- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
โรคในออฟฟิศ
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : รศ.นพ.ศุภชัย รัตนมณีฉัตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562)
ในปัจจุบันมักจะพบเห็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานในออฟฟิศหรือสำนักงานโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการหรือเอกชน และตามบริษัทห้างร้านต่างก็มีให้เห็นอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มากมายเหลือคณานับ อย่างไรก็ตาม การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆโดยมิได้พักผ่อนเท่าที่ควร พฤติกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายขึ้นได้ โรคที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ได้แก่
1.กลุ่มอาการทางตาจากคอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome : CVS)
เป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับสายตาและการมองเห็น
สาเหตุ เกิดจากการใช้สายตามองจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้มีผลต่อดวงตา รวมถึงรังสีที่แผ่ออกมาที่บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์อีกด้วย
อาการ อาจจะรู้สึกแสบตา ไม่สบายตา เกิดอาการระคายเคืองตา เจ็บตา ตาพร่าจากการจ้องมองที่ไม่ค่อยกะพริบตา เป็นผลให้มีอาการตาแห้ง ซึ่งเป็นอาการเพียงชั่วคราว แต่หากเป็นอยู่บ่อยๆและนานขึ้นอาจจะเกิดอันตรายได้ เช่น กระจกตาอักเสบแห้ง มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสายตาสั้นชั่วคราวประมาณร้อยละ 32 นอกจากนี้อาจจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่ ปวดหลัง จากการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมร่วมด้วย
การรักษา อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ่อยๆ หรือยาหยอดตาชนิดที่ยับยั้งการคั่งของเลือดบริเวณตา
การป้องกัน
-ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากจะทำให้สายตาเกิดความเมื่อยล้า ฉะนั้นจำเป็นต้องพักสายตา เช่น หลับตาทุก 10 นาทีต่อการทำงาน 1 ชั่วโมง หรือพักทุก 15 นาทีต่อการทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง เป็นต้น ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องนานเกิน 2 ชั่วโมงติดต่อกัน พบว่ามีอาการ CVS ร้อยละ 88
-ควรจัดสถานที่ตั้งคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะ โดยเฉพาะจอภาพ แป้นพิมพ์ และที่วางเอกสาร เป็นต้น จะช่วยให้สบายตา หรืออาจใช้หลอดไฟโซเดียมเพื่อให้แสงสว่าง
-ควรใช้แผ่นกรองแสงเพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จะช่วยลดความล้าของสายตาลงได้
2.กลุ่มอาการปวดข้อ (Carpal Tunnel Syndrome : CTS)
เป็นกลุ่มอาการของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดอาการของโรคกระดูกข้อมือเจ็บปวด ข้อกระดูกนิ้วมือเสื่อม และชา
สาเหตุ เกิดจากการกดแป้นพิมพ์และการใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การจับเมาส์โดยมีข้อมือเป็นจุดหมุน อาจเกิดพังผืดบริเวณข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการชาจนไม่สามารถหยิบของได้
การรักษา หากเริ่มมีอาการอาจต้องรับประทานยาแก้ปวด และหยุดการเคลื่อนไหวโดยการพักข้อมือ อาการก็อาจทุเลาลงได้ และจะหายไปในที่สุด หากปวดบวมให้รับประทานยาระงับปวด และอาจต้องสวมอุปกรณ์ประคองมือเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ หรือฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าบริเวณข้อมือเพื่อลดการอักเสบโดยตรง ส่วนในรายที่เป็นมานานอาจจำเป็นต้องผ่าตัดจึงจะได้ผลดี
การป้องกัน
-ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
-ควรจัดวางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตัวพอดีกับแขนที่จับเมาส์และแป้นพิมพ์ให้สบายๆ ไม่เหยียดหรืองอข้อมือเกินไป
-ขณะปฏิบัติงานพิมพ์บนแป้นพิมพ์ ควรจัดให้ท่อนแขนวางอยู่ในแนวขนานกับพื้น
-ควรมีแผ่นรองข้อมือมาวางเมาส์ จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือได้อย่างมาก
-การเคลื่อนไหวขณะนั่งปฏิบัติงานจะต้องให้ถูกลักษณะท่าทาง ไม่เอี้ยวตัวไปมามากเกินไป หากหยิบจับสิ่งของจำเป็นต้องออกแรงทั้งมือและนิ้ว
ข้อเสนอแนะ
การปรับอุปกรณ์สำนักงานให้ถูกต้องเป็นวิธีการป้องกันอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการเจ็บป่วย ซึ่งมีผลมาจากการเคลื่อนไหวและการวางตำแหน่งของสรีระในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง โดยมีแนวทางการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆให้ถูกต้องดังนี้คือ
1.เก้าอี้ ควรเป็นขนาดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ขอบด้านหน้าของเบาะนั่งควรมีลักษณะโค้งเพื่อให้มีพื้นที่ว่างระหว่างด้านหน้าของเบาะกับด้านหลังของหัวเข่า ความสูงของเบาะและพนักพิงจะต้องปรับได้ สะโพก หัวเข่า และข้อเท้า ควรทำมุมอย่างน้อย 90 องศา พนักพิงจะต้องสัมผัสกับแผ่นหลังโดยสมบูรณ์ และที่เท้าแขนสามารถช่วยพยุงแขนขณะใช้แป้นพิมพ์
2.จอภาพ ควรอยู่ตำแหน่งตรงหน้าผู้ใช้ จัดให้ห่างจากผู้ใช้อย่างน้อย 3 ฟุต (ยิ่งห่างยิ่งดี) จอภาพควรอยู่ระดับต่ำกว่าระดับสายตา 5 นิ้ว หรือประมาณ 10-20 องศา และสามารถปรับความสูงของจอภาพได้ด้วยแท่นวางปรับมุมเงยของจอภาพ เพื่อลดแสงจ้าหรือแสงสะท้อนจากดวงไฟเหนือศีรษะหรือหน้าต่าง นอกจากนี้ควรใช้จอที่กรองแสงเพื่อป้องกันแสงจ้าและรังสีต่างๆ
3.แป้นพิมพ์และเมาส์ ควรวางตำแหน่งของแป้นพิมพ์และเมาส์ในระยะห่างและความสูงที่พอเหมาะ ปล่อยแขนตามธรรมชาติและให้ข้อศอกอยู่ใกล้ตัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดมุมที่เหมาะสมระหว่างข้อศอกและข้อมือ
4.ถาดวางแป้นพิมพ์และเมาส์ ควรมั่นคงแข็งแรงและปรับได้ในหลายลักษณะของการใช้งานที่เหมาะสม แต่ยังคงให้ข้อมืออยู่ในตำแหน่งตรงกลาง และสามารถวางที่พักข้อมือได้
5.แป้นหนีบเอกสาร จะต้องอยู่ระดับเดียวกันและใกล้จอคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุด จะช่วยให้คออยู่ในตำแหน่งตั้งตรง ซึ่งจะช่วยลดการเคลื่อนไหวของศีรษะและลดความเครียดของกล้ามเนื้อตา
6.ที่พักข้อมือ จะต้องปราศจากขอบที่แข็งหรือคม โดยมีหน้ากว้างเพียงพอแก่การพยุงข้อมือและฝ่ามือ
7.ที่วางเท้า ควรมั่นคงแข็งแรง สามารถปรับความสูงได้ ไม่ลื่น และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะให้ความสะดวกสบายขณะวางเท้า
8.โคมไฟ ให้แสงสว่างที่เพียงพอแก่การมองดูเอกสาร นิยมแสงแบบอุ่นจะช่วยลดแสงกระจายและสายตาเมื่อยล้า โดยปราศจากแสงจ้าบนเอกสารหรือบนจอคอมพิวเตอร์
คำแนะนำเหล่านี้จะช่วยลดอาการต่างๆที่เกิดจากการทำงานได้ หากยังมีอาการอยู่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
You must be logged in to post a comment Login