วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เกษตรกรกว่า3หมื่นรายขอบคุณ3กระทรวงฯไม่แบนพาราควอต

On February 22, 2019

เกษตรกร 3 หมื่นราย ขอบคุณ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุข สำหรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นชอบมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส จนกว่าจะมีสารทดแทนหรือนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลที่ดีกว่า และไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนคณะเกษตรกร3 หมื่นราย เปิดเผยว่าเกษตรกร5.7 ล้านครัวเรือน หรือ 25 ล้านคนมีความยินดีดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐกำหนดโดยยึดหลักพื้นฐานความจริงที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพทุกคน และสิ่งแวดล้อม ในด้านความปลอดภัย ด้วยประสบการณ์ตรงของครอบครัว และคนใกล้ชิดภาคการเกษตร ตลอดระยะเวลา 50 ปี ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากพาราควอตตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ทั้งเนื้อเน่า พาร์กินสัน ขี้เถาในทารก มะเร็ง หรือต่าง ๆ สอดคล้องกับ ผลการประชุมของกลุ่มนักวิชาการและแพทย์จำนวน 15 รายเกี่ยวกับผลกระทบพาราควอตในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นประธาน ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า สารกำจัดวัชพืชพาราควอตที่เกษตรกรไทยได้นำมาใช้ “เป็นประโยชน์”ถ้านำไปใช้ตรงจุดประสงค์และปฏิบัติถูกต้องตามข้อแนะนำ หากใช้ผิด ก็ไม่ต่างไปจากสารพิษที่แพทย์นำไปใช้บำบัดโรคและรักษาผู้ป่วย พาราควอตก็ยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยต่อไปจนกว่าจะมีสารกำจัดวัชพืชที่ดีกว่ามาใช้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้านระบาดวิทยาประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2559 พบว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่าการสัมผัสพาราควอตมีส่วนสัมพันธ์กับพาร์กินสัน และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540, 2546, 2549 และ 2555 พบว่า พาราควอต ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ไม่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ไม่มีผลต่อระบบประสาท ไม่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไม่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส และไม่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องสอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์กรอนามัยโลก และการศึกษาภายในประเทศไทยของโดยแพทย์ในหลายสถาบัน รวมทั้งมีรายงานจากหน่วยงานของออสเตรเลียว่ามีการใช้พาราควอตในอีก 80 ประเทศ

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดมาทดแทนพาราควอตได้ และสารชีวภัณฑ์บางยี่ห้อที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง และมีการผสมของสารเคมี ไม่ได้เป็นสารธรรมชาติตามที่กล่าวอ้าง โดยมีผลการตรวจสอบล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากกรมวิชาการเกษตร จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ตรง ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ จึงได้ตัดสินใจ ไม่ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ในขณะที่ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ นั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน”

“สุดท้ายนี้ อยากให้ผู้ต่อต้านพาราควอต รณรงค์ยกเลิกห้ามจำหน่ายบุหรี่และสุราในประเทศไทย เพราะอันตรายมากกว่าพาราควอต 300 เท่า ซึ่งมีการเสียชีวิตจากบุหรี่ต่อปีมากกว่า 100,000 ราย” นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login