- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ผิดที่ผิดเวลา
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 ก.พ. 62)
นโยบายปรับลดงบกองทัพ ลดกำลังพล ลดจำนวนนายพล ยังคงดีกรีความร้อนแรงทางการเมือง เพราะไม่เพียงฝ่ายการเมืองแบ่งเป็น 2 ข้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กองทัพก็โดดมาร่วมวงกับเขาด้วย ทั้งกรณี “หนักแผ่นดิน” และการตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จริงอยู่ว่าการชี้แจงทำความเข้าใจเป็นสิทธิที่กองทัพพึงกระทำได้ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองมีสิทธินำเสนอนโยบายต่อประชาชน แต่เมื่อพิจารณาสถานะความเป็นข้าราชการประจำที่ถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ การออกมาตอบโต้หักล้างนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเลือกตั้งอาจเป็นเรื่องผิดที่ผิดเวลา ทำให้ถูกมองถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง ที่สำคัญนโยบายปรับลดงบกองทัพ ลดกำลังพล ลดจำนวนนายพล หากนำเสนอแล้วทำไม่ได้ นักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
นโยบายปรับลดงบประมาณกองทัพ ปรับลดจำนวนกำลังพล ลดจำนวนนายพล ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่พรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งชูขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียง สร้างแรงกระเพื่อมมากกว่าที่คิด
แรงกระเพื่อมแรก ทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนหัวร้อนออกมาซัดนักการเมืองด้วยเพลง “หนักแผ่นดิน”
แรงกระเพื่อมถัดมา ทำให้พรรคการเมืองอย่างน้อย 3 พรรคคือ พรรคไทยศรีวิไลย์ออกมาเสนอนโยบายตรงกันข้าม ให้เพิ่มกำลังพลกองทัพอีก 1 ล้านนาย เพื่อให้กองทัพมีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังออกลูกกั๊กเหมือนเดิม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค บอกว่า พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายได้แต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและเหตุผล
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าและประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ช่วยยืนยันว่างบของกองทัพเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน GDP เหมือนกับทุกกระทรวง แถมคุยโวด้วยว่าที่ผ่านมามีครั้งเดียวที่กล้าปรับลดงบกองทัพ คือปีที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากวัดจากสัดส่วนต่อ GDP จะเห็นว่างบทหารไม่ได้ผิดปรกติ แถมลดลงต่อเนื่องในยุค คสช.
ส่วนพรรคพลังประชารัฐชัดเจนจากคำพูดของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ว่าไม่ขอแตะเรื่องงบประมาณกองทัพ และเห็นว่าที่ผ่านมากองทัพพยายามปฏิรูปตัวเองตลอดเวลา
ประเด็นเรื่องงบกองทัพยังสะท้อนความร้อนฉ่าจากการตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้ โดยเฉพาะจาก พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งการชี้แจงก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่นายกรณ์พูดคือเพิ่มตามสัดส่วน GDP
แม้ช่วงต้นอาจดูเป็นการตั้งป้อมตอบโต้ฝ่ายการเมืองจนทำให้เห็นความไม่เป็นกลาง เพราะเป็นการหักล้างนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง แต่ในตอนท้ายโฆษกกระทรวงกลาโหมพยายามทำให้เรื่องดูซอฟต์ลงด้วยการบอกว่ายินดีเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุผล และพร้อมพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน หากมีสิ่งใดเห็นพ้องต้องกันกองทัพยินดีรับไปดำเนินการ ซึ่งน่าจะดีกว่าการพูดผ่านสื่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม กองทัพควรต้องทำความเข้าใจบริบทของการหาเสียงเลือกตั้ง การนำเสนอนโยบายต่อประชาชน และบทบาทของกองทัพกับฝ่ายการเมืองในฐานะข้าราชการประจำกับผู้ที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารก่อน
การเสนอนโยบายเป็นสิทธิที่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่เมื่อได้เข้ามาบริหารประเทศแล้วจะทำได้ตามที่ประกาศนโยบายไว้หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
แม้การชี้แจง การทำความเข้าใจของกองทัพเป็นสิทธิที่ทำได้เช่นเดียวกัน แต่การที่ฝ่ายข้าราชการประจำออกมาตอบโต้หักล้างนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเลือกตั้งอาจเป็นเรื่องผิดที่ผิดเวลา หรือจะเรียกว่าล้ำเส้นก็คงไม่ผิดนัก
You must be logged in to post a comment Login