- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ดูกร…ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข่าวลวงหรือข่าวลือ?
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 15-22 กุมภาพันธ์ 2562)
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวสะพัดและรายงานข่าวออกมาตามสื่อต่างๆว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังพิจารณาคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นให้ กกต. วินิจฉัยกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามแคนดิเดตนายกฯที่อาจเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง ส.ส. ข้อ 17 ที่กำหนดห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง และความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สื่อบางสำนักระบุรายละเอียดข่าว (12 กุมภาพันธ์) มีใจความว่า
“ที่ประชุม กกต. เห็นว่าตามพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และหนังสือการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค หรือแบบ ส.ส.4/29 รวมถึงหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแบบ ส.ส.4/30 ซึ่งพรรคไทยรักษาชาติยื่นต่อ กกต. ถือเป็นพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรค และขณะนี้ได้ให้สำนักงานยกร่างคำร้องเพื่อที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต. มีแนวทางว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานก่อน แต่การประชุมพิจารณาในวันนี้เห็นว่าตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.พรรคการเมือง ใช้คำว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการดังกล่าว ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น” ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏต่อ กกต. ในขณะนี้ถือว่าเพียงพอวินิจฉัย ประกอบกับเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญที่ควรจะมีความชัดเจนโดยเร็วจึงได้มีมติ”
แต่แล้วในเย็นวันเดียวกัน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แจ้งข่าวผ่านทางไลน์ส่วนตัววันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า “ฝากเรียนทุกท่านที่รออยู่ด้วยว่ากำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ ถ้าผมหรือเลขาธิการมิได้ให้ข่าวกรุณาอย่าถือว่าเป็นข่าวจริงนะครับ อย่างน้อยที่สุดถ้าการพิจารณาแล้วเสร็จจะเรียนให้ทราบ ถ้ามิใช่แถลงข่าวก็เป็นเพรส”
กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
เวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้นำคำร้องมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที หลังที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวหลังจาก กกต. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติจะยื่นหนังสือคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอใช้สิทธิในฐานะพรรคการเมืองรับทราบข้อกล่าวหา และสิทธิในการชี้แจงพยานหลักฐานเอกสารและบุคคล เพราะกระบวนการที่ กกต. ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยรวดเร็ว และตั้งข้อสังเกตถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ กกต. จะประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย
ข่าวลือหรือข่าวลวง?
ท่ามกลางสถานการณ์ “ลุ้นระทึก 8 กุมภาพันธ์” ที่สะเทือนเลื่อนลั่นทั้งแผ่นดินตั้งแต่เวลา 09.10 น. จากพรรคไทยรักษาชาติ และช่วงดึกวันเดียวกันได้มีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ระบุว่า “พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง” และ “ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆในทางการเมืองได้”
ร.ท.ปรีชาพลกล่าวถึงที่มาของพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีนายกฯของพรรคว่า สมาชิกรายหนึ่งเป็นผู้เสนอพระนาม แต่ไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร ก่อนที่กรรมการบริหารพรรคจะมีมติเห็นชอบ
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ทางการเมืองตลอดหลายวัน จนช่วงคืนวันที่ 10 ต่อเนื่องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ก็ปรากฏข่าวลือข่าวปล่อยไปทั่วราชอาณาจักรว่า อาจเกิดการรัฐประหารซ้ำปฏิวัติซ้อน โดยเฉพาะการเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษาปลอมอ้างคำสั่งมาตรา 44 ปลด 3 ผู้บัญชาการเหล่าทัพแพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เงียบหายไปนานนับสัปดาห์ออกมาปรากฏตัว และตอบปฏิเสธกระแสข่าวลือการรัฐประหารซ้อนแบบสั้นๆว่า “ไม่มี” ทั้งยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนและติดตามออกหมายจับให้ได้ภายใน 7 วัน
นอกจากนี้ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี (12 กุมภาพันธ์) พล.อ.ประวิตรยังตอบผู้สื่อข่าวแบบคำต่อคำถึงความเป็นไปได้ของรัฐบาลแห่งชาติว่า “ไม่รู้” ส่วนเรื่องโผทหารก็บอกว่า “ยังไม่เสร็จ ยังมีเวลา”
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 2/2562 เรื่องให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่งว่า เป็นเอกสารปลอม ซึ่งให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พ้นจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้กระแสในโซเชียลตื่นตระหนกและแห่แชร์ประกาศดังกล่าว และตลอดทั้งคืนข่าวการรัฐประหารพุ่งปรี๊ดในทวิตเตอร์ประเทศไทย
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ น.ส.สาวิตรี ชำนาญกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งความดำเนินคดีเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความดำเนินคดีการเผยแพร่เอกสารราชกิจจานุเบกษาปลอม
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทีมงานโฆษกกองทัพบกเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงหากเกิดผลกระทบที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลและ คสช. เพราะหากปล่อยให้บิดเบือนจะทำให้ประชาชนและต่างประเทศตื่นตระหนก ซึ่งกลุ่มนักศึกษาและพรรคอนาคตใหม่ก็ออกมาเคลื่อนไหวประกาศต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ
ทษช. ไม่มีชื่อ “ว่าที่นายกฯ”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สำนักงาน กกต. ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า กกต. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาในประเด็นการแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 69 รายชื่อ จาก 45 พรรค โดยไม่รวมถึงพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้รับการเสนอโดยพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)
นอกจากนี้ที่ประชุม กกต. ยังได้ข้อสรุปตั้ง “คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง” กรณีมีการร้องขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอพระนามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายผิดมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และต้องเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคหรือไม่ โดยมีคณะกรรมการไต่สวนฯ 5-7 คน และมีคนนอกเข้ามาร่วมมากกว่าคนใน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงและมีความละเอียดอ่อน
ขั้นตอนยุบพรรคการเมือง
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ชี้แจงถึงขั้นตอนการพิจารณายุบพรรคการเมืองภายหลังมีผู้ร้องเรียนให้ กกต. พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วสำนักงาน กกต. จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ก่อนจะเริ่มการสืบสวนสอบสวน และเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะเสนอให้กรรมการ กกต. พิจารณาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯของพรรคการเมืองว่า กกต. มีอำนาจตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 12, 13, 14 ดังนั้น ทั้งผู้สมัคร ส.ส. และผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯมีเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ กกต. ต้องพิจารณา ในกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า กกต. มีเวลาพิจารณาคุณสมบัติเพื่อวินิจฉัยว่าใครคุณสมบัติผ่านหรือไม่ผ่าน แต่วินิจฉัยแล้วจะถึงที่สุดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากไม่พอใจก็ต้องไปว่ากันที่ศาล
ถ้าเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติธรรมดา ไม่ได้อ้างอิงรัฐธรรมนูญ ก็ไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้า กกต. มีมติวินิจฉัยแล้วต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น เช่น ถ้าวินิจฉัยว่าไม่มีคุณสมบัติก็เป็นไปตามนั้น ไม่สามารถเลือกตั้งได้จนกว่าศาลจะสั่งให้เป็นอย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่น ให้เรื่องไปถึงศาลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวให้ทำอะไรได้บ้าง ถ้าศาลสั่งว่าไม่ผิดก็ไม่ผิด ถ้าบอกว่าทำได้ก็ทำได้ ซึ่งไม่ทราบว่ากระบวนการจะจบก่อนเลือกตั้งหรือไม่
บทลงโทษ-ยุบพรรค?
กรณีความผิดการเสนอพระนามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายผิดมาตรา 92 (1) กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายกำหนดฐานความผิดไว้ว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ (1) ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ซึ่งการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือ “ใบดำ” กฎหมายไม่ได้เขียนระยะเวลาเอาไว้ว่านานเพียงใด ขณะเดียวกันก็ถูกกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆและกรรมการองค์กรอิสระ ดังนั้น หากถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งย่อมหมายความว่าไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งใดๆทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระได้ตลอดไป
สถานะทางกฎหมายไม่มีผู้รับสนองพระราชโองการ
ขณะที่เว็บไซต์ iLaw ได้ให้รายละเอียดว่า พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้อำนาจ กกต. วินิจฉัยคุณสมบัติ “แคนดิเดตนายกฯ” ได้ โดยมาตรา 14 (2) กำหนดว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นแคนดิเดตนายกฯต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติ
ส่วนมาตรา 10 กำหนดให้ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ซึ่งความหมายของการเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายสถาบันพระปกเกล้านิยามว่าเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการตามกฎหมายนั้น
ดังนั้น หากมีมาตราใดของกฎหมายที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของใครในการดำเนินการตามกฎหมาย จึงอนุมานได้ว่าให้ประธาน กกต. เป็นคนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือประธาน กกต. มีอำนาจในการตรวจสอบว่าในรายชื่อแคนดิเดตที่แต่ละพรรคเสนอมานั้นมีผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
มาตราดังกล่าวเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97 เรื่องคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี และมาตรา 92 เรื่องลักษณะต้องห้าม ซึ่งมาตราที่น่าสนใจคือมาตรา 92 (17) ที่กำหนดว่า ผู้ที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้งนี้ หากนำมาเทียบเคียงกับพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จะพบว่าพระราชโองการดังกล่าวระบุว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆในทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบันรับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ “สถานะทางกฎหมาย” ของพระราชโองการ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าขาดผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งประเด็นนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นว่า หากไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ตัวบทกฎหมายพระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการนั้นๆก็จะไม่มีผล เพราะมิได้ดำเนินการ
ดังนั้น ภาระในการอธิบายต่อสังคมถึงการถอนรายพระนามแคนดิเดตนายกฯเนื่องจากเห็นว่าขาดคุณสมบัติจึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ว่าดำเนินการตามมาตราอะไร ขาดคุณสมบัติในข้อไหน อย่างไร และต้องอธิบายความในรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงสถานะของทูลกระหม่อมฯให้ชัดแจ้งเพื่อความโปร่งใส มิใช่แค่การยกพระราชโองการซึ่งไม่มีผลในการดำเนินการตามกฎหมายมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยใดๆ
ทษช. พร้อมสู้การตรวจสอบ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ร.ท.ปรีชาพลพร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติได้เดินทางมาที่พรรคด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดย ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติขอน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ มติของ กกต. ที่ไม่ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติถือว่าเป็นข้อยุติ ซึ่งทางพรรคไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ หลังจากนี้จะเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งเพื่อหาเสียงโดยจะใช้เวลาให้เร็วที่สุด
“พวกเราทำทุกอย่างจากความบริสุทธิ์ใจ ตั้งใจดี อยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดี อนาคตที่ดีให้กับประชาชน ในส่วนของการยุบพรรคเราไม่กังวล เนื่องจากเราได้ทำตามระเบียบขั้นตอนกฎหมายทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา ส่วน กกต. มีอำนาจตรวจสอบตามหน้าที่ ทางพรรคพร้อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ผมลาออกจากตำแหน่ง แต่ผมยังตัดสินใจอยู่ต่อ เพราะพวกเรามีความตั้งใจดี ปรารถนาดี ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรักประเทศ ผมคิดว่านี่คือทางออกของประเทศ แต่เมื่อมีพระราชโองการออกมาแล้วพวกเราน้อมรับ เพราะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของพวกเราคือพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์” ร.ท.ปรีชาพลกล่าว
ยุบพรรคต้องฟังทุกฝ่าย
นายพิชิต ชื่นบาน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า เหตุผลที่ให้ฝ่ายกฎหมายพรรคไปยื่น กกต. ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพราะตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ควรดูมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกอบด้วยว่า ขั้นตอนที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงนั้นจะกระทำฝ่ายเดียวมิได้ ต้องยึดหลักสากลที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญก็ให้สิทธินี้กับพรรคการเมือง โดยบัญญัติไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”
เพราะการยุบพรรคกระทบต่อพรรคและสมาชิกพรรค ฉะนั้นต้องฟังทุกฝ่าย การสรุปของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ให้กรรมการ กกต. มีมตินั้นเป็นการฟังความข้างเดียว ต้องฟังทุกฝ่าย และมีข้อสังเกตสำคัญในมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ระบุว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. ระบุ แต่ กกต. ชุดนี้เพิ่งทำหน้าที่ ถามว่า กกต. มีหลักเกณฑ์พิจารณาเรื่องนี้แล้วหรือไม่ หรือใช้หลักเกณฑ์ใดมาใช้ยุบพรรค
“พรรคจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และแจ้งให้ กกต. ทราบถึงการใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ” นายพิชิตกล่าว
อยู่จนถึงวันยุบเป็นคนสุดท้าย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค (12 กุมภาพันธ์) ถึงกระแสข่าวที่มีการยุบพรรคว่า “เห็บกระโดดที่ไหนกัน รู้สึกวาทกรรม “เห็บกระโดดตอนหมาจะตาย” ทำท่าจะฮิต อยากจะบอกแบบสบายๆว่าผมไม่คิดว่า ทษช. จะถูกยุบง่ายๆ แต่ถ้าถูกยุบจริงๆผมจะอยู่จนถึงวันยุบเป็นคนสุดท้ายเหมือนที่เคยทำมาแล้วที่ไทยรักไทยครับ”
ก่อนหน้านี้นายจาตุรนต์โพสต์เฟซบุ๊คว่าไม่ได้ไปร่วมในเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ และยังไม่ได้แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ในวันนั้น มาเห็นข่าวเพื่อนนักการเมืองพูดถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “ยิ่งกว่ามีความสุข” แล้วผมไม่สบายใจเลย ไม่สบายใจจริงๆครับ
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ในยามวิกฤตที่สุด คลื่นลมพัดเรือใกล้ล่ม คนที่ยืนหยัดจนนาทีสุดท้ายเขาคือกัปตันใหญ่จาตุรนต์ ฉายแสง”
ขณะที่สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติหลายคนได้ออกมายืนยันก่อน กกต. จะมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า ไม่ท้อถอยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่คิดว่าอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงใดๆ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล บอกกับบีบีซีไทยว่า สถานการณ์ทุกอย่างยังเป็นปรกติ พรรคทำทุกอย่างตามกฎหมาย และทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าวถึงปรากฏการณ์ 8 กุมภาฯว่า “ตอนเช้าก็ดี ทำให้คนรู้จักพรรคผมเยอะเลยนะ ส่วนตกกลางคืนก็ไม่เห็นมีอะไร” และ “ผมไม่คิดว่ามีความเสี่ยงอะไรเลยนะ คนใหม่ๆที่ไม่มีประสบการณ์อาจกังวล แต่คนเก่าที่มีประสบการณ์อย่างผม more than happy (ยิ่งกว่ามีความสุข)”
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ยืนยันว่า ไทยรักษาชาติยังอยู่ในสถานะพรรคการเมืองที่ชี้ขาดชัยชนะให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ดังเดิม โดยจะเป็นพรรคขนาดกลางหรือเล็กที่ช่วยสกัดกั้นการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายเผด็จการ และทำให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ ตามที่แกนนำพรรคเคยนิยามว่าไทยรักษาชาติคือยานพาหนะฝ่ายประชาธิปไตย “การต่อสู้บางทีก็ต้องมีกุศโลบาย เพราะเผด็จการสมัยนี้ปลอมแปลงรูปมาแล้ว ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยต้องรู้ไม่เท่าทันด้วย”
ขณะที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ทวีตข้อความ @ThaksinLive กลางดึกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า “เราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ต้องอยู่เพื่อวันนี้และอนาคต ชีวิตต้องเดินต่อไป” และข้อความในภาษาอังกฤษว่า “Chin up and keep moving forward! We learn from past experiences but live for today and future. Cheer up! Life must go on!” หมายถึงเชิดหน้าไว้ ก้าวต่อไปเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่เราอยู่เพื่อวันนี้และอนาคต เข้มแข็งไว้! ชีวิตต้องเดินต่อ”
“ปิยบุตร” ชี้ ทษช. ไม่ควรถูกยุบ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทำให้สมการการเมืองไทยเปลี่ยนไป ไม่ว่าพรรคไหนจะได้หรือเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้วิธีเจรจาแบบการเมืองเก่าไม่ได้ผล ทั้งการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมก็ไม่ควรมีพรรคการเมืองไหนถูกยุบ ทุกพรรคต้องเข้าไปแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ควรใช้กลไกใดๆเพื่อยุบพรรคหรือสกัดกั้นอะไรกันก่อน อย่าทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบเก่าที่อาศัยการชิงไหวชิงพริบหรือใช้วิธีลับลวงพราง การเมืองควรเป็นเรื่องจริงใจ คิดอะไรก็พูดแบบนั้นแล้วทำตามนั้นแค่นั้นเอง
ทั้งนี้ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีความแตกต่างในรายละเอียด เรายืนยันมาตลอดว่าเราไม่ได้เป็นพรรคในร่มเงาของพรรคใหญ่ แต่มีอัตลักษณ์และวิธีการทำงานของเราเองไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการผลักดันประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการเมือง เพราะปัญหาการเมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงไม่กี่คนอีกต่อไป แต่มีคนจำนวนมากอยู่ในความขัดแย้งเต็มไปหมด
“การเมืองแบบเดิมที่นำไปสู่การยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2549 มันมีข้อบกพร่องของมัน เราจึงเสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ที่บอกว่าไม่ต้องเอารัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหาร รวมถึงไม่ต้องเอาการเมืองแบบเก่า พรรคอนาคตใหม่จะหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. พร้อมกับสร้างการเมืองแบบใหม่ไปพร้อมกัน ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีการจัดอย่างเสรีเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯอีก เพราะว่าเสียงที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มีถล่มทลายแน่นอน” นายปิยบุตรระบุ
“ผีทักษิณ” ตามหลอกหลอน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อดังของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยว่า อาจจะต้องประสบกับภาวะแตกแยกทางการเมืองอีกครั้ง เพราะแนวคิดที่ว่าจำเป็นต้องเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งถ้าไม่ต้องการให้อดีตนายกฯทักษิณกลับมามีอำนาจได้อีก โดยขณะนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่ชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอดีตนายกฯทักษิณ ที่เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีพระราชโองการออกมา ขณะที่รัฐบาลทหารเองก็มองว่าอดีตนายกฯทักษิณถือเป็นภัยการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร
ผศ.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า “ช่วงเวลานับจากนี้ถือว่าน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังมีการแบ่งขั้วการเมืองเกิดขึ้น และฝังรากลึกลงไปยิ่งกว่าแต่ก่อน”
นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา อดีตนายกฯทักษิณรวมถึงพันธมิตรชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้ เพราะต้องเผชิญหน้ากับคำพิพากษาของศาล การรัฐประหาร การชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งถึงขั้นนองเลือด และสถานการณ์ความไม่สงบ
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบตกลงว่าจะรับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐเป็นการชี้ชัดว่าพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนรัฐบาลทหาร ผนวกกับเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มีผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาลงคะแนนมากขึ้น เพื่อไม่ให้อดีตนายกฯทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับประเทศไทย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ปัญหาและความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศไทยกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังเจอปัญหาความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภารกิจสำคัญของประเทศที่เกิดขึ้นในปีนี้ด้วย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าว (12 กุมภาพันธ์) ถึงเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาควรมีผู้รับผิดชอบหรือไม่ว่า ไม่มีความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการ สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดคนไทยทุกคนต้องระลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงให้แนวทางลงมายังรัฐบาล พระราชทานพระราโชบายว่ารัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความสุข มีทางออกทางเลือกในการทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น
“ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนอีกครั้ง อะไรที่จบแล้วก็ขอให้จบกันไป อย่าให้มีปัญหาต่อไปอีกเลย แต่วันนี้ก็ยังไม่พ้น เพราะยังมีคนโพสต์เรื่องต่างๆในโซเชียล เราต้องลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด ฝากขอบคุณสื่อมวลชนทุกสำนักด้วย ขอให้มีการปรับตัว ผมเองก็ปรับตัวด้วย นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องปรับตัว ผมไม่ได้บอกว่าใครทำดีทำเลว แต่เราต้องปรับตัวเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าหน้าด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องขอร้องทุกคน”
อินสตาแกรมส่วนพระองค์“ขอขอบคุณ…และเสียใจ…”
หลังมีพระราชโองการประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงโพสต์พระรูปผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ชื่อ “nichax” พร้อมข้อความว่า
“คนเราเกิดมาเลือกสถานที่เกิด เลือกครอบครัว เลือกพ่อแม่-ญาติพี่น้องไม่ได้ แต่เลือกเส้นทางเดินของชีวิตของตนเองต่อไปภายหน้าได้ ขอคารวะและขอขอบคุณ”
“ขอขอบคุณพวกเราคนไทยทุกๆคนสำหรับความรักและน้ำใจที่มีต่อกันในวันที่ผ่านมานี้ และขอบคุณที่ให้กำลังใจและให้ความสนับสนุนดิฉันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ขอบอกอีกครั้งด้วยความจริงใจว่าอยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้า เป็นที่ชื่นชมและยอมรับของนานาประเทศ อยากเห็นพวกเราชาวไทยทุกคนมีสิทธิและโอกาส มีความกินดีอยู่ดี มีความสุขทั่วถึงกัน และขอขอบคุณด้วยความรักอย่างจริงใจนะคะทุกคน ขออวยพรให้ทุกคนโชคดีมีความสุข” #ILoveYou
ล่าสุด (12 กุมภาพันธ์) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โพสต์ภาพและข้อความผ่านอินสตาแกรม @nichax ระบุข้อความว่า “ดิฉันเสียใจที่ความตั้งใจอย่างจริงใจที่จะมาช่วยทำงานให้ประเทศและพวกเราคนไทยก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดในยุคสมัยนี้” #howcomeitsthewayitis
สั่งปิดวอยซ์ทีวีรอลุ้นยุบ ทษช.
ปรากฏการณ์เสนอบัญชีพระนามนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นปฏิบัติการ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ด้วยกติกาของผู้ร่างเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงมาก่อน
ท่ามกลางพิธีกรรมการเลือกตั้งภายใต้ “ระบอบพิสดาร” ที่ “ของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.” เพราะ คสช. เป็นคนเขียนกติกาเอง คสช. ตีความและบังคับใช้กติกาเอง และ คสช. เป็นผู้เล่นเอง จึงเต็มไปด้วยข่าวลือข่าวลวง สารพัดเล่ห์เหลี่ยมและอภินิหารทางกฎหมายจะปรากฏหนักขึ้นๆจนทั่วโลกไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้จะบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นธรรม
ล่าสุด (12 กุมภาพันธ์) ควันข่าวการเสนอชื่อบัญชีนายกฯของแต่ละพรรคการเมืองยังไม่ทันจาง ตามด้วยข่าวการเตรียมยุบพรรคไทยรักษาชาติที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต “วอยซ์ทีวี” เป็นเวลา 15 วัน (13-27 กุมภาพันธ์) โดยระบุว่า รายการ Wake Up News และ Tonight Thailand มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงยั่วยุ ขัดกับหลักกฎหมาย เนื้อหากระทบความมั่นคงของรัฐและคำสั่ง คสช.
ที่ผ่านมาวอยซ์ทีวีถูกเรียกไปตักเตือนและลงโทษปิดบางรายการรวม 17 ครั้ง และถูกสั่งปิดทั้งสถานีมาแล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อเทียบกับมาตรฐานการลงโทษของสถานีข่าวต่างๆแล้ว วอยซ์ทีวีเสมือนถูกได้รับเกียรติจาก กสทช. มากกว่าสถานีข่าวอื่นเป็นพิเศษ
นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวอยซ์ทีวี ประกาศว่า จะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว เพราะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเรทติ้งหรือความนิยมของช่องทีวีดิจิตอล พบว่าช่องข่าววอยซ์ทีวี 21 ในช่วงที่ข่าวการเมืองร้อนแรงมีเรทติ้งพุ่งมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถแซงหลายช่องที่เป็นสถานีทีวีของรัฐ โดยเรทติ้งประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 -10 กุมภาพันธ์ 2562 ช่องวอยซ์ทีวีเลื่อนขึ้นไปติดอันดับที่ 16 จาก 25 อันดับแรก แซงช่องไทยพีบีเอสที่ได้อันดับที่ 17 ส่วนช่อง ททบ.5 อยู่อันดับที่ 23 และช่อง NBT อยู่อันดับที่ 24
สำหรับผู้ที่เป็นแฟนรายการวอยซ์ทีวีในช่วงเวลาที่ถูกสั่งปิด 15 วันนี้ สามารถรับชมได้ทางเฟซบุ๊คของ Voice TV ไปพลางๆ
ดูกร..ท่านผู้เจริญทั้งหลาย To be continued…
การใช้กลไกทางกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ “เรือแป๊ะ” เขียนขึ้นมาเองเพื่อเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” แม้จะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เขียนเองเออเอง แต่ไม่ใช่ความชอบธรรมที่มาจากเสียงคนส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากที่สังคมจะยอมรับ
การต่อสู้ทางการเมืองนับแต่นี้จะพลิกแพลงและรุนแรงมากขึ้น สุดท้าย “ทั่นผู้นำ” จะ “สืบทอดอำนาจ” ได้สมใจ หรือเกิด “แลนด์สไลด์” ฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาด ยังไม่มีใครรู้
สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้จึงยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะอะไรที่ได้ยิน ได้เห็น ได้อ่าน หรือได้ข่าว อาจเป็นได้ทั้งข่าวลวง ข่าวลือ หรือข่าวจริง! แต่เมื่อต้องอยู่ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่รับข่าวสารได้แค่ปลายฝ่ามืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ยิ่งจำเป็นต้องตั้งสติ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาข่าวลือมักจะคือข่าวจริงก็ตาม..
ดูกร.. ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขนาดลุ้นกันแทบหัวใจวายจนถึงจุดไคลแมกซ์ แต่แล้วอีก 13-14 ชั่วโมงถัดมา ยังกลับหักมุมด้วยแอนตี้ไคลแมกซ์ได้อีก!!
การเมืองพิสดารแบบไทยๆกะพริบตาแทบไม่ได้ รอชมตอนต่อไป..To be continued…!!??
You must be logged in to post a comment Login