วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“เอ็มไอที”มหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก

On February 28, 2019

บีบีซีไทยรายงานารจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก QS World University Rankings เผย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ของสหรัฐฯ ยังคงครองตำแหน่งมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่มหาวิทยาลัยไทยอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลอันดับร่วงลงจากปีที่แล้ว ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Quacquarelli Symonds บริษัทด้านการศึกษาของอังกฤษ โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยที่ติด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

สำหรับมหาวิทยาลัยของไทยนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันดับร่วงจาก 245 ปีที่แล้วเป็น 271 ในปีนี้ ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ที่อันดับ 380 ร่วงลงต่อเนื่องจากอันดับ 334 ในปีที่แล้ว และอันดับ 283 ในปี 2560

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงที่อยู่ที่ช่วงอันดับ 601-650 ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในช่วงอันดับ 651 ถึง 700 โดยร่วงจากปีก่อน ๆ ที่เคยอยู่ในช่วงอันดับ 551-600

การจัดอันดับนี้ใช้มาตรวัด 5 ประการด้วยกัน ได้แก่ ชื่อเสียงทางวิชาการจากแบบสำรวจ (40%) ชื่อเสียงจากแบบสำรวจผู้ว่าจ้าง (10%) อัตราส่วนของจำนวนนักเรียนต่ออาจารย์ (20%) จำนวนงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้อ้างถึง (20%) อัตราส่วนบุคลากรและนักเรียนจากนานาชาติ (10%)

อย่างไรก็ตาม หากมองอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียเพียงอย่างเดียว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างก็ไต่อันดับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จาก 50 เป็น 44, จาก 58 เป็น 52 และ 112 เป็น 96 ตามลำดับ

มหาวิทยาลัย 5 อันดับแรกของเอเชีย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง, มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ทั้งนี้ QS World University Rankings ยังจัดอันดับแบ่งตามหมวดหมู่วิชาด้วย โดยหากเป็นสาขาศิลปะและมนุษยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่อันดับ 253 มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ที่ช่วงอันดับ 401-450 ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ที่ช่วงอันดับ 451-500

ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่อันดับ 191 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียอยู่ที่อันดับ 336 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อยู่ที่ช่วงอันดับ 451-500

ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ที่อันดับ 148 ส่วน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่อันดับ 267

นอกจาก QS World University Rankings รายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเชื่อถืออีกแห่งหนึ่งคือ วารสารไทม์ส ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น (Times Higher Education World University Rankings) โดยความแตกต่างของผลอันดับสำหรับปีนี้เมื่อเทียบกับ QS World University Rankings คือวารสารไทมส์ ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น ยกให้มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เป็นมหาวิทยาลัย 5 อันดับแรกของโลก

หากดูจากรายงานจัดอันดับนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทย อยู่ที่ช่วงอันดับ 601-800 ส่วน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อยู่ที่ช่วงอันดับ 801-1000

ผลกระทบเบร็กซิท
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเตือนว่า การแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักรอาจจะส่งผลต่ออันดับของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ ถ้าหากการเข้าถึงทุนและการร่วมมือเพื่อการวิจัยจากทางยุโรปได้รับผลกระทบ

สำหรับรายงานจัดอันดับของ QS World University Rankings ในปีนี้ หากแบ่งตามสาขาวิชา มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้อันดับหนึ่งใน 13 จาก 48 สาขาวิชา

อย่างไรก็ตาม เบ็น โซว์เทอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ QS Rankings เตือนว่า บ่อยครั้งที่อันดับสูงของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับฝ่ายยุโรป โดยบอกว่า งานวิจัยที่ถูกอ้างจำนวนมากซึ่งเป็นผลทำให้สหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จเป็นผลมาจาก ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหภาพภาพยุโรป และจากการร่วมมือในโครงการของสหภาพยุโรป


You must be logged in to post a comment Login