วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิวาห์ทั่งตีเหล็ก

On February 22, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  22  กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม  2562)

เมื่อ 200 กว่าปีก่อน การที่คู่รักในอังกฤษจะแต่งงานกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีกฎระเบียบและข้อบังคับมากมาย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายมหาศาล คู่รักที่ต้องการหลีกเลี่ยงอุปสรรคเหล่านั้นจึงแอบพ่อแม่พากันข้ามพรมแดนไปแต่งงานอย่างเรียบง่ายตามแบบวิถีชีวิตของชาวสกอต

แรกเริ่มเดิมทีนั้นคนอังกฤษแต่งงานกันอย่างง่ายๆด้วยการป่าวประกาศให้ญาติๆทั้งสองฝ่ายได้รับรู้ก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1750 คริสตจักรแห่งอังกฤษกำหนดกฎระเบียบบังคับให้คู่รักที่ต้องการแต่งงานกันมาประกอบพิธีวิวาห์อย่างเป็นทางการที่โบสถ์เท่านั้น

คู่รักจะต้องป่าวประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนถึงวันประกอบพิธีวิวาห์ เผื่อว่ามีคนต้องการคัดค้านการแต่งงานอันอาจเกิดจากเหตุผลต่างๆ เช่น คนใดคนหนึ่งยังมีสถานภาพสมรสอยู่ หรือคู่สมรสนับถือต่างศาสนา หรือคู่สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคู่รักบางคู่จะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของคริสตจักรแห่งอังกฤษ แอบไปแต่งงานกันต่างเมืองที่ไม่เข้มงวดในเรื่องกฎระเบียบ เรียกว่าการลักลอบแต่งงาน หรือการแต่งงานที่ไม่เป็นไปตามระเบียบประเพณี แต่ทางกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการแต่งงานโดยสมบูรณ์

มีมากมายหลายเหตุผลที่ทำให้คู่รักจำนวนมากลักลอบแต่งงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของคริสตจักรแห่งอังกฤษ เช่น หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธี ค่าใช้จ่ายในการป่าวประกาศให้สาธารณชนได้ทราบ ไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง หรือท้องก่อนแต่ง

นักบวชที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีวิวาห์แบบลักลอบแต่งงานต้องเสี่ยงถูกลงโทษจากคริสตจักรแห่งอังกฤษ หากถูกจับได้พวกเขาจะถูกปรับและถูกพักทำหน้าที่เป็นเวลา 3 ปี แต่บทลงโทษนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความกลัวเกรง นักบวชที่ถูกจับได้ก็ไม่มีอะไรจะเสียอีก พวกเขาเดินหน้าประกอบพิธีลักลอบแต่งงานให้กับคู่รักต่อไป

การลักลอบแต่งงานเป็นที่นิยมอย่างมาก ทำให้รัฐบาลอังกฤษเกรงว่าจะเกิดผลเสียเลยเถิดไปจนควบคุมไม่ได้ ปี 1753 ฟิลิป ยอร์ก ประธานสภาขุนนาง จึงออกกฎหมายป้องกันการลักลอบแต่งงาน โดยมีข้อกำหนดหลัก 2 ข้อคือ คู่รักต้องประกอบพิธีวิวาห์ในโบสถ์ และคู่รักต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้การลักลอบแต่งงานลดน้อยลงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามยิ่งทำให้มีการลักลอบแต่งงานมากขึ้น

ทั่งศักดิ์สิทธิ์

สกอตแลนด์ไม่เคร่งครัดเรื่องพิธีวิวาห์เหมือนอังกฤษ ชาวบ้านประกอบพิธีวิวาห์กันง่ายๆด้วยการให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือในชุมชนประกอบพิธีให้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้นักบวชหรือจัดพิธีใหญ่โต ด้วยเหตุนี้เองทำให้คู่รักอังกฤษที่ต้องการแต่งงานพากันข้ามพรมแดนมาแต่งงานกันในสกอตแลนด์

เกรตนากรีนเป็นเมืองที่อยู่ติดพรมแดน ทำให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คู่รักอังกฤษมุ่งหน้ามาแต่งงานกัน ในยุคสมัยนั้นโรงตีเหล็กเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทำไร่ ใช้เกือกม้า และซ่อมแซมเกวียน ดังนั้น ช่างตีเหล็กจึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของชุมชน

การที่อังกฤษออกกฎหมายป้องกันการลักลอบแต่งงาน ทำให้คนอังกฤษดิ้นรนมาแต่งงานกันในสกอตแลนด์เป็นจำนวนมาก โยเซฟ พาสลีย์ เป็นช่างตีเหล็กในหมู่บ้านเกรตนากรีน จึงไม่น่าแปลกใจที่คู่รักอังกฤษจะมาขอร้องให้เขาประกอบพิธีวิวาห์ให้

ในตอนแรกโยเซฟไม่ค่อยแน่ใจนักว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเขาไม่ได้เป็นนักบวช แต่ต่อมาเขาเรียนรู้ว่ากฎหมายของสกอตแลนด์ไม่ได้ห้าม ดังนั้น พิธีวิวาห์ที่ทำโดยโยเซฟจึงมีผลทางกฎหมาย โยเซฟจึงหันมายึดอาชีพรับประกอบพิธีวิวาห์ เพราะมีรายได้ดีกว่าการเป็นช่างตีเหล็ก ซึ่งต่อมาเรียกผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีแต่งงานโดยช่างตีเหล็กว่า Anvil Priest (นักบวชทั่งตีเหล็ก)

ขอเพียงแค่รักกัน

การแต่งงานในสกอตแลนด์ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ ไม่ต้องให้นักบวชทำพิธี ไม่ต้องได้ความยินยอมจากพ่อแม่ และไม่ต้องบรรลุนิติภาวะ เรียกว่าขอเพียงแค่รักกันก็พอแล้ว ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนอังกฤษนิยมมาแต่งงานกันที่เกรตนากรีน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่านายหรือนางสาว ยังคงเป็นแค่เด็กชายและเด็กหญิง

ทั่งตีเหล็กเป็นอุปกรณ์สำคัญในการประกอบพิธี ช่างตีเหล็กจะประกอบพิธีให้คู่รักบนทั่งตีเหล็ก “ช่างตีเหล็กหล่อหลอมโลหะบนทั่งฉันใด ดวงใจสองดวงถูกหล่อหลอมไว้ด้วยกันบนทั่งฉันนั้น” คำพูดนี้กลายเป็นประโยคศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกาศการเป็นสามีภรรยา

คนอังกฤษหลั่งไหลเข้ามาทำพิธีแต่งงานในสกอตแลนด์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กหนุ่มสาว แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายสกอตแลนด์แต่ก็ผิดกฎหมายอังกฤษ ซึ่งคงดูไม่ดีสักเท่าไรสำหรับบ้านพี่เมืองน้อง ทำให้ในปี 1856 รัฐบาลสกอตแลนด์แก้กฎหมายสมรสเพื่อไม่ให้คนต่างชาติสมรสได้ง่ายเกินไป โดยกฎหมายใหม่กำหนดว่าคู่รักคนใดคนหนึ่งจะต้องอาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ไม่น้อยว่า 21 วัน จึงจะประกอบพิธีสมรสในสกอตแลนด์ได้

นักบวชทั่งรุ่นสุดท้าย

ปี 1939 ไอลีน ฮอลต์ เยาว์วัยเกินกว่าจะเข้าพิธีสมรสตามกฎหมายอังกฤษ เธอตัดสินใจเช่าบ้านพักในหมู่บ้านเกรตนากรีนเป็นเวลา 21 วัน ไอลีนบอกกับพ่อแม่ว่าเดินทางไปเมืองลัดโลว์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองวุร์สเตอร์เชอร์ราว 30 ไมล์

ไอลีนเขียนโปสการ์ดไว้ล่วงหน้าจำนวนหนึ่งมอบให้กับคนรัก เดนนิส โฮเวลล์ ซึ่งเดนนิสจะขี่จักรยานจากบ้านไปยังเมืองลัดโลว์เพื่อทยอยส่งโปสการ์ดที่ไอลีนเขียนไว้ล่วงหน้าส่งถึงพ่อแม่ไอลีนเพื่อไม่ให้พวกเขาสงสัย

หลังจากไอลีนอยู่ที่สกอตแลนด์ครบ 21 วัน เดนนิสก็เดินทางไปหาที่เมืองเกรตนากรีน ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1939 และครองรักร่วมกันจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีนักบวชทั่ง ริชาร์ด เรนนิสัน เป็นผู้ทำพิธีให้

ไอลีนและเดนนิสเป็นคู่รักคู่ท้ายๆที่ได้แต่งงานกันโดยนักบวชทั่ง เพราะหลังจากนั้นไม่นานในปี 1939 สกอตแลนด์ก็แก้กฎหมายสมรสระบุว่าผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีสมรสต้องเป็นนักบวชเท่านั้น ช่วงระยะเวลา 13 ปี ระหว่างปี 1926-1939 ริชาร์ดเพียงคนเดียวประกอบพิธีสมรสให้กับคู่รักทั้งสิ้น 5,147 คู่

ปัจจุบันคู่รักชาวอังกฤษยังคงนิยมไปทำพิธีสมรสที่เกรตนากรีน นัยว่าเป็นมงคลกับชีวิตคู่ ก็คงคล้ายกับที่คนไทยนิยมไปจดทะเบียนสมรสกันที่เขตบางรักอะไรประมาณนั้น การท่องเที่ยวสกอตแลนด์ระบุว่า ปัจจุบันมีคู่สมรสไปประกอบพิธีแต่งงานที่เกรตนากรีนประมาณปีละ 5,000 คู่

1

1.ขบวนขันหมากในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18

2

2.โยเซฟ พาสลีย์

3

3.พิธีแต่งงานในโรงตีเหล็ก

4

4.ริชาร์ด เรนนิสัน หน้าโรงตีเหล็ก

5

5.ริชาร์ดกับทั่งศักดิ์สิทธิ์

Mariage en Ecosse

6.นักบวชทั่งตีเหล็กทำพิธีให้คู่รัก

7

7.ทั่งตีเหล็กใช้ประกอบพิธีสมรส

8

8.ไอลีนและเดนนิสหน้าโรงตีเหล็ก

9

9.ทะเบียนสมรสของเดนนิสและไอลีน

10

10.ครบรอบแต่งงาน 75 ปีของเดนนิสและไอลีน

 


You must be logged in to post a comment Login