- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เชื่อกกต.หรือไม่?
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 22 ก.พ. 62)
การพิจารณาคดีความเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐที่ กกต. ขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอ้างว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนให้เชื่อได้ว่ากระทำความผิดเหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็มีคำโต้แย้งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีการขาดคุณสมบัติถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ “ทั่นผู้นำ” ที่มีผู้ชี้ว่ามีความชัดเจนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะไม่ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าไรก็ไม่สามารถทำให้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเปลี่ยนไปจากเดิมได้
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังนั่งทับถ่านไฟแดงๆเกี่ยวกับกรณีพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติกับพรรคพลังประชารัฐที่สังคมจับตาและนำไปเปรียบเทียบการทำงานว่าสองมาตรฐานหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องความฉับไวในการพิจารณาลงมติ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยืนยันว่า กระบวนการพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นไปตามกฎหมาย ที่รวดเร็วเพราะพิจารณาตามกฎหมายพรรคการเมืองที่บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ประธาน กกต. ยังบอกว่าจะพิจารณากรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พนักงายอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
ในขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จะใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานคำร้องยุบพรรคพลังประชารัฐอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงจะส่งให้ กกต. พิจารณาได้ ส่วนที่มองว่าช้านั้นเป็นเพราะมีความแตกต่างจากคดียุบพรรคไทยรักษาชาติที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 92 จริง กกต. จึงมีอำนาจในการพิจารณาได้ทันที ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงคำร้องที่ยื่นต่อ กกต. จึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานก่อน
เมื่อฟังความจาก กกต. กรณียุบพรรคพลังประชารัฐแล้ว ลองมาดูอีกมุมหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบว่าเหตุผลของใครมีน้ำหนักอันควรเชื่อได้มากกว่ากัน
นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ แสดงความเห็นแย้ง กกต. ได้น่าสนใจว่า คดียุบพรรคพลังประชารัฐไม่ควรล่าช้าและไม่จำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะมีความชัดเจนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
ในมุมของข้อเท็จจริง นายไทกรระบุเป็นคำถามคำตอบอย่างน่าสนใจว่า
พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคหรือไม่?
พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์จริง ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติ ไม่ต้องไต่สวน
พล.อ.ประยุทธ์มีหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อตนเองจริงหรือไม่?
พล.อ.ประยุทธ์มีหนังสือยินยอมจริง ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติ ไม่ต้องไต่สวน
สำหรับในมุมข้อกฎหมาย
พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มี 2 สถานะ สถานะที่หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง จึงไม่ขัดกฎหมาย สถานะที่สองเป็นหัวหน้า คสช. ทำให้มีคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่นตาม พ.ร.บ.ศาลปกครอง มาตรา 2 (3) และตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ทำให้คุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (12) และ (15)
การวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำจำกัดความและคำพิพากษาของศาลฎีกามีอยู่มากมาย โดยพิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นผู้ได้รับแต่งตั้ง มีตำแหน่ง มีอำนาจ มีหน้าที่ รับผลประโยชน์ ค่าตอบแทนใดๆจากหน่วยงานที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน ให้ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสิ้น
ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามองค์ประกอบการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจน
ข้อเท็จจริงตามสถานะและสภาพของ พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่จริงและไม่สามารถโต้แย้งได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนอีก แม้จะไต่สวนก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงนี้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า ข้อเท็จจริงนี้ปรับเข้ากับข้อกฎหมายแล้ว การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐชอบหรือไม่ชอบกฎหมาย
ในชั้น กกต. เป็นดุลยพินิจของ กกต. และหากขึ้นไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถวินิจฉัยได้เอง กรณีนี้จะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติโดยเร็วเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน
ทั้ง กกต. และนายไทกรต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ส่วนเหตุผลไหนมีน้ำหนักมากกว่ากันเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องพิจารณา
อย่างไรก็ตาม คำร้องให้สอบเอาผิดพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีเพียงเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติที่จะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่รอ กกต. พิจารณาให้เกิดความกระจ่างชัด ทั้งเรื่องจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุน เรื่องการเข้าเป็นหัวหน้าพรรคก่อนการเป็นสมาชิกพรรค หรือเรื่องใหญ่อย่างเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คดีความเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐไม่ว่า กกต. จะพิจารณาช้าหรือเร็วหรือมีผลออกมาอย่างไร หากไม่ทำตามสโลแกนองค์กรที่เขียนไว้อย่างสวยหรูว่า “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” ก็เป็นเรื่องที่ กกต. หนีความรับผิดชอบไม่พ้นทั้งในวันนี้และวันหน้า
You must be logged in to post a comment Login