วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐซ้อนรัฐ

On February 28, 2019

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ โลกวันนี้วันสุข
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่   1-8 มีนาคม  2562)

2 ประเด็นร้อนทางการเมืองเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า ได้พิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งเพื่อยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 7 มีนาคม เวลา 13.30 น. และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกันเวลา 15.00 น.

ส่วนอีกคดีคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวกถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฟ้องข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จกรณีจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ในเพจอนาคตใหม่-The Future We Want และเพจ Thanathorn Juangroongruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของ คสช. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญานัดพิจารณาคำสั่งในวันที่ 26 มีนาคม หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2 วัน

นอกจากนี้นายธนาธรยังมีข้อกล่าวหา “หลอกลวงประชาชน” โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่เผยแพร่ประวัติหัวหน้าพรรคผิดที่ระบุว่าเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระหว่างปี 2551-2555 ทั้งที่นายธนาธรเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายกปี 2550-2554

“ลุงตู่” ประกาศไม่ร่วมดีเบต

แต่ประเด็นที่ร้อนระอุมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ เกือบทุกพรรคการเมืองเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมดีเบต แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศชัดเจน (26 กุมภาพันธ์) จะไม่ร่วมดีเบต อ้างไม่ค่อยมีสารัตถะ ตอนต้นเถียงกัน เมื่อเข้าสู่นโยบายกลับไม่มีใครสนใจ โจมตีคนนั้นคนนี้ เล่นไปถึงการทำงานของกระทรวงต่างๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าดีเบต ขอให้ไปดูต่างประเทศว่าดีเบตอย่างไร

“ผมคงไม่ไปหรอกตอนนี้ ไม่ว่าใครจะมากระตุ้น ผมไม่โกรธ ไม่กลัวด้วย ผมกำลังทำงานอยู่ เสียเวลาที่ต้องไปประดิดประดอยคำพูดให้มันปวดหัว ทำงานในระบบก็แย่พอแล้ว สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นก็เป็นข้อเท็จจริง ถ้าอยากทราบวิสัยทัศน์ผมถ้าได้เป็นนายกฯต่อไปมีอยู่แล้วคือมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

250 ส.ว. มาจาก สนช.-สปช.-สปท. พรึ่บ

ขณะที่ประเด็นการแต่งตั้ง 250 ส.ว. ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งระบบแบ่งสันปันส่วนครั้งนี้จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกิน 250 เสียง และพรรคที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถมีเสียงเกิน 375 เสียงเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

จึงต้องจับตามองการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ซึ่งมีวาระการทำงาน 5 ปี และสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้จนกว่าจะครบวาระ โดย คสช. จะคัดเลือก ส.ว. จำนวน 194 คน ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 และเลือก ส.ว. กลุ่มที่มาจากการเลือกกันเองที่จัดโดย กกต. เสนอ 200 รายชื่อให้เหลือ 50 คน โดยมี ส.ว. อีก 6 คน มาจากตำแหน่งคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. กล่าวว่า แนวทางการสรรหาคงไม่ยากลำบาก โดยจะเอาจากคนที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาประกอบกัน ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่รวบรวมแล้ว แต่มีหลายรายชื่อ คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ทำให้เหลือ 400 คน

250 ส.ว. ไม่มีสมองหรือ?

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ ส.ว. เหมือนการตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ล่วงหน้าและไม่เป็นประชาธิปไตยว่า พูดมาหลายครั้งแล้ว ให้ไปดูรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร “นี่คือประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ จะมาบอกบังคับให้คนเห็นชอบไม่เห็นชอบ มันบังคับได้หรือไม่ คน 16 ล้านใครทำได้ มาบอกผมหน่อย”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า “เป็นเรื่องของการมี 2 สภา แม้ ส.ว. จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าพวกคุณจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ ทุกคนต่างก็รักประเทศ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตย อยู่แต่เพียงพรรคการเมือง นักการเมือง ผมขอแค่นี้”

การเมืองสร้างสรรค์แต่ปาก

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวในการหาเสียงตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆมา เพราะเขาวางกลไกกลับสู่อำนาจไว้เรียบร้อย วาง ส.ว. ไว้ 250 คนที่มีอำนาจมากกว่า ส.ส. ที่ประชาชนเลือก และยังเปลี่ยนวิธีนับคะแนนใหม่ จึงต้องให้ชนะอย่างถล่มทลาย แต่ละเขตต้องใกล้ 70,000 คะแนนให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงการหาเสียงของบางพรรคการเมืองว่า แม้จะบริหารประเทศมานานแต่อาจไม่มีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจเลือก จึงนำเรื่องความขัดแย้งมาใช้หาเสียง เปรียบเสมือนการปลุกผีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องก้าวข้าม ส่วนตัวมองว่าเมื่อทุกฝ่ายอยากเห็นบ้านเมืองมีความปรองดองก็ควรจะแข่งขันในการนำเสนอนโยบาย

ปากก็บอกว่าอยากเห็นการเมืองที่สร้างสรรค์ แต่คำพูดกับการกระทำกลับตรงกันข้าม ตนอยากเชิญชวน พล.อ.ประยุทธ์มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการดีเบตของเวทีพรรคการเมือง เพราะในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องน่ายินดี และประชาชนจะได้ประโยชน์จากการนำเสนอแนวคิดของผู้นำแต่ละพรรค

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่โดนข้อหาต่างๆจนถึงการยุบพรรคว่า โดนกันหมด อย่างที่บอกว่าตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่สนาม เรารู้ว่าเราจะเจออะไรบ้าง ทั้งกติกา กลไกที่วางไว้อย่างเอียงกระเท่เร่ เอาเปรียบทุกอย่าง ทั้งอำนาจรัฐที่เข้ามาคุกคาม และเอื้ออำนวยให้กับบางพรรค กดดันบางพรรค ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเกิดอีกเยอะ เราต้องอดทน ต่อสู้กับความจริง และหวังว่าจะเกิดความยุติธรรม อย่าลืมว่าคนไทยไม่ชอบอะไรที่ไม่ยุติธรรม ไม่ชอบอะไรที่เอารัดเอาเปรียบ นี่คือนิสัยของคนไทย

อย่าครอบงำ ส.ว.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้ง ส.ว. 250 คน ที่หลายฝ่ายมองว่าจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐชิงจัดตั้งรัฐบาลว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่านี่เป็นหลักการที่ถูกต้องก็ควรสร้างความมั่นใจในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียว่าต้องไม่เข้าไปครอบงำวุฒิสภา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านเป็นหัวหน้า คสช. มีส่วนในการแต่งตั้ง ส.ว. มีส่วนได้เสีย อันนี้เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้มีความชัดเจนควรประกาศหลักการว่าให้ ส.ว. สนับสนุนใครก็ตามที่ประชาชนเลือกมาและสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang (23 กุมภาพันธ์) ว่า  ก่อนการรัฐประหารมีการตั้งประเด็นว่าจะให้คนไม่มีการศึกษาและคนยากจนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากับคนมีการศึกษาได้อย่างไร คล้ายกับจะบอกว่าต้องให้คนมีการศึกษาคนหนึ่งมีเสียงสัก 100 หรือ 500 เสียง มาถึงวันนี้ความคิดแบบนี้พัฒนามาเป็นการให้ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวมีสิทธิเท่ากับคนครึ่งประเทศรวมกัน หรือเท่ากับผู้ออกเสียงลงคะแนนประมาณ 18 ล้านคน

นายจาตุรนต์ยังกล่าวว่า ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 และมาตรา 98 (15) หรือไม่ เนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งต้องถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าหัวหน้า คสช. และสมาชิก คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วเป็นอะไร

“เสรีพิศุทธ์” จี้ กกต. ยุบ พปชร. ตรวจสอบคุณสมบัติ “ลุงตู่”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือถึง กกต. ขอทราบผลความคืบหน้าในการตรวจสอบคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมขอรับทราบผลการพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า หาก กกต. ไม่ดำเนินการพิจารณาคดีให้รวดเร็วเหมือนกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยจะให้เวลา กกต. อีก 1 สัปดาห์ในการดำเนินการ

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าไม่กลัวการขึ้นเวทีดีเบตแต่กลับปฏิเสธการดีเบตนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า เป็นข้ออ้างที่เกิดจากความกลัว กลัวถูกพรรคการเมืองอื่นรุมยำ ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตยการแสดงวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคหรือบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องการให้ประชาชนได้เห็นถึงแนวคิด หรือ “กึ๋น” เพื่อที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ขู่ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด “ประยุทธ์”

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นหนังสือขอให้ กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ เพราะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 125,590 บาท ตามความในพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่งปี 2557 คิดคำนวณถึงปัจจุบันได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 รวม 52 เดือน เป็นงิน 6,530,680 บาท

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (15) ย่อมเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นบุคคลที่จะได้รับการแจ้งชื่อเพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 กกต. เคยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมาแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ส่วนหนึ่งว่า ตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงอาจเทียบเคียงได้กับตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ กรณีนี้จึงมีเหตุที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

นายเรืองไกรหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความกล้าหาญ ด้วยการทำหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติในการเป็นหัวหน้า คสช. ว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ หากได้รับคำตอบว่าไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐก็จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เอาผิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท

“ลุงตู่”ไม่นิ่ง ไม่หยุด

แม้การเดินสายพบประชาชนบ่อยครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตามปรกตินั้น หลายพรรคการเมืองมองว่าไม่ต่างอะไรกับการหาเสียงที่พยายามใช้ความได้เปรียบทุกด้าน และพยายามยั่วยุให้ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมดีเบต แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ยอมเล่นด้วย เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ล้วนเอื้อต่อการกลับมามีอำนาจ

โดยเฉพาะ ส.ว. 250 เสียง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะเลือกใครก็ได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะย้อนถามแบบข้างๆคูๆว่า “ส.ว. ไม่มีสมองหรือ” คำตอบก็ไม่ต้องมองไกล แค่ดูจาก สนช. และคณะกรรมการต่างๆที่ คสช. แต่งตั้ง มีความเป็นอิสระในการทำงานและมีธงตั้งไว้หรือไม่

คนมีใจนักเลงจะไม่ทำ

ส.ว. 250 คนที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ “มีสมอง” และ “รักประเทศ” หรือไม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯเป็นคนเลือก

ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “ไม่ใช่เรื่อง ส.ว. มีหรือไม่มีสมอง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการที่ท่านเป็นคนเลือก ส.ว. แล้ว ส.ว. ที่ท่านเลือกก็จะมาเลือกท่านเป็นนายกฯนั้น มันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นเรื่องของการมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งคนที่มีใจนักเลงเขาจะไม่ทำกัน เพราะมันทุเรศ ถ้า ส.ว. ที่ท่านเลือกทั้งหมด 244 คน มี ส.ว. เพียงคนเดียวไม่เลือกท่านเป็นนายกฯ ผมก็ยินดีที่จะขอโทษท่าน”

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในรายการ “ถามตรงๆกับจอมขวัญ” ในการดีเบตไทยรัฐครั้งที่ 2 ว่า ขี้โกงดีๆนี่แหละ ไม่เพียงโกงเฉพาะตอนจะเลือกตั้ง แต่ยังโกงเก็บไว้รอใช้ตอนกลับมาครองเมืองอีกสมัยหน้า แล้วยังจะมีหน้ามาอ้างว่า พ.ร.บ. หลายฉบับที่พิจารณากันใน สนช. ไม่เคยออกมาได้ง่าย

ขณะที่การพิจารณาร่างกฎหมายช่วงกว่า 4 ปีของ สนช. มีทั้งสิ้น 509 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วถึง 412 ฉบับ เฉลี่ยปีละเกือบร้อยฉบับ เฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 (วันที่ 25-28 ธันวาคม 2561) มีการผลักดันวาระการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายมากถึง 67 ฉบับ และช่วงระหว่างวันที่ 18 มกราคม-18 กุมภาพันธ์ 2562 มีการลงมติเห็นชอบผ่านกฎหมายเพื่อใช้บังคับถึง 66 ฉบับ กฎหมายแต่ละฉบับเป็น “สภาฝักถั่ว” หรือไม่ แม้แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ที่ลงมติเอกฉันท์ 206 เสียง ยังใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง

ที่สำคัญกฎหมายหลายฉบับถูกมองว่าประชาชนที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีส่วนร่วม และบางฉบับมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ข้าวที่ถอนออกในนาทีสุดท้ายเพราะกระแสต่อต้านสูง หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้น ยึดข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ โดยเหตุแค่เพียงต้องสงสัย และไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลขอหมายจากศาล ซึ่งผิดหลักการกระบวนการยุติธรรมสากล

พอหรือยัง 13 ปีรัฐซ้อนรัฐ

นายปิยบุตรยังโพสต์ข้อความในเพจ Piyabutr Saengkanokkul ตอนหนึ่งว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจตัดสินใจในทางการเมือง เลือกผู้แทน เลือกรัฐบาล มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะ

เมื่อตัดสินใจแล้วย่อมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเสมอ พรรคการเมืองคือที่รวมตัวกันของบุคคลที่มีแนวคิดอุดมการณ์แบบเดียวกันแล้วเสนอตัวให้ประชาชนเลือกเพื่อเข้าไปมีอำนาจรัฐ และดำเนินการตามแนวคิด อุดมการณ์ นโยบายของพรรค การเมืองแบบประชาธิปไตยพรรคการเมืองจะแข่งขันกันอย่างเสรี ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจเลือกอย่างเสรี เมื่อตัดสินใจแล้วก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้

แต่การเมืองแบบ “รัฐซ้อนรัฐ” จะแบ่งงานกันทำเป็นระบบ เริ่มจากก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง เอาอำนาจที่ยึดมาเขียนเป็นกฎหมายเพื่อวางกับดักไว้เสร็จ แล้วเข้าสู่ระบบปรกติ มีการเลือกตั้ง ถ้าได้พรรคการเมืองที่พวกตนเองเกลียดกลัวก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คนกลุ่มหนึ่งคอยหาช่องหารูเล่นแร่แปรธาตุเอากับกฎหมาย จ้องจับผิด ตั้งตนเป็น “นักร้อง” คอยชงเรื่องเข้าสู่กระบวนการ เสร็จแล้วองค์กรที่ครองอำนาจในนามของ “การตรวจสอบ” ก็จะใช้อำนาจนั้นจัดการพรรคการเมืองที่เป็นศัตรูของพวกตน ถ้าจัดการไม่แล้วเสร็จก็จะกลับไปยึดอำนาจการปกครอง แล้วเริ่มกระบวนการนี้ใหม่

การเมืองไทยเป็นแบบนี้มา 13 ปีแล้ว วิธีการเช่นนี้แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย รังแต่จะสร้างวิกฤตมากขึ้นอีก แล้วยังลากเอากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมลงเหวไปด้วยกันทั้งหมด เล่นกันแบบนี้ ทำกันแบบนี้ จนวันนี้การเมืองไทยหา “ฉันทามติ” ไม่ได้ หา “Final say” ไม่ได้ สังคมไทยจะยอมให้พวกเขาเล่นกันแบบนี้อีกหรือ?

พปชร. น้ำท่วมปาก

วันที่ 26 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม กกต. จัดเวทีดีเบตให้พรรคการเมืองจับคู่ดีเบตนโยบาย โดยพรรคการเมืองสามารถส่งผู้แทนของพรรค หัวหน้าพรรค หรือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเข้าร่วมดีเบตได้ และจะนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ 21 สถานี สถานีวิทยุ 7 สถานี และช่องยูทูบ ตั้งแต่วันที่ 15-21 มีนาคม

นายอภิสิทธิ์กล่าวเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ร่วมดีเบต ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสจะเปรียบเทียบ และไม่อยากให้สร้างค่านิยมที่ผิด เพราะการมาประชันวิสัยทัศน์เพื่อประโยชน์ให้ประชาชนได้เห็นแง่มุมในการอาสาตัวเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งการดีเบตไม่มีการมาแข่งประดิดประดอยคำ เพราะมีหลายเรื่องที่อยากแลกเปลี่ยน ทั้งเรื่องนโยบายและจุดยืนทางการเมือง เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อการบริหารประเทศในอนาคต ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้รับทราบ และไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะเราก็เจอแบบนี้มาแล้ว

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็พูดได้ไม่เต็มปากทั้งเรื่องดีเบตและ ส.ว. 250 คน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ไม่ตอบตรงๆว่า 250 ส.ว. คือเสียงที่รอสนับสนุนในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า ทั้งหมดเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติจากประชาชนกว่า 13.9 ล้านคนที่ลงมติเห็นชอบ และขออย่าโยงเรื่องการสืบทอดอำนาจหรือรัฐประหาร ซึ่งพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา

คำตอบของพรรคพลังประชารัฐเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่น้ำท่วมปาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคคือหัวหน้า คสช. และเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเลือก 250 ส.ว. ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ระเบิดเวลา

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติที่สร้างขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร คือเงื่อนไขที่ทำให้นักการเมืองตีกันเอง ทำให้ประชาชน 2 ฝ่ายตีกันเองตาม “ทฤษฎีการแบ่งแยกและปกครอง” ที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้ได้ผลมาตลอด กติกาเปิดช่องให้ตีความเอาผิดนักการเมืองและยุบพรรคการเมืองได้ง่ายดาย นอกจากนี้หาก คสช. เห็นว่าการเลือกตั้งวุ่นวาย ไม่ราบรื่น หรือด้วยเหตุผลอื่นใด ก็ยังมีมาตรา 44 สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ตลอดเวลา จึงไม่ใช่การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการเลือกตั้งภายใต้อำนาจเผด็จการของคนคนเดียว มาตรา 44 คือระเบิดเวลาลูกแรก หากนักการเมืองและประชาชนตีกันเอง ก่อความวุ่นวายในการเลือกตั้งในความเห็น คสช. ระเบิดก็จะทำงานทันที

ระเบิดเวลาอีก 2 ลูกคือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิกมรดก คสช. กับฝ่ายที่ต้องการรักษามรดก คสช. โดยการเอาเปรียบอย่างโจ่งแจ้งในนามคุณธรรมความดี ความซื่อสัตย์ ปราบโกง และการเสียสละเพื่อชาติ

เกมเปลี่ยนสถานการณ์ไม่เปลี่ยน?

สถานการณ์ทางการเมืองจะพุ่งเป้าไปวันที่ 7 มีนาคมว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร หากยุบพรรคไทยรักษาชาติ การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เพราะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะมีคะแนนเสียงหายไปส่วนหนึ่ง

หากพรรคเพื่อไทยได้เสียงมากที่สุด แต่ได้ไม่เกิน 250 เสียง แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ก็มีโอกาสน้อยมาก เพราะต้องดึงพันธมิตรอื่นๆเข้ามาสนับสนุน โดยลุ้นให้พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ มี ส.ส. มากพอจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ถ้าไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติก็ยังเดินหน้าหาเสียงได้ และอาจได้ ส.ส. มากขึ้นก็ได้

พรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบหรือไม่จึงมีผลต่อการวางยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพราะต้องดึงฐานเสียงของพรรคไทยรักษาชาติให้มาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด ทั้งต้องดูว่าคดีของนายธนาธรจะส่งผลอย่างไรกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญานัดพิจารณาคำสั่งในวันที่ 26 มีนาคม หลังการเลือกตั้ง 2 วัน อาจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน

แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือพรรคพลังประชารัฐและ “ลุงตู่” ยังเดินหน้าหาเสียง แม้จะมีการยื่นหนังสือให้ กกต. ยุบพรรคพลังประชารัฐและตรวจสอบคุณสมบัติ “ลุงตู่” ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงกรณี “โต๊ะจีน 650 ล้าน” และกรณีบังคับสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแลกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลับแตกต่างสิ้นเชิงกับคดีพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงทำให้เห็นความพิสดารของกระบวนการกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” เหมือนหนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ” ที่พรรคพลังประชารัฐบอกว่าทำให้ประชาชนรู้จักตัวตน “ลุงตู่” มากขึ้นทั้งเส้นทางการเมืองและผลงาน หลังจากใช้เวลากว่า 6 เดือนก่อนตัดสินใจทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อพาบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปรกติและเดินหน้าปฏิรูปประเทศ

แต่ในมุมมองของฝ่ายประชาธิปไตยถือเป็นการปล้นอำนาจจากประชาชน และเป็นรัฐประหารที่ “เสียของ-เสียเปล่า” ทั้งยังไม่ทำตามสัญญาที่ว่า “ขอเวลาไม่นาน” แต่กลับอยู่ยาวกว่า 5 ปี และยังอยากมีอำนาจต่อ ทั้งที่ประกาศไม่เคยคิดสืบทอดอำนาจ

การเลือกตั้งปี 2500 ที่ถือเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ถูกเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่การร่างรัฐธรมนูญ การออกกฎหมายและกฎกติกาต่างๆ รวมถึงการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจภายใต้ระบบ “รัฐซ้อนรัฐ”!!??


You must be logged in to post a comment Login