วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภาคประชาชนค้านบริษัทเบียร์ช้างขอจดทะเบียนโลโก้น้ำแร่เหตุคล้ายโลโก้เบียร์ช้าง

On February 22, 2019

วันนี้(22ก.พ.) เวลา 10.30 ที่กระทรวงพาณิชย์  สนามบินน้ำนายคำรณ  ชูเดชา  ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา  พร้อมด้วยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์  เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต  เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน  เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กว่า 30 คน  ยื่นหนังสือถึง นายทศพล  ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ผ่านทางนางสาวสวลี  บุญชู  ผอ.สำนักเครื่องหมายการค้า  เพื่อคัดค้านการจดทะเบียน ตราสัญลักษณ์ “น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง” ซึ่งมีรูปแบบลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อ “เบียร์ช้าง”

 

นายคำรณ  กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ที่เป็นน้ำดื่ม  โซดา ทำให้กลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย  หลบเลี่ยงการควบคุมโฆษณา  ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ. 2551 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เล่ห์กลธุรกิจเพื่อหวังใช้โฆษณาแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งวิธีที่ธุรกิจน้ำเมาใช้คือ ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ เครื่องหมายการค้า ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ซึ่งเราจะพบป้ายตราเสมือนเหล่านี้เกลื่อนเมือง ทั้งในรูปแบบบิลบอร์ด แบนเนอร์  ป้ายบนตึกอาคารสูง  ป้ายตู้ไฟ  ป้ายตามร้านเหล้าผับบาร์  ตามงาน  อีเว้นท์ คอนเสิร์ตต่างๆของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายคำรณ  กล่าวว่า จากข้อมูลที่เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลงพื้นที่สำรวจการรับรู้และความคิดเห็นของเด็กเยาวชน กรณีภาพสัญลักษณ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกลุ่มตัวอย่าง1พันคน โดยแสดงภาพ10 ภาพ ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายหรือป้ายโฆษณาน้ำดื่ม โซดา พบว่า เด็กเยาวชนเข้าใจว่าภาพดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 82 นอกจากนี้ ร้อยละ 42.60 เห็นว่า การแสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าว เป็นการจงใจมีเจตนาเลี่ยงกฎหมายให้คนเข้าใจว่าเป็นโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ข้อที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39 และร้อยละ 58 เห็นว่าโลโก้น้ำดื่ม โซดาที่คล้ายคลึงเครื่องดื่ม มีผลทำให้จูงใจให้ผู้พบเห็นตัดสินใจซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม ขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่อง “การรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแบรนด์ DNA และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน” โดย ดร.บุญอยู่  ขอพรประเสริฐ  คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก  สำรวจกลุ่มตัวอย่าง15 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 80 มีความเข้าใจว่า ป้ายโฆษณาเครื่องหมายการค้าน้ำดื่ม โซดา เป็นตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

​ด้านนายชูวิทย์  จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งสองค่าย  ต่างหันมาใช้การโฆษณาฉ้อฉลแบบนี้เหมือนกันทั้งสองค่าย เพราะเขาเห็นแล้วว่าในด้านการรับรู้สร้างการจดจำได้  ไม่ต่างอะไรไปจากการใช้ตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณาเลย    สำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนว่า“น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง” นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับ เครื่องหมายการค้า ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทำให้สับสนหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า ประชาชนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะว่า ป้ายโฆษณาเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเป็นจำพวกน้ำดื่ม น้ำแร่ ไม่ใช่ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2524 มาตรา 8 (13) ซึ่งถือว่าขัดวัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้าที่ต้องการให้แยกแยะชนิดของสินค้าหรือบริการ อีกทั้งยังเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  เนื่องจากผู้ยื่นคำขอหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา32 ซึ่งห้ามการโฆษณาหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

“ดังนั้นการยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าว  จึงไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า  และนายทะเบียนจะต้องเพิกถอนคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา30  ที่ผ่านมาจากการอนุญาตของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สร้างปัญหามากมาย  เพราะมีตราเสมือนแบบเดียวกันนี้ถูกธุรกิจน้ำเมานำไปใช้ในทางฉ้อฉล ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมเองต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย มิใช่สักแต่อนุญาตโดยไม่ดูว่าปัญหาที่จะตามมาคืออะไรและจะสร่างปัญหากับกฎหมายอื่นแค่ไหน” นายชูวิทย์  กล่าว

2

3

4


You must be logged in to post a comment Login