วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มวยรองดิ้นรน?

On March 4, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 มี.ค. 62)

ยิ่งการเลือกตั้งกระชั้นเข้ามามากเท่าไร เราจะเห็นอาการดิ้นรนของมวยรองมากขึ้นเท่านั้น การนำเสนอนโยบายแบบลดแลกแจกแถมให้ประชาชนทุกกลุ่มเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น การปรับเกมส่งแคนดิเดตนายกฯของพรรคขึ้นเวทีแทนการขี่ม้าเลียบค่ายอยู่นอกวงก็เพื่อให้อยู่ในแสงสปอตไลท์เวลาที่มีการพูดถึงตัวผู้ท้าชิงนายกฯ สิ่งที่น่าสนใจคือ การเดินหมากตานี้จะให้ผลอย่างไร จะช่วยเรียกคะแนนเสียงหรือช่วยเร่งให้คนกลางๆที่ไม่ค่อยปลื้มผลงานในช่วงที่ผ่านมาหันไปลงคะแนนให้อีกฝ่ายหรือไม่ ลุ้นผลพร้อมกันหลังปิดหีบเลือกตั้ง

นับจากวันนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

จากจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 51 ล้านคน เชื่อว่าจำนวนนี้ 1 ใน 3 น่าจะมีพรรคการเมืองในใจแล้วว่าจะลงคะแนนให้ใคร รอแค่ถึงเวลาออกไปใช้สิทธิของตัวเองเท่านั้น

ขณะที่ตัวแปรสำคัญอยู่ที่เสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีอยู่กว่า 7 ล้านเสียง ซึ่งถือว่ามากพอที่จะทำให้เกิดการแพ้ชนะกันอย่างเด็ดขาดได้

การแพ้ชนะอย่างเด็ดขาดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์เทเสียงไปให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจนกำชัยชนะอย่างเด็ดขาด

แต่จะเป็นการชนะอย่างเด็ดขาดในความหมายที่ว่าเมื่อรวมเสียงพรรคการเมืองที่มีแนวทางเดียวกันตั้งแต่ 3-4 พรรคขึ้นไปแล้ว ได้เกินกว่า 250 เสียง

7 ล้านเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าพรรคการเมืองที่เป็นขวัญใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากที่สุดคือพรรคอนาคตใหม่ ภาพการห้อมล้อมต่อแถวขอเซลฟี่กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค มีให้เห็นจนชินตา

ช่วงหลังจึงเริ่มเห็นหลายพรรคการเมืองเดินเข้าหาคนกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อชิงคะแนนเสียง

ในขณะที่การชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเป็นไปอย่างเข้มข้น อีกด้านหนึ่งก็มีการปั่นกระแสผีทักษิณขึ้นมาอีกครั้งเพื่อกระตุกต่อมมวลชนที่เคยร่วมกันออกมาต่อสู้ขับไล่ระบอบทักษิณให้เกิดอารมณ์ร่วมในการออกไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองที่ประกาศตัวไม่เอาระบอบทักษิณ

ความพยายามเหล่านี้ทำให้อ่านเกมได้ว่ากลุ่มการเมืองที่ประกาศตัวไม่เอาระบอบทักษิณตกอยู่ในฐานะมวยรอง

เป้าหมายของพรรคการเมืองกลุ่มนี้ชัดเจนว่าต้องไปให้ถึง 126 เสียง เพื่อไปรวมกับ ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ทำภารกิจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐนั้น แม้ในที่สาธารณะจะแสดงความมั่นใจว่าจะได้ ส.ส. ทั้ง 2 ระบบจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงตั้งเป้าเอาไว้ที่ 60 เสียงบวกลบ

หากดูจากตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นที่ไปกวาดต้อนมาได้จำนวนมาก บวกกับกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เขียนมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม

อย่างไรก็ตาม หากดูจากความพยายามหลายอย่างของพรรคพลังประชารัฐและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนี้ทำให้ดูเหมือนว่ายังไม่ขยับใกล้เป้าหมายที่วางไว้ นโยบายหาเสียงต่างๆที่ประกาศออกมาจึงเต็มไปด้วยการจัดหนักจัดเต็มในหลายรูปแบบ

สำคัญที่สุดคือการพยายามเอา “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคมาลุยช่วยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย

ถ้าเป็นภาษามวยเขาเรียกว่าท่าไม้ตายที่งัดมาใช้เพื่อชัยชนะ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่าไม้ตายนี้จะได้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า “ลุงตู่” นั้นเปรียบเหมือนมีคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ

แม้มวลชนที่แบ่งออกเป็น 2 ข้างจะมีจำนวนไล่เลี่ยกัน แต่ต้องไม่ลืมว่ามวลชนส่วนหนึ่งอยู่ในฐานะแม่ยกของพรรคการเมืองบางพรรค ไม่ว่ากระแสใครเป็นอย่างไร ถึงเวลาลงคะแนนให้แต่พรรคเดิมที่เคยเลือกมาทุกครั้ง มวลชนข้างไม่เอาระบอบทักษิณจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน

สิ่งที่ต้องลุ้นคือท่าไม้ตายเปิดตัว “ลุงตู่” มาลงพื้นที่ช่วยเดินหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยนั้น จะถูกจริตคนกลางๆที่ยังไม่ตัดสินใจหรือไม่ หรือจะไปเร่งการตัดสินใจของคนที่ไม่ค่อยปลื้มผลงานของรัฐบาลทหาร คสช. ให้ลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

การใช้ท่าไม้ตายจะให้ผลอย่างไร ประชาชนจะให้คำตอบหลังปิดหีบเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login