วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อุตสาหกรรมข้าวโพดหวานร้องคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลิกใช้พาราควอตสูญกว่า1.3หมื่นล้าน

On February 8, 2019

ทางกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย นำโดย กำนัน สรพล นิ่มเนตร ตำบลเกาะสำโรง จังหวัดกาญจนบุรี และเกษตรกรกว่า 20 ราย ยื่นหนังสือต่อ นายอภิจิณโชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้กำลังต่อการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม รับฟังข้อเท็จจริง และยืนยันมติ ไม่แบนสารพาราคอต แต่ให้จำกัดการใช้ พร้อมชี้แจงตัวเลขความเสียหายในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานรวมมูลค่าสูง 1.3 หมื่นล้านบาท หากยกเลิกใช้ สารพาราควอต

นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธาน กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศ มีขนาด 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานลดลง เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่อยู่ในโครงการประกันราคาของรัฐบาล ดังนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นเพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกที่ลดลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต ต้นทุนการเกษตรจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท ด้านการส่งออก ปัจจุบันกลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอต ในกระบวนการผลิต ไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพารา ควอตตกค้าง หรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออกในระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ เกษตรกรข้าวโพดหวานจังหวัดกาญจนบุรี นายวาทิน มงคลสารโสภณ กล่าวว่า พาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร ช่วยในการควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่มีสารหรือวิธีการอื่นใดทดแทน และหากจะมองว่าเป็นสารเคมีอันตราย สารเคมีทุกตัวก็อันตรายทั้งหมด ก็ควรห้ามใช้ทั้งหมดจะอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลที่นำไปใช้มากกว่าว่านำไปใช้ถูกวิธีหรือไม่ ผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม จังหวัดกาญจนบุรี นายชาตรี ฟักเหลือง กล่าวถึงผลกระทบโดยตรงต่อข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมว่าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คุณภาพผลผลิตลดลง ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น มั่นใจว่า ไม่มีเพราะการใช้สารพาราควอตไม่ได้ฉีดลงบนพืช ทำให้ไม่มีการดูดซึมสารตามกล่าวอ้าง สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ไม่ใช่การแบนสาร แต่ควรมาอบรมให้ความรู้เพื่อการใช้อย่างถูกต้องจะดีกว่า

ด้านตัวแทนกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ นางสาววิเชียร ติง  กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานเป็นจำนวนมาก เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตข้าวโพดหวานกระป๋อง ดังนั้นหากมีการเลิกใช้พาราควอต ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับความเดือดร้อน แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะต้องหาผลผลิตจำนวนมากมาแปรรูป เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงขอให้มีการพิจารณาใช้สารพาราควอตต่อไป แต่ให้มีการอบรมเกษตรกรควบคู่กันไปด้วย เพราะจากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ใช้มา หากมีการใช้อย่างถูกวิธี จะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายตามที่เป็นข่าว และไม่มีสารตกค้างในผลผลิตด้วย  กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงอยากให้ตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบห่วงโซ่ที่แยกจากกันไม่ได้ ระบบการผลิต อุตสาหกรรมการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร หากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ สร้างผลผลิตไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระบบ รวมทั้ง กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ได้เคยชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น

“กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรห้ามใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตผลหรือสินค้าแปรรูป) และยังไม่มีสารอื่นที่สามารถมาทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง ภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างใหญ่หลวง เพียงแค่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพด ส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบรวมมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติเดิม ไม่แบนการใช้  3 สารเคมี พาราควอตคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมเอง ก็กำลังจัดทำโครงการส่งมอบความสุขให้เกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการเข้าไปให้ความรู้เรื่องการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนสำหรับการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้ในการผลิตข้าวโพดหวานเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”

2


You must be logged in to post a comment Login