วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ปชป.เปิดที่มารายได้นโยบายหาเสียง13เรื่อง5ด้านใช้ปีละ3.5แสนล้าน

On March 1, 2019

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ https://democrat.or.th/th/announce-detail/21 ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ในเว็บไซต์ โดยระบุว่า เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 ที่บัญญัติว่าการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย 

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ระบุที่มาของรายได้ที่จะใช้ดำเนินโครงการตามนโยบายที่หาเสียงจาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย 1.ปรับลดงบประมาณบางรายการ เช่น งบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน สำนักนายกรัฐมนตรี การลดงบประมาณโครงการเดิมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เป็นต้น 2.ภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 3.เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 5.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 6.เงินร่วมทุนจากเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ   

สำหรับการดำเนินโครงการตามนโยบายหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ได้แบ่งออกเป็น 5 ด้าน รวมใช้งบประมาณทั้งหมด 392,015 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ การศึกษา 62,348 ล้านบาท สวัสดิการสังคม 148,928 ล้านบาท เกษตรคุณภาพ 130,000 ล้านบาท แรงงาน 50,000 ล้านบาท สาธารณสุข 739 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ ประโยชน์ความคุ้มค่า เป็นรายนโยบายทั้ง 13 เรื่องด้วย โดยทุกนโยบาย พรรคยืนยันว่าไร้ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย แต่มีบางนโยบายที่งบประมาณจะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำ ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2.66 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันทำงานเพิ่มขึ้น  โดยไม่ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอีกทั้งไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้นของนายจ้าง ผู้ประกอบการ

ซึ่งรัฐบาลอาจต้องรับภาระมากขึ้นหากแรงงานไหลเข้าระบบมากขึ้น และ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดใช้งบประมาณ 17,832 ล้านบาท เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับสิทธิค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทุกเเดือนจำนวน 1,000 บาทต่อเดือน แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 8 ขวบ โดยเดือนแรกจะได้รับ 5 พันบาท ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการครบ 8 ปี รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพิ่มเป็นประมาณ 59,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการประกันรายได้พืชผลเกษตรใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่มีอาชีพสวนยางพารา ปาล์น้ำมัน ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง มีหลักประกันในอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ที่มั่นคง แต่หากพืชผลเกษตรตามโครงการนี้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณปีละ 350,000 ล้านบาท เป็นต้น

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการให้รายละเอียดดังกล่าว ว่า เป็นการพิสูจน์ว่าพรรคดำเนินการทุกอย่างโดยยึดกฎหมายบนพื้นฐานความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกนโยบายของพรรคที่ผ่านมาไม่เคยสร้างความเสียหายให้กับประเทศ และขอเรียกร้องให้ทุกพรรคปฏิบัติกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 57 แสดงที่มารายได้และเงินทั้งหมดที่ต้องใช้จากนโยบายหาเสียง ซึ่งเป็นแนวทางตามหลักประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นใหญ่มีส่วนร่วมตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบาย ไม่ให้ซ้ำรอยประชานิยมในอดีตที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย และยังเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่มีต่อประเทศชาติด้วย นอกจากนี้ทำให้การหาเสียงกลับมาสู่เรื่องของนโยบาย แทนที่จะใช้วิธีบังคับให้ประชาชนเลือกข้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เดินหน้าประชาธิปไตยที่เป็นทางออกให้บ้านเมือง


You must be logged in to post a comment Login