยุติการสอบสวนไปแล้ว และมีมติว่านาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สวมใส่ 20 กว่าเรือนนั้นยืมเพื่อน และเมื่อยืมเพื่อนก็ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นอันไม่มีความผิดจากการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เหลือเพียงแต่ว่า ป.ป.ช. จะมีมติให้มีความผิดฐานรับผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินเกิน 3,000 บาทหรือไม่เท่านั้น ใช่หรือไม่

การสอบสวนของ ป.ป.ช. ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการฟอกผิดให้ พล.อ.ประวิตรหรือไม่ด้วยประเด็นดังต่อไปนี้

1) การสอบสวนคดีนาฬิกาจะโยงไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่นั้น ประการแรก ป.ป.ช. ต้องไม่เชื่อว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นการยืมจริง แต่เป็นทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ถ้าแนวการสืบสวนเป็นไปในทิศทางนี้ก็อาจจะสามารถสืบสวนสอบสวนลงลึกว่าการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอาจจะเข้าข่ายเป็นการทุจริต รับสินบน ซึ่งเป็นเหตุให้ร่ำรวยผิดปรกติได้ใช่หรือไม่

แต่เพราะ ป.ป.ช. ตั้งธงเชื่อว่านาฬิกาเหล่านั้นไม่ใช่ของ พล.อ.ประวิตร แต่เป็นนาฬิกาที่ยืมจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานใดๆที่บ่งชี้ได้ว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาทที่เสียชีวิตไปแล้วใช่หรือไม่

ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจปัดคดีดังกล่าวออกไปจากสารบบการตรวจสอบ ทั้งที่นาฬิกาดังกล่าวถูกนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และ พล.อ.ประวิตรไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงจนสิ้นสงสัยว่านาฬิกาเหล่านั้นไม่ใช่ของตน ซึ่ง ป.ป.ช. ต้องสอบสวนต่อไปว่านาฬิกาเหล่านั้นเกี่ยวพันกับการรับสินบนหรือร่ำรวยผิดปรกติหรือไม่

2) เมื่อ ป.ป.ช. เชื่อว่านาฬิกาไม่ใช่ทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร แต่ยืมคนอื่นมาใช้ และตัดสินว่าการยืมไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งน่าจะเป็นมติที่ขัดต่อวิธีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ ป.ป.ช. เคยวางระเบียบเอาไว้ว่า ทรัพย์สินที่มาจากการกู้ยืมแม้ไม่ใช่การยืมที่เป็นทางการก็ต้องแจ้งใช่หรือไม่

นาฬิกามูลค่ากว่า30ล้านบาทที่ พล.อ.ประวิตรครอบครองอยู่ หากเป็นการยืมก็ต้องแจ้ง เพราะการยืมทำให้เกิดทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในเวลาเดียวกัน เช่น การกู้ยืมเงินมา 30 ล้านบาท ก็ต้องลงบัญชีในฝั่งทรัพย์สิน 30ล้านบาท และฝั่งหนี้สิน 30 ล้านบาท ก็เป็นการหักลบทรัพย์สินและหนี้สินออกไปใช่หรือไม่

ขอให้ดูตัวอย่างคดีหนี้สิน 45 ล้านบาทของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ ป.ป.ช. ในอดีตไม่เชื่อว่ามีการกู้ยืมจริง และ ป.ป.ช. ได้สืบสวนจนพบว่าบริษัทที่อ้างว่าให้ พล.ต.สนั่นกู้ 45 ล้านบาทนั้น ไม่ได้มีการลงบัญชีให้กู้ในงบดุลของบริษัทแต่อย่างใด พล.ต.สนั่นจึงถูกตัดสินว่าจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ มีผลให้ถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

เมื่อนาฬิกามูลค่า 30 ล้านบาท อยู่กับ พล.อ.ประวิตรย่อมเป็นทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ หากจะอ้างว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของตนก็ต้องหาหลักฐานมาแสดงจนสิ้นสงสัยว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของใคร หากหาหลักฐานไม่ได้นาฬิกาเหล่านั้นก็ยังเป็นทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตรที่เป็นความผิดฐานปกปิดการแจ้งทรัพย์สินและหนี้สิน และยังอาจจะนำไปสู่การสอบสวนในเรื่องความร่ำรวยผิดปรกติต่อไปได้ใช่หรือไม่

การที่ ป.ป.ช. ตั้งธงคดีนี้ว่านาฬิกาทั้งหมดไม่ใช่ทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร แต่เป็นทรัพย์สินที่ยืมมา และใช้อำนาจปิดคดีโดยไม่ตรวจสอบต่อ และยังใช้อำนาจเกินเลยหรือไม่ที่ชี้สวนทางกับกฎหมาย และระเบียบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินว่าถ้าเป็น “การยืม” ก็ “ไม่ต้องแจ้ง” นั้น จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการปัดคดีเพื่อฟอกผิดให้ พล.อ.ประวิตร ทั้งในฐานความผิดที่ปกปิดการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และยังเป็นการยุติการสืบสวนต่อไปในคดีร่ำรวยผิดปรกติที่มีทั้งโทษจำและโทษปรับ รวมทั้งการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีอีกด้วยใช่หรือไม่

3) ป.ป.ช. ตั้งธงปัดคดีนี้ให้อย่างสุดลิ่ม แม้ว่าไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่านาฬิกาที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมายเป็นของใคร แต่ ป.ป.ช. ก็ช่วยอธิบายให้เสร็จสรรพว่าที่เชื่อว่านาฬิกาทั้งหมดเป็นของนายปัฐวาทเพียงเพราะว่านายปัฐวาทเป็นนักสะสมนาฬิกา และมีนาฬิกาจำนวนมากอยู่ในบ้าน โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดที่บ่งบอกว่านาฬิกา 19-22 เรือนนั้นเป็นของนายปัฐวาททั้งหมดใช่หรือไม่

คนตายแล้วย่อมพูดไม่ได้ ทำให้ ป.ป.ช. สามารถโยนบาปให้นายปัฐวาทว่าเป็นผู้นำเข้านาฬิกาโดยผิดกฎหมาย และให้ พล.อ.ประวิตรยืมไปใส่เป็นปีๆ แม้ตายแล้วก็ไม่ต้องคืน เพราะทายาทไม่พร้อมรับคืน ป.ป.ช. ออกตัวมาชี้แจงสังคมแก้แทนให้โดยขาดความสำนึกว่าองค์กรของตนถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐมิให้ใช้อำนาจในการทุจริตประพฤติมิชอบใช่หรือไม่

ถ้านายปัฐวาทมีชีวิตอยู่ย่อมมีความผิดทั้งทางอาญาที่ลักลอบนำเข้านาฬิกาโดยไม่เสียภาษีที่ต้องถูกลงโทษทั้งจำและปรับตาม  พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 มาตรา27 และนาฬิกาทั้งหมดต้องถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน แม้นายปัฐวาทเสียชีวิตไปแล้ว แต่ชื่อเสียงที่เสียหายย่อมตกเป็นของครอบครัวนายปัฐวาทใช่หรือไม่

4) แม้ ป.ป.ช. จะปัดคดีด้วยเหตุผลที่รับฟังไม่ขึ้นและขัดต่อสามัญสำนึกของวิญญูชนแล้ว แต่การยืมนาฬิกาที่มีมูลค่าเรือนละเป็นแสนเป็นล้านบาทมาสวมใส่เป็นปีๆ ย่อมเข้าข่ายเป็นการรับผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินเกิน 3,000 บาทหรือไม่ ควรที่ ป.ป.ช. จะมีมติประเด็นนี้ได้อย่างรวดเร็วใช่หรือไม่

แต่ ป.ป.ช. ก็ไม่ตัดสินในประเด็นนี้ และปล่อยเวลาล่วงเลยเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งที่การพิจารณาเรื่องการรับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาทหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นซับซ้อน แต่ก็มีการถ่วงเวลานานเกินสมควร แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพและทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือนสูงๆที่ประชาชนจ่ายให้ใช่หรือไม่

ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยต่อมาว่าคนเหล่านี้ถูก คสช. ต่ออายุให้เป็น ป.ป.ช. ต่อไป ทั้งที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ คสช. ให้ยกร่างขึ้นมานั้น จะมิกลายเป็นว่าการตั้งคนเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อใช้อำนาจขององค์กรปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปกป้องและฟอกผิดให้ผู้มีอำนาจไม่ต้องรับผิด หากมีการกระทำความผิดใช่หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login