วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หมอกมรณะ

On February 8, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  8-15 กุมภาพันธ์  2562)

หมอกที่ปกคลุมมหานครลอนดอนตลอดระยะเวลา 5 วัน เป็นหมอกที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองและสารพิษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน และล้มป่วยอีกราว 150,000 คน นับเป็นการสูญเสียจากสภาวะมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 1952 อากาศในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีความหนาวเย็นมากกว่าปรกติที่เคยเป็น ทำให้ผู้คนต่างจุดเตาผิงไฟสร้างความอบอุ่นให้กับครัวเรือนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ่านหินคุณภาพต่ำเป็นเชื้อไฟที่คนสมัยนั้นนิยมใช้ ซึ่งไม่เคยสร้างปัญหาใดๆให้ เนื่องจากกระแสลมพัดควันที่ลอยขึ้นมาจากปล่องไฟให้ฟุ้งกระจายสลายไปตามสายลม

ปรกติแล้วกระแสลมอ่อนๆความเร็ว 5-10 ไมล์ต่อชั่วโมง พัดพากลุ่มควันลอยไปตามแม่น้ำเทมส์และสลายตัวไปในที่สุด แต่เช้าวันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 1952 เกิดปรากฏการณ์แอนไทไซโคลนเหนือน่านฟ้ากรุงลอนดอน ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้อากาศปิด อากาศบริสุทธิ์ไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านเข้าไปได้ และอากาศเสียจากปล่องไฟก็ไม่สามารถเล็ดลอดออกไปได้เช่นกัน

สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้ถ่านหินคุณภาพต่ำเมื่อปะทะเข้ากับความชื้นของหมอกยามเช้าทำให้กลายเป็นกรดซัลฟิวริกที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจและทำลายปอด แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครสังเกตเห็นภัยมืดที่กำลังคืบคลานเข้ามา

มืดแปดด้าน

เช้าวันที่ 5 ธันวาคม 1952 ผู้คนออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน เด็กๆไปโรงเรียนตามปรกติ แต่สิ่งที่ไม่ปรกติก็คือ พวกเขามองแทบไม่เห็นทาง ทัศนวิสัยอยู่ในระยะเพียงแค่ 2-3 เมตรเท่านั้น รถยนต์ต้องเคลื่อนตัวอย่างช้าๆจนเรียกว่าเดินไปยังเร็วกว่า ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เนื่องจากหลายคนตัดสินใจจอดรถริมถนนและเดินเท้าไปทำงาน

บางคนโชคดีหน่อยที่มีคนโดยสารมาด้วย พวกเขาไหว้วานให้ผู้โดยสารถือตะเกียงเจ้าพายุเดินนำหน้ารถเป็นไกด์นำทาง โดยหวังว่าหมอกจะค่อยๆจางลงเมื่อพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้า แต่มันหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ตะวันจะขึ้นสูงโด่ง แต่หมอกก็ยังคงหนาทึบไปตลอดทั้งวัน

ผู้คุมรถประจำทางต้องจุดคบเพลิงเดินนำหน้ารถประจำทางเพื่อให้คนขับมองเห็นเส้นทาง ขณะที่คนขับก็ต้องเปิดหน้าต่างเพื่อชะโงกหน้าออกมามอง เพราะไม่สามารถมองเห็นผ่านกระจกหน้ารถได้ ในที่สุดพวกเขาก็ยอมแพ้ บอกให้ผู้โดยสารลงจากรถเพื่อนำรถกลับเข้าอู่ เพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปได้

บางแห่งหมอกลงหนาจนมองไม่เห็นแม้กระทั่งเท้าตัวเอง ชายคนหนึ่งเกือบถูกรถมอเตอร์ไซค์ชน คนขี่รถมอเตอร์ไซค์ถามทางไปสถานีรถไฟใต้ดิน ชายคนนั้นบอกให้ขี่ตามถนนตรงไปอีก 20 หลา แต่ตอนนี้คุณขี่รถอยู่บนทางเท้า

ชัตดาวน์ลอนดอน

วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม 1952 เพียงแค่ 2 วันมีผู้เสียชีวิตจากหมอกมรณะไปนับพันคน และยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ล้มป่วย แต่โรงพยาบาลไม่สามารถส่งรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยได้ เพราะทัศนวิสัยย่ำแย่จนมองไม่เห็นเส้นทาง ผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินเท้าไปยังโรงพยาบาลด้วยตัวเอง

หมอกไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงผู้ใช้รถใช้ถนนเท่านั้น แต่มันยังคืบคลานเข้าในตัวอาคาร ภายในพิพิธภัณฑ์บริติชเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบสีเหลืองที่มากับหมอก วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 1952 ทัศนวิสัยลดลงเหลือเพียงมองเห็นแค่ระยะ 1 ฟุตเท่านั้น

โรงภาพยนตร์จำเป็นต้องปิดให้บริการเพราะคนดูมองไม่เห็นจอภาพยนตร์ โรงละครต้องงดการแสดงเพราะผู้ชมมองไม่เห็นเวที อีกทั้งผู้ชมส่วนใหญ่นั่งไอจนรบกวนการแสดงอันมีสาเหตุมาจากสูดดมหมอกพิษเข้าไปในปอด โรงเชือดสมิธฟิลด์ต้องล้มสัตว์กว่า 10 ตัวทิ้งไปเปล่าๆ เนื่องจากพวกมันสูดดมอากาศเป็นพิษจนมีอาการป่วย

สนามแข่งสุนัขต้องปิดให้บริการเพราะสุนัขมองไม่เห็นเหยื่อล่อ วิศวกรรถไฟต้องคอยจุดประทัดยักษ์ตลอดทางเพื่อเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ารถไฟกำลังเคลื่อนตัวมา เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงทางรถไฟหรือผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้นจะได้หลบออกนอกทางรถไฟ

ร่วมด้วยช่วยกัน

ไม่เพียงแค่ควันไฟจากเตาผิงของบ้านนับล้านครัวเรือนในกรุงลอนดอนที่สร้างมลภาวะ ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีก 4 แห่งในเขตเบตเตอร์ซี, แบงค์ไซด์, ล็อตส์โรด และคิงส์ตัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้ถ่านหินคุณภาพต่ำเป็นเชื้อเพลิง

กลิ่นฉุนของหมอกที่เจือปนกรดซัลฟิวริกและสารพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินคุณภาพต่ำ ทำให้ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน แต่ตอนนั้นพวกเขายังไม่รู้ถึงอันตรายของหมอกมรณะ สำหรับคนที่ไม่มีหน้ากากอนามัยก็ใช้ผ้าพันคอหรือผ้าเช็ดหน้าปิดจมูกแก้ขัดไปก่อน

หมอกมรณะมาเยือนเพียงแค่ 2 วันก็มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก แต่ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ถึงความร้ายแรงของมัน เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ยังไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล เริ่มมาสงสัยกันก็ตอนที่โลงศพขาดตลาดอย่างกะทันหัน

แอนไทไซโคลนสลายตัวลงในวันอังคารที่ 9 ธันวาคม 1952 อากาศกลับมาปลอดโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใส มีกระแสลมอย่างที่ควรจะเป็น ในตอนแรกประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากหมอกมรณะในช่วง 5 วันที่ผ่านมาประมาณ 4,000 คน แต่จากการศึกษาในเวลาต่อมาเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึงอย่างน้อย 12,000 คน และมีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 150,000 คน

ยังไม่สายเกินไป

ปริศนาการเกิดหมอกมรณะในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1952 รู้จักกันในชื่อ The Great Smoke Of London หรือ Pea-Souper ไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุจนกระทั่งมีการระดมกำลังสมองจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และเพิ่งจะได้คำตอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 นี่เอง

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจทำการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตเกิดจาก 2 ตัวการสำคัญคือ ฝุ่นขนาดจิ๋วที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5 และไนโตรเจนไดออกไซด์

เหตุการณ์หมอกมรณะในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1952 เป็นตัวอย่างของความเลวร้ายว่ามลภาวะทางอากาศสามารถส่งผลร้ายแรงได้มากเพียงไร ยังไม่สายเกินไปที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเหมือนเหตุการณ์ในครั้งนั้น

1

1.ประชาชนเดินทางท่ามกลางหมอกหนาทึบ

2

2.ตำรวจจุดคบเพลิงให้สัญญาณจราจร

3

3.หญิงสาวถือไฟฉายเดินนำหน้ารถ

4

4.เจ้าหน้าที่จุดคบเพลิงนำทางรถประจำทาง

5

5.บริษัทเดินรถประจำทางสั่งซื้อคบเพลิงจำนวนมาก

6

6.หน้ากากอนามัยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

7

7.หญิงสาวสวมหน้ากากอนามัยให้กับสุนัข

8

8.หงส์ตกจากท้องฟ้าเนื่องจากสภาพมลภาวะทางอากาศ

9

9.รถไฟใต้ดินเป็นทางเลือกเดียวที่ใช้ได้ในช่วงเหตุการณ์หมอกมรณะ

10

10.หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวเรื่องหมอก


You must be logged in to post a comment Login