วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

250ส.ว.กากี่นั้ง

On February 28, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 28 ก.พ. 62)

ยิ่งปกปิดคนยิ่งอยากรู้ ในที่สุดสื่อมวลชนหลายสำนักก็สืบทราบมาได้ว่านอกจาก “พล.อ.ประวิตร” แล้วมีใครอีกบ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. เมื่อเห็นรายชื่อแล้วก็ต้องบอกว่า “กากี่นั้ง” (คนกันเอง) เพราะล้วนเป็นคนใน คสช. และรัฐบาลทั้งสิ้น เมื่อกรรมการสรรหาเป็น “กากี่นั้ง” คนที่จะผ่านเข้ามาเป็น 400 คนสุดท้ายก่อนที่ คสช. จะเลือกเหลือ 194 คน ไปรวมกับ 6 คนที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง และอีก 50 คนที่ คสช. ต้องเลือกจากตะกร้าที่ผ่านกระบวนการเปิดรับสมัครและคัดเลือกกันเองมาแล้วรอบหนึ่ง ทำให้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ส.ว.ชุดแรกหลังรัฐประหารจะเป็น ส.ว. ชุด “กากี่นั้ง” หน้าเดิมๆที่เคยเป็นมือเป็นไม้ทำงานให้กับ คสช. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในหลากหลายรูปแบบนั่นเอง

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) เป็นวันที่หลายคนเฝ้าจับตาดูการพิจารณา 2 คดีที่กระทบต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่

ในกรณีของพรรคอนาคตใหม่นั้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และนางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค เข้าพบอัยการสูงสุดตามนัด หลังถูกฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดี 2 ข้อหาคือ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ประเด็นที่ตามลุ้นกันคือนายธนาธรและพวกจะถูกนำตัวฝากขังระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ ซึ่งอัยการไม่ได้นำตัวนายธนาธรและพวกไปขออำนาจศาลฝากขังแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาได้เข้ามอบตัวและได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนแล้ว ประกอบกับไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ขั้นตอนจากนี้อัยการจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบสำนวน และนัดฟังผลการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงหลังเลือกตั้ง 2 วัน

พรรคอนาคตใหม่ที่กระแสกำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงได้เฉิดฉายในสนามเลือกตั้งต่อไป รอลุ้นกันอีกทีหลังเลือกตั้งว่าหัวหน้าพรรคจะได้เข้าไปนั่งทำงานในสภาหรือต้องไปอยู่ในคุก

ส่วนคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมกันอยู่พักใหญ่ก็ออกคำสั่งนัดให้พรรคไทยรักษาชาติมาฟังคำตัดสินว่าจะยุบพรรคตามคำร้องของ กกต. หรือไม่ในวันที่ 7 มีนาคมนี้

พรรคอนาคตใหม่ลุ้นอนาคตหลังเลือกตั้ง ส่วนพรรคไทยรักษาชาติรู้ก่อนเลือกตั้งว่าจะยังมีชื่อพรรคนี้ให้ประชาชนเลือกอยู่หรือไม่

ทั้ง 2 เรื่องที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่ยังไม่น่าสนใจเท่าคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่พยายามปิดไม่ให้ประชาชนรับทราบว่ามีใครบ้าง แต่ในที่สุดสื่อมวลชนหลายสำนักก็ไปสืบข่าวมาได้

นอกจากชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาอย่างที่ทราบกันแล้ว ในส่วนของกรรมการนั้นล้วนแล้วแต่เป็นมือเป็นไม้ที่ทำงานรับใช้ คสช. มาตลอดในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรองหัวหน้า คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมเป็น ส.ว. 400 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็น ส.ว. พร้อมคัดรายชื่อสำรองไว้รอเสียบอีก 50 รายชื่อ

สมาชิก คสช. เป็นกรรมการสรรหา สรรหาแล้วส่งให้ คสช. คัดเลือกอีกที อาจจะดูงงๆหน่อย แต่ผู้มีอำนาจยืนยันว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญผ่านการลงมติเห็นชอบจากประชาชน

เมื่อกรรมการสรรหาล้วนเป็น “กากี่นั้ง” คนที่จะผ่านเข้ามาเป็น 400 คนสุดท้าย ก่อนที่ คสช. จะเลือกเหลือ 194 คน ไปรวมกับ 6 คนที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และอีก 50 คนที่ คสช. ต้องเลือกจากตะกร้าที่ผ่านกระบวนการเปิดรับสมัครและคัดเลือกกันเองมาแล้วรอบหนึ่ง

ทำให้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ส.ว. ชุดแรกหลังรัฐประหารจะเป็น ส.ว. ชุด “กากี่นั้ง” พวกหน้าเดิมๆที่เคยทำงานรับใช้ คสช. มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในหลากหลายรูปแบบนั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login