- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ทายสิ(หนัก)กี่โล?
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562)
“ก็ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน”
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวตอบสั้นๆกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยและหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ปราศรัยเสนอนโยบายตัดงบกลาโหม 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
กลับกลายเป็นพาดหัวใหญ่ของทุกสื่อ และเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” กระแสในสื่อโซเชียลก็พุ่งกระฉูด จนทำให้ “#หนักแผ่นดิน” พุ่งทะยานไต่อันดับ 1 ทวิตเตอร์เมืองไทยเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ได้ย้อนถามผู้สื่อข่าวถึงการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหาเสียงขณะนี้ว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้” แต่ผู้สื่อข่าวตอบไม่ถูก จึงหันมาพูดสั้นๆว่า “ก็เพลงหนักแผ่นดินไง”
สั่ง ทบ. เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน”
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ได้สั่งการให้กรมกิจการพลเรือนทหารบกเปิดเพลงในสถานีวิทยุกองทัพบกที่มี 126 สถานีทั่วประเทศ ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ในรายการ “ทบ.เพื่อประชาชน” และเวลา 12.00 น. ในรายการ “รู้รักสามัคคีทำความดีเพื่อแผ่นดิน” พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับเสียงตามสายภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ด้วย โดยให้เปิดเพลงในช่วงเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังพลอยู่ระหว่างพักกลางวัน เพื่อให้ทหารทุกคนตระหนักในการทำหน้าที่ของตัวเอง สำนึกถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง อีกทั้งที่ผ่านมามีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำข้อมูลที่บิดเบือนมาโจมตี เพื่อสร้างความเข้าใจผิดกับการปฏิบัติงานของรัฐบาลและกองทัพ โดยสั่งการให้หน่วยงานต้องชี้แจงผ่านสื่อในสังกัดและหน่วยงานของตนเองอย่างรวดเร็ว
ภายหลังมีรายงานข่าวจากกองทัพบกว่า พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้สั่งให้เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ใน บก.ทบ. และสถานีวิทยุ ทบ. 126 สถานี เพราะเกรงว่าประชาชนจะแตกตื่นและเข้าใจผิด แต่ให้เปิดเพลงภายใน บก.ทบ. ที่ปรกติเปิดอยู่แล้วช่วงเช้า เที่ยง และเย็นเลิกงานคือ เพลงเราสู้ รักกันไว้เถิด สยามานุสติ หนักแผ่นดิน มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า และเกิดเป็นไทย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ว่า กองทัพวางตัวเป็นกลาง จะยืนเคียงข้างประชาชน และที่เคยพูดไว้แล้วว่าอย่าล้ำเส้น ซึ่งคำนี้มีความหมายอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ในกติกาของตนเอง อย่าล้ำเส้น แต่ในตอนท้ายกลับขอให้กำลังพลสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ได้เสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาเสียของ ไม่ควรต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่
ตัดงบกลาโหมปีละ 20,000 ล้าน
ที่มาของวลี “ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน” เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงนโยบายการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิด 3 มาตรการ โดยหนึ่งในนั้นคือยกเลิกการเกณฑ์ทหารและตั้งกองทุนสร้างเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่หรือสร้างเถ้าแก่ใหม่ ให้ผู้สนใจมาเข้าค่ายการทำธุรกิจ สร้างตัวเองให้เป็นเจ้าของกิจการ โดยจะเจียดงบของกระทรวงกลาโหม 10% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะสามารถสร้างนักธุรกิจได้ประมาณ 20,000-30,000 คนต่อปี และรัฐจะสนับสนุนกองทุนกู้ยืมให้ รวมทั้งรัฐอาจจะร่วมลงทุนและเชิญชวนแหล่งลงทุนจากทั่วโลกมาร่วมลงทุน
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงการตัดงบกลาโหมว่า ขอให้ทหารมาช่วยกันสร้างเด็กรุ่นใหม่ สร้างชาติไปด้วยกัน ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ต้องให้ 200,000 ล้าน ถึงจะไม่หนักแผ่นดิน?
เมื่อเกิดวาทกรรม “หนักแผ่นดิน” จาก พล.อ.อภิรัชต์จนกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ได้โพสต์เฟซบุ๊ค (18 กุมภาพันธ์) ตอบโต้ พล.อ.อภิรัชต์ว่า รู้สึกเป็นห่วงวิธีคิดของ ผบ.ทบ. ที่ถือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับคนที่เสนอตัวมาเป็นตัวแทนประชาชนตามครรลองประชาธิปไตยแบบไร้เส้น ทั้งที่โดยสถานะ ผบ.ทบ. ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
ถ้าจะต้องให้บอกว่าจะเพิ่มงบให้กลาโหมจากแสนกว่าล้านบาทเป็นสองแสนกว่าล้านบาทแบบที่รัฐบาลนี้ทำจึงจะเป็นคนไม่หนักแผ่นดินในสายตา ผบ.ทบ. ดิฉันจะขอยืนยันในความถูกต้องที่เสนอขอปรับลดงบกลาโหมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสกับปัญหาปากท้อง และในเวลานี้ยังไม่ปรากฏภัยคุกคามทางความมั่นคงของประเทศถึงขั้นต้องใช้กำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์มากไปกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ดิฉันขออนุญาตพูดอีกครั้งหนึ่งเผื่อผู้มีอำนาจจะฟังบ้าง เราเสนอให้ลดงบประมาณลงเพียง 10% ในส่วนที่ใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เราเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องซื้ออย่างมากมายในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศแย่อย่างทุกวันนี้ จากภาวะเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กระทบอาชีพต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนคนไทยและเด็กรุ่นใหม่
งบประมาณที่ขอแบ่งมา 10% เป็นจำนวนเพียง 20,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดกว่า 200,000 ล้านบาท ทหารและงบประมาณทหารมีความจำเป็น แต่ควรใช้เท่าที่จำเป็นและใช้ให้มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนากำลังพลและศักยภาพของกองทัพ การเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจจะเป็นการพัฒนาบุคลากรที่เข้ารับราชการทหาร เพราะเข้ามาด้วยความเต็มใจก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งใช้งบประมาณน้อยกว่า
การขอแบ่งงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพียง 10% จะไม่กระทบการดูแลรายได้และสวัสดิการของกำลังพล ตรงกันข้ามเราควรจะสนับสนุนเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สมกับเป็นเหล่าทหารกล้าที่เสียสละ
“โดยส่วนตัวดิฉันชื่นชมทหารที่เป็นทหารอาชีพ เพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้เสียสละในการปกป้องอธิปไตยของชาติ และสนับสนุนให้ทหารอาชีพเหล่านี้ได้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ดิฉันไม่ชื่นชมทหารที่มาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชน”
ปลุกกระแสขวาพิฆาตซ้าย
ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวพร้อมเพลง “หนักแผ่นดิน” ว่า “มิได้จะพูดถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด มิได้ชี้นำแต่อย่างใด แค่จะบอกว่าเพลงนี้แต่งมาสี่สิบกว่าปีแล้ว (ลูกหลานบางคนยังไม่เกิด) ร้องกันมาหลายเวอร์ชั่น แต่พอได้ยินอีกครั้ง ทำไมเนื้อร้องช่างเข้ายุคเข้าสมัยกับปัจจุบันจังเลย”
จากข้อมูลเพลง “หนักแผ่นดิน” แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก ในการต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในช่วง พ.ศ. 2518-2523 ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ขับร้องโดย ส.อ.อุบล คงสิน และศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ชื่อเพลงถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ชื่อ “หนักแผ่นดิน” กำกับโดยสมบัติ เมทะนี นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และนัยนา ชีวานันท์
ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายให้ความรู้ผ่านทวิตเตอร์ prajak kong ว่า เพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงที่ขบวนการฝ่ายขวาใช้ปลุกระดมความเกลียดชังต่อนักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมหลัง 14 ตุลาคม 2516 การปลุกระดมทำผ่านวิทยุของหน่วยความมั่นคง กองทัพและสื่อฝ่ายขวา จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมสังหารหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง
ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เพลงหนักแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของสงครามความคิดก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในขณะนั้นสังคมไทยมีการต่อสู้ทางความคิดทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เพลงหนักแผ่นดินกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกันเองในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา
“เพราะบทเพลงทำให้มีผลทางจิตใจให้กลายเป็นศัตรูทางการเมือง เพลงแบบนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง การหยิบยกเพลงนี้ขึ้นมาก็อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง และกลายมาเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ควรจะโต้แย้งด้วยเหตุและผล”
ดร.บุญเกียรติกล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ควรอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นของกองทัพในการคงหรือใช้งบประมาณทางทหารมากกว่าการตอบโต้ด้วยการแนะนำให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน กองทัพควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ยิ่งช่วงการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต่อสู้กันในเชิงนโยบายที่แตกต่างกันเพื่อให้ประชาชนเลือก “การต่อสู้ทางการเมืองในเชิงนโยบาย คนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่การสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในคนไทยด้วยกัน”
เพลงใช้ฆ่าศัตรู
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า การกลับมาของเพลงหนักแผ่นดินคือภาพสะท้อนของกระแสขวาจัดในสังคมไทย เพลงนี้เดิมใช้ในการขับไล่ กีดกัน และสร้างความรู้สึกให้มองว่าพวกคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ไทย เป็นพวกอันธพาล คอยจะทำลายชาติ สถาบันกษัตริย์ และความเป็นไทย (ประเพณีไทย)
พูดอีกแบบเพลงนี้คือเพลงที่ใช้ฆ่าศัตรู ใครถูกไล่ให้ไปฟังก็คือศัตรู วิธีที่ไล่คนไปฟังเพลงแบบนี้นับว่าเก่ามาก เป็นวิธีเล่นการเมืองแบบสร้างให้เกิดศัตรู เพราะเป็นอันตรายต่อคนในสังคมที่ต้องการความสมานฉันท์และร่วมเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
ทหารแตะต้องไม่ได้
นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จะเดินหน้าแคมเปญปฏิรูปกองทัพ โดยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ปรับลดจำนวนนายทหาร และการนำที่ดินของทหารออกมาใช้ประโยชน์ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งเสีย เหมือนทหารเป็นข้าราชการที่แตะต้องไม่ได้ การออกมาพูดของ ผบ.ทบ. เป็นการปรามให้หยุดพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ หรือหยุดพูดเรื่องการปรับลดงบประมาณทหาร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
นายชัยเกษมกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพและลดงบประมาณทหารว่า มีพรรคการเมืองที่เห็นสอดคล้องกันในประเด็นดังกล่าว บางพรรคการเมืองเห็นด้วยเรื่องการเกณฑ์ทหารที่มีข่าวออกมามากมาย เกณฑ์ไปแล้วก็ใช้เขาผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เขาบาดเจ็บเสียหาย จริงๆคนอยากเป็นทหารมีเยอะ หากให้สมัครใจก็จะได้ทหารที่ดี และถ้าปรับปรุงสวัสดิการให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกว่านี้คนก็อยากเป็นทหาร การลดจำนวนแต่คุณภาพดีขึ้น ฝึกให้กับสถาบันทหารได้จริงๆ อย่าไปฝึกเลี้ยงไก่ ซักผ้า ล้างรถ ซึ่งไม่ใช่กิจของทหาร และยังเสื่อมเกียรติของทหารด้วยซ้ำ
ลดขนาดกองทัพหนักแผ่นดินตรงไหน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวตอนหนึ่งในรายการถามตรงๆกับจอมขวัญกรณี พล.อ.อภิรัชต์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แนะนำให้นักการเมืองไปฟังเพลงหนักแผ่นดินว่า แย่มาก เพราะเพลงหนักแผ่นดินสะท้อนอะไรหลายอย่าง เนื้อหาปลุกระดมให้คนในชาติเกลียดชังกัน และนำมาซึ่งการรัฐประหารและสังหารหมู่
เอาเพลงนี้มาพูดสะท้อนถึงคนที่พูดว่าไม่เข้าใจประชาธิปไตย พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายได้ เพราะงบประมาณทางทหารมากเกินไปทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ผบ.ทบ. ไม่มีหน้าที่มาบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ดี นอกจากไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อะไรเลยว่าเพลงนี้ทำให้คนเกลียดกัน ฆ่ากัน ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความรู้ด้านประชาธิปไตย
การลดขนาดกองทัพหนักแผ่นดินตรงไหน 3-4 ปีมานี้งบกลาโหมเพิ่ม 3-4% ต่อเนื่อง แต่งบกระทรวงศึกษาฯติดลบมาตลอด จึงต้องลดงบกระทรวงกลาโหมไปใช้ด้านอื่นและส่งเสริมทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทำร้ายหรือหาเรื่องกองทัพ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทหาร ไม่ได้ทำให้กองทัพอ่อนแอ แต่ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ ก่อนหน้านี้นายกฯประยุทธ์เคยบอกว่า ใครลดงบกองทัพจะพาไปอยู่ชายแดน แต่ตนจะแสดงให้ดูว่าชายแดนปลอดภัย ทุกวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านอยู่กันอย่างสงบ เราต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและทำมาค้าขายกันได้
นายจาตุรนต์ยังแสดงความเห็นระหว่างการแถลงข่าวการเดินหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองต่อหลังจากพรรคไทยรักษาชาติชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยุบพรรค (19 กุมภาพันธ์) ว่า ผบ.ทบ. ในฐานะข้าราชการไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่เป็นกลางได้ เพราะผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย
การที่ ผบ.ทบ. แสดงคำพูดประณามพรรคการเมืองที่มีแนวคิดตัดลดงบประมาณนั้น ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ข้าราชการที่ไม่ควรต่อว่าพรรคการเมือง เพราะท้ายสุดหากประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นก็จะต้องไปผลักดันนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตามหลักการ ผบ.ทบ. ไม่มีอำนาจคัดค้าน แม้ว่าจะใช้ตำแหน่ง ส.ว. โดยตำแหน่ง แต่ ส.ว. ไม่มีอำนาจแปรญัตติงบประมาณ ดังนั้น ผบ.ทบ. ควรประพฤติปรับปรุงตัวเสียใหม่ การให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินอาจเป็นการปลุกระดม ซึ่งสุดท้ายอาจไปจบด้วยการรัฐประหาร
เด็กเมื่อวานซืน
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จัดหนักให้ พล.อ.อภิรัชต์ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” เองก็หมดเรื่อง แถมยังย้อนว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นเด็กเมื่อวานซืน รุ่นก็ห่างกับตนตั้ง 12 รุ่น ทั้งให้ดูครั้ง รสช. รัฐประหารปี 2534 และปัญหาการฟ้องเรื่องมรดกกว่า 3,000 ล้านบาท
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังบอกว่า ครั้งมีม็อบหน้าบ้านป๋าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.อภิรัชต์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ตนต้องเข้าไปแก้จนม็อบยุติ ดังนั้น หากเลือกตนเป็นนายกรัฐมนตรีจะจัดการปฏิรูปทหาร และจะไม่มีการยึดอำนาจอีกต่อไป
เกณฑ์ทหารตอบแทนคุณแผ่นดิน
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ครม. (18 กุมภาพันธ์) ถึงการลงพื้นที่แต่ถูกมองว่าเป็นการช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงว่า คนรักก็เชียร์ คนชังก็ด่าก็แช่ง หวังว่าก่อนการเลือกตั้งบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย แต่วันนี้ยังไม่ใกล้เลือกตั้ง เกือบทุกพรรครุมด่ารัฐบาล ด่าตน ถ้าวันนี้ทำให้ปลอดภัยสงบเรียบร้อยไม่ได้ วันหน้าก็เกิดอย่างที่เคยเกิดมา นักข่าวก็ยังฟังคนบางคนที่ทำความเสียหายให้กับประเทศอยู่ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงหลายพรรคที่ชูนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและลดงบกระทรวงกลาโหมว่า หน้าที่ป้องกันประเทศไม่ใช่ทหารอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถือเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หลายคนบอกว่าวันนี้ไม่มีสงคราม แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มี อาจเริ่มจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆ ใช้อาวุธต่อกันเหมือนในอดีต เราต้องเตรียมพร้อม ไม่ใช่ถึงเวลาแล้วไปเกณฑ์มาโดยยังไม่ได้ฝึกอาวุธ ผลกระทบตามแนวชายแดนเกิดขึ้นได้ตลอดถ้าเราไม่เข้มแข็ง ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม ไม่มีเทคโนโลยีเข้าไปเสริม จะใช้คนอย่างเดียวก็ลำบาก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเสนอให้ลดงบกระทรวงกลาโหมว่า ต้องดูแต่ละกระทรวงมีงบเท่าไร ที่กระทรวงกลาโหมได้เพิ่มเพราะต้องจัดซื้อของใหม่ๆแทนของเก่าที่ชำรุดที่ใช้มานาน 20-30 ปี บางอย่างหมดอายุ ซ่อมจนไม่รู้จะซ่อมอย่างไรแล้ว ยุทโธปกรณ์ขนาดหนักต้องมี ไม่อย่างนั้นจะเทียบเคียงประเทศอื่นไม่ได้
ดังนั้น การหาเสียงเอาแต่พูดสนุกปากไม่ได้ ต้องนึกถึงประเทศชาติและความเป็นจริง วันหน้าถ้าเกิดอะไรขึ้นท่านต้องรับผิดชอบทั้งหมด อย่างภัยพิบัติ น้ำท่วม มีแต่ทหารที่ออกมาทำงานได้ ยุทโธปกรณ์ทางทหารกว่า 50% นำมาใช้ดูแลประชาชนทั้งสิ้น เก็บไว้ใช้ทางทหารอย่างเดียวเมื่อไร ถ้าไปตัดงบหมดแล้วมันพังจะทำอย่างไร มีอายุการใช้งานทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ฟังเพลงฮิต (หนักแผ่นดิน) ในช่วงนี้แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ตอบสวนกลับมาทันทีว่า “ไม่รู้ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง”
งบกองทัพเพิ่มกว่า 2 เท่า
บีบีซีไทยรายงานว่า รัฐบาลไทยเพิ่มงบประมาณด้านการทหารเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งงบด้านการทหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ชี้ว่างบประมาณทหารไทยเพิ่มจากราว 86,000 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 169,000 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงราว 200,000 ล้านบาทในปี 2556 ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อย แต่ช่วง 5 ปีถูกจับตาเพราะมีการอนุมัติงบประมาณถึง 938,000 ล้านบาท
เว็บไซต์ iLaw ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ผู้นำกองทัพมีส่วนอนุมัติงบประมาณให้กองทัพรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยปี 2557 เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 192,000 ล้านบาท ปี 2558 เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จำนวน 206,000 ล้านบาท ปี 2559 เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จำนวน 213,000 ล้านบาท ปี 2560 เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 218,000 ล้านบาท และปี 2561 เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 227,000 ล้านบาท
ทั้งการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะมีนายทหารที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะมาคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย
“หนักแผ่นดิน” เพลงตกยุค
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้นำเสนอนโยบายด้านการปฏิรูปกองทัพ กล่าวถึงกรณี พล.อ.อภิรัชต์ว่า เพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงเก่า คนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ แสดงถึงความต่างของยุคสมัย ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่เสนอให้ตัดลดงบประมาณกองทัพ โดยทยอยปรับลดลงจาก 1.5% ให้เหลือ 1.13% ของจีดีพีในที่สุด ไม่ได้ตัดทีเดียว เพื่อนำไปใช้สร้างรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนในทุกด้านให้ลืมตาอ้าปาก ไม่ได้มุ่งโจมตีกองทัพ แต่มองว่ากองทัพมีไขมันส่วนเกินมาก จำเป็นต้องรีดทิ้งเพื่อสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 พล.ท.พงศกรได้เสนอนโยบาย 9 ประการปฏิรูปกองทัพคือ
1.สถาปนาอำนาจของรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ สร้างระบบคณะเสนาธิการร่วม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกเหล่าทัพ ยกเลิกภารกิจด้านการเมืองทั้งกองทัพและ กอ.รมน. ต้องไม่เห็นกองทัพออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ใครอยากทำงานการเมืองต้องออกจากราชการทหารแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี การประกาศกฎอัยการศึก การเคลื่อนย้ายหน่วยทหาร การซื้ออาวุธ เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น
2.ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพหลักให้เป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 จึงต้องลดกำลังพลจาก 330,000 นาย เหลือ 170,000 นาย ลดนายพลลง 4 เท่า จาก 1,600 นาย เหลือ 400 นาย
3.สนับสนุนภายในกองทัพ ดูแลกำลังพลให้มีความพร้อม มีการฝึก การศึกษาอบรมให้เข้มข้น ส่วนการส่งกำลังบำรุงนำมาไว้ที่กระทรวงกลาโหมให้เป็นระบบเดียวกัน ทำให้ประหยัดงบ 10-20% และมีประสิทธิภาพ
4.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบปัจจุบัน เป็นกองทัพในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการคนมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ เพื่อการรบแบบทันสมัย ยกเลิกการฝึก ร.ด. ใครรับราชการจะมีทุนการศึกษาให้ มีการฝึกหนักและทำงานหนักจริง อย่างที่เยอรมนีใช้อาสาสมัคร จะเกณฑ์ทหารเมื่อมีสงครามเท่านั้น ส่วนสหรัฐจะฝึกตอนปิดภาคเรียนและรับราชการเหมือนนักเรียนเหล่าทุกประการ ทำให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน
5.ประหยัดงบประมาณ โครงสร้างที่เปลี่ยนนี้จะทำให้ประหยัดงบประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท การซื้ออาวุธต้องเปิดเผยและโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะการซื้อขายอาวุธในโลกไม่ใช่ความลับ เลิกวิธีการประมูลแบบปัจจุบันที่ได้ของไม่ดีแต่ราคาแพง
6.ชดเชยงบประมาณให้ทหาร เพื่อไม่ให้หมดกำลังใจในการต่อสู้ อย่างประเทศในยุโรปจะใช้งบประมาณ 2% ของ GDP โดยกระทรวงกลาโหมรวบรวมสินทรัพย์ของกองทัพทั้งหมดมาไว้ด้วยกันไม่ให้เป็นเบี้ยหัวแตก เอาสินทรัพย์ที่มีมาบริหาร
7.สวัสดิการกำลังพล ไม่ใช่เมื่อเสียชีวิตหรือพิการ ครอบครัวลำบากเพราะไม่ใช่ข้าราชการ มีประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัว
8.อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน มีเทคโนโลยีของตัวเองและขายอาวุธ ทำให้ยืนด้วยตัวเองได้
9.ยุติระบบอุปถัมภ์ เส้นสายในกองทัพ กองทัพถอนตัวออกจากเรื่องทางการเมือง กลับเข้ากรมกอง ถอนตัวออกจากคณะกรรมการต่างๆที่จะควบคุมประชาชน ทหารระดับนายพลต้องให้คณะเสนาธิการร่วมเลือกและส่งให้รัฐสภาให้การรับรองจึงจะแต่งตั้งได้ จเรทหารทั่วไปก็ต้องมาจากรัฐสภาแต่งตั้ง
พล.ท.พงศกรระบุว่า ปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน ต้องสถาปนาอำนาจพลเรือนเหนือกองทัพ สร้างกองทัพในศตวรรษที่ 21 เพื่อสามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพนานาชาติได้อย่างสง่าผ่าเผยและมีศักดิ์ศรี ประชาชนจะไม่มีความรู้สึกว่าทหารเป็นศัตรูอีกต่อไป
ควรฟังเพลง “ประเทศกูมี”
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ว่า ไม่มีใครหนักแผ่นดิน ทุกคนหนักเท่ากันบนแผ่นดินนี้ ทำงานจ่ายภาษีเหมือนๆกัน แต่ที่เรารู้แน่ๆคือ งบประมาณกองทัพหนักและเป็นภาระแผ่นดินมากเกินความจำเป็น เวลานี้เพลงหนักแผ่นดินถือว่าเชยไปแล้ว ตีตราประชาชนร่วมชาติที่เห็นต่าง ถ้าอยากฟังเพลงที่ทันสมัยควรฟังประเทศกูมีหลายๆรอบจะดีกว่า ซึ่งถึงตอนนี้เพลงประเทศกูมียอดวิวกว่า 56 ล้านวิวแล้ว
ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เกิดจากการนั่งเทียนคิดเอาเอง แต่รวบรวมมาจากความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่อยากให้เอางบประมาณที่กองทัพใช้ซื้ออาวุธมาพัฒนาประเทศที่จำเป็น เช่น ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล หรือนำมาใช้ลงทุนด้านการศึกษา เป็นต้น กองทัพมีปัญหาภายในมากมายที่รอให้แก้ไข ผบ.ทบ. ไม่ควรเอาเวลามาแทรกแซงการเมือง หรือชี้นำลูกน้องให้เลือกใครเป็นนายกฯ ประชาชนอยากเห็นกองทัพกลับกรมกอง ทำหน้าที่แบบทหารอาชีพ ไม่ใช่เป็นทหารนักธุรกิจหรือทหารนักการเมือง อย่าดึงกองทัพมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ปล้นอำนาจประชาชนคือหนักแผ่นดิน
เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค Charnvit Kasetsiri ของนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนข้อความระบุว่า นอกจากจะเรียกร้องสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมแล้ว ยังซ้อมร้องเพลงหนักแผ่นดินเดิมๆอีก คำถามที่ต้องการคำตอบคือ ประเทศไทยจะไปทางไหน (Thailand Quo vadis) แผ่นดินนี้หนักจริงๆ แผ่นดินสยามประเทศไทยนี้กำลังถอยหลังไปไกล 43 ปีสู่ 6 ตุลาคม 2519 หรือไกลกว่านั้น 46 ปีครั้ง 14 ตุลาคม 2516
ถ้าประวัติศาสตร์คือบทเรียน หรือประวัติศาสตร์คือบทไม่เรียน ประวัติศาสตร์นั้นมักจะซ้ำรอย ถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์และรอยที่ซ้ำจะพาเราไปถึงไหน ที่เลวกว่าหรือดีกว่า
“ผมอยากเชื่อว่า เมื่อเลวได้สุดๆก็จะกลายเป็นกาลียุคทั้งแผ่นดิน ดังเรื่องราวของ 3 เทพคือ อิศวร ศิวะ นาฏราช ร่ายรำทำลายล้างทุกสิ่งให้สิ้นซาก เพื่อให้พระวิษณุนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์หลับไหลอยู่ปล่อยดอกบัวออกมาจากพระสะดือ แล้วพระพรหมก็จะปรากฏกายสร้างโลกสร้างยุคสมัยใหม่ ลองไปขึ้นปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ไปดูทับหลังที่กลับมาจากชิคาโกสิ” นายชาญวิทย์ระบุ
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ @sunaibkk ว่า ที่หนักแผ่นดินคือเผด็จการที่ปล้นอำนาจประชาชน โค่นล้มระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมหนักแผ่นดินเป็นเครื่องมือที่เผด็จการทหารใช้ปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายประชาธิปไตยจนนำไปสู่การสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯมาแล้ว
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ @nuling ว่า ก่อนจะดีเบตเรื่องเพลงหนักแผ่นดิน เราต้องเริ่มต้นจากคำถามนี้ก่อนว่า แผ่นดินนี้ของใคร
ส่วนนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น พิธีกรและนักจัดรายการ ระบุผ่านทวิตเตอร์ @johnwinyu ว่า คำพูดของ ผบ.ทบ. เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าทหารไทยไม่รู้จักหน้าที่ตัวเอง ไม่สนใจสถานะและความรับผิดชอบของตัวเอง เป็นเหตุของความพินาศของประเทศไทยจนทุกวันนี้ ก็ควรปฏิรูปกองทัพ ลดขนาด ลดงบให้สิ้น
กองทัพขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่สนใจและศึกษาด้านการทหารมายาวนาน เคยให้สัมภาษณ์ thematter ว่า ไม่มีประเทศไหนทำรัฐประหารใกล้กัน 2 ครั้งเหมือนประเทศไทย มีเพียง 3 ประเทศในเวทีโลกที่รัฐประหารซ้ำใกล้ๆกัน นอกจากประเทศไทยคือฟิจิ และบูร์กินาฟาโซ
เราเตรียมกองทัพขนาดใหญ่สำหรับสงครามขนาดใหญ่เกือบทั้งสิ้น ทั้งการซื้อรถถังใหม่ เรือดำน้ำ หรือแม้แต่การปรับกฎหมายให้มีการเกณฑ์กำลังพลขนาดใหญ่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรองเป็นคำตอบชัดกว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อีก เพราะเท่ากับว่าผู้นำทหารมีจินตนาการเหมือนยุคเก่า คืออยากมีกองทัพขนาดใหญ่ ทั้งที่คำตอบในโลกปัจจุบัน โจทย์ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มีสงครามโดยตรง เพราะถึงจะมีสงครามมันก็ไม่อยู่ในรูปลักษณ์แบบเดิม
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวถึงการเกณฑ์ทหารว่า การเตรียมกำลังพลเพื่อรองรับสถานการณ์สงครามในอนาคต ถามว่าต้องเตรียมไหม ต้องเตรียม จะบอกเลิกทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คำถามคือเราจะเตรียมยังไง ทุกวันนี้สงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดไปแล้ว กฎหมายกำลังพลสำรองกลับมีทิศทางขยายมากขึ้น เรากลับไปหาตัวแบบเก่า คือการมีกองทัพขนาดใหญ่ ขณะที่กองทัพทั่วโลกพยายามจะลดขนาดลง แล้วเอาเงินไปใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างระบบชีวิตภายในกองทัพ
ศ.ดร.สุรชาติกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพว่า ทั่วโลกไม่ได้มาจากฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองต้องเป็นฝ่ายเริ่มขับเคลื่อน แล้วฝ่ายทหารปรับเพื่อเดินไปทิศทางเดียวกัน ถ้าจะปฏิรูปกองทัพได้ต้องปฏิรูปการเมือง ถ้าจะปฏิรูปการเมืองได้ต้องปฏิรูปกองทัพ
ส่วนคำถามที่ว่าทหารมีไว้ทำไม ศ.ดร.สุรชาติให้คำตอบง่ายๆว่า ทหารมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ ไม่ว่าชอบหรือไม่ ไม่ว่ามีจุดยืนอย่างไร คำตอบนี้ตรงไปตรงมา ไม่ว่าประเทศจะอยู่ระบบการเมืองอย่างไรเรายังต้องมีกองทัพ ถ้าพูดด้วยภาษาทฤษฎี ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือ Modern Democracy ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองทัพ แต่โจทย์ใหญ่คือเราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาธิปไตย หรือระหว่างกองทัพกับการเมืองในโลกสมัยใหม่อย่างไรต่างหาก
ความล้าหลังการเกณฑ์ทหาร
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความใน prachatai หัวข้อ “ความล้าหลังการเกณฑ์ทหาร” ว่า แทนที่ผู้นำกองทัพจะกระทำการหลงยุค โหมกระหน่ำเปิดเพลงประณามผู้ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่าเป็นพวกหนักแผ่นดิน น่าจะใช้กำลังพลที่มีอยู่ช่วยกันค้นหาคำตอบว่า ทำไมในปัจจุบันราว 90 ประเทศทั่วโลกจึงยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว จะเกณฑ์ได้เฉพาะภาวะฉุกเฉินหรือภาวะสงครามเท่านั้น ในจำนวนนี้มีทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา
ผู้คนในหลายประเทศเห็นตรงกันว่าการบังคับเกณฑ์ทหารคือระบบเผด็จการที่รัฐบังคับใช้กับประชาชน ประเทศที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยไม่ควรมีระบบนี้อีกต่อไป รัฐจึงต้องหาทางปรับตัว-ปรับปรุงกองทัพให้รับมือกับคุณค่าในสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย
ในสหรัฐอเมริการะบบเกณฑ์ทหารยกเลิกไปนับแต่สงครามเวียดนาม อันเป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวทั่วประเทศตั้งคำถามกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลว่ากำลังละเมิดรุกรานประเทศอื่น พร้อมๆกับละเมิดสิทธิของประชาชนของตนอยู่หรือไม่ เป็นยุคที่การถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ทั้งสิทธิพลเมือง คนผิวสี เพศสภาพ ฯลฯ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าระบบที่ให้คนสมัครใจมาเป็นทหารนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบบทหารเกณฑ์ที่มีปริมาณแต่ขาดคุณภาพ สิ้นเปลืองงบประมาณกับความด้อยคุณภาพของกองทัพ เพราะคนที่ถูกบังคับเกณฑ์ 2 ปีแล้วออกจะไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการรบอย่างเชี่ยวชาญเท่าคนที่ตั้งใจมาเป็นทหารอาชีพและอยู่กับกองทัพยาวนานกว่า งานวิจัยพบว่าเมื่อขนาดของกองทัพเล็กลงจะทำให้รัฐต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังพลแต่ละคนให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ข้อสำคัญการรบสมัยใหม่อาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่มากกว่ากำลังทหารราบที่เทอะทะแต่ขาดความเชี่ยวชาญในการรบ
การยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารแต่ยังรักษาศักยภาพของกองทัพไว้ได้ต้องประกอบด้วยมาตรการหลายๆอย่างควบคู่กันไป รวมทั้งวิธีคิดของผู้นำกองทัพด้วย กล่าวคือ ต้องไม่มองว่าคนที่สมัครมาเป็นทหารคือพลทหารชั้นต่ำในกองทัพ เช่น ถ้าไม่มีการรบก็เอาไปทำงานบ้านนายพลแทนก็ได้ เป็นต้น แต่ต้องมองว่ากองทัพคือระบบที่รับคนเข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะต่างๆเพื่อทำให้กองทัพเข้มแข็ง คนที่จบปริญญาตรี-เอกในสาขาต่างๆก็สมัครได้ เพราะกองทัพยุคใหม่ต้องมีความรู้หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศอื่นๆ นโยบายต่างประเทศ ลักษณะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เป็นต้น (จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยบรรยายให้กับนายทหารระดับสัญญาบัตร พบว่าพวกเขามีความรู้ในเรื่องเหล่านี้จำกัดมากๆ) ในสหรัฐอายุของคนที่สมัครเข้ามาเป็นทหารแต่ละหน่วยจะหลากหลาย เช่น กองทัพอากาศสมัครได้ถึงอายุ 39 ปี
แม้จะเป็นการรับสมัคร แต่ก็ต้องมีการทดสอบความรู้และความสามารถ ในสหรัฐมีระบบสอบเข้ากองทัพที่ดูความสามารถ 4 ด้านเป็นหลักคือ การคำนวณพื้นฐาน การอ่าน ทักษะเฉพาะด้าน (ผู้สมัครต้องกรอกว่าตนเองมีความสามารถด้านไหน และคณิตศาสตร์ (มากกว่าบวกลบคูณหารเลข)
อยากให้คนมีคุณภาพมาสมัครและอยู่กับกองทัพนานๆก็ต้องปรับปรุงคุณภาพชีวิต มีระบบเงินเดือนตามความสามารถของพวกเขา มีสวัสดิการให้กับเขาและครอบครัว โดยเฉพาะหากทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ไม่ใช่จ่ายเขาเดือนละ 9,000 บาท แล้วยังเอาไปทำงานบ้านนายพลอีกต่างหาก
งานวิจัยหลายชิ้นในสหรัฐชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้สมัคร 3 ข้อคือ 1.ระดับการศึกษา (จบมัธยมปลาย – กองทัพสหรัฐมีมหาวิทยาลัยของตนเองที่ถือว่าดีมากๆ เข้ายากมาก เรียนฟรี แต่จบมาต้องเป็นทหาร พลทหารที่จบมัธยมปลายสามารถสมัครศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยกองทัพได้) 2.คะแนนสอบเข้ากองทัพสูง 3.มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน
หลายปีที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามของนักการเมืองส่วนน้อยจากพรรครีพับลิกันพยายามผลักดันกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ที่จริงผู้นำกองทัพไทยน่าจะขอคำแนะนำจากกองทัพสหรัฐที่สนิทชิดเชื้อกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นว่าทำไมเขาเลิกเกณฑ์ทหารตั้งแต่สงครามเวียดนามยุติลง
ทายสิ(หนัก)กี่โล?
วาทกรรม “หนักแผ่นดิน” นอกจากทำให้เห็นภาพการ “สังหารหมู่” นักศึกษาและประชาชนครั้ง 6 ตุลาคม 2519 และจบลงด้วยการรัฐประหารแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าบ้านเมืองผ่านมา 43 ปี ก็ยังจมปลักกับความคิดอนุรักษ์นิยมเผด็จการที่ขุดเอา “เพลงหนักแผ่นดิน” มาข่มขู่คนที่ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปกองทัพ
แม้กระทรวงกลาโหมจะออกมาแถลงยืนยันว่า กองทัพเป็นของประชาชน และเคารพการตัดสินใจของประชาชนในวิถีประชาธิปไตย พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์เพื่อพัฒนากองทัพ
แต่กระแส “รัฐประหารซ้อน” หรือ “รัฐประหารตัวเอง” ในโลกออนไลน์ก็ยังมีอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่ผู้นำกองทัพออกมาพูดเรื่องการเมือง ทั้งที่กำลังอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง
หากการเลือกตั้งเกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดลอยขึ้นมา หรือไม่มีฝ่ายใดจัดตั้งรัฐบาลได้ และเกิดกระแสไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและ “นายกฯคนนอก” จะเกิดอะไรขึ้น?
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคมเมื่อ 43 ปีก่อน ได้แต่งบทกวีเรื่อง “หนักแผ่นดิน” บรรยายความรู้สึกส่วนตัวในเฟซบุ๊คว่า “เศร้าที่สังคมซึ่งผ่านพบประสบการณ์หฤโหดของการฆ่าหมู่อย่างบ้าคลั่งไร้สติอย่างนั้นมาแล้ว กลับร้องโหยหาเหตุการณ์อย่างนั้นอีกว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหา ข่มขู่คู่ขัดแย้งทางการเมืองให้เงียบเสียงลงได้”
การที่ผู้นำกองทัพออกมาพูดข่มขู่พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบาย “ปฏิรูปกองทัพ” และต่อต้านการสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” จึงไม่แปลกที่ “เพลงหนักแผ่นดิน” ดังกระหึ่มในกองทัพ ทั้งที่คณะรัฐประหารประกาศจะปฏิรูปประเทศ แต่กองทัพกลับแตะต้องไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้
ยุคทหารครองเมืองภายใต้การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง คำพูดของผู้นำกองทัพยิ่งถูกตั้งคำถามว่ากองทัพเป็นของประชาชนและวางตัวเป็นกลางจริงหรือไม่ ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง ปกป้องและสนับสนุนกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ขุดเอา “เพลงหนักแผ่นดิน” มาข่มขู่นักการเมืองจึงวังเวงและไม่รู้ว่าประเทศจะเดินไปสู่ระบอบอะไร จะจบแบบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาคม 2535?
ประชาชนน่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุดว่า..ใครหนักแผ่นดิน!!??
You must be logged in to post a comment Login