วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สึนามิการเมือง?

On March 8, 2019

สึนามิการเมือง

ในที่สุดก็ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมเพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคในการสมัครรับเลือกตั้ง 14 คน เป็นเวลา 10 ปี ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ยุบทษช.ว่า กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

ศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า การกระทำของ ทษช. ในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมื่องอื่นๆ ในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลต่อระบอบการปกครองของประเทศไทยให้แปรเปลี่ยนไปสู่สภาพที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและมีพระบรมวงศานุวงศ์ใช้อำนาจการเมือง

“สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ถือคติธรรมที่ว่าทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ย่อมถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายไปให้เสื่อมทราม” ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ให้ยุบ ทษช. ตามมาตรา 92 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และมีมติ 6 ต่อ 3 ให้สั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิด

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สมาชิก ทษช.สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ รวมทั้งช่วยผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นหาเสียงได้เช่นกัน ส่วนคดีอาญายังไม่มีการหารือกัน ต้องรอให้ กกต.กลับจากการไปดูงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ต่างประเทศก่อน
b1
น่าเศร้าและหดหู่มาก

“ปรากฏการณ์ 8 กุมภาฯ” ถือเป็น “แผ่นดินไหวการเมืองไทย” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ว แต่ก็จบลงในเวลาเพียง 13 ชั่วโมงหลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้ทรงตอบผู้ติดตามอินสตาแกรมส่วนพระองค์ ที่โพสต์กราบทูลหลังยุบ ทษช.ว่า “ทราบแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและหดหู่มาก”

นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามอินสตาแกรมเข้าไปกราบทูลว่า “เสียใจจัง แต่ถึงยังไงก็จะขอเดินหน้าไปพร้อมกับทูลกระหม่อมนะครับ❤️❤️” ซึ่งพระองค์ยังได้ทรงตอบว่า “ขอบใจมากค่ะ เราจะช่วยทำให้ดีที่สุด”
a1
ส่วน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เปิดใจด้วยเสียงสั่นเครือภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า“ผมเรียนว่าผมและกรรมการบริหารพรรค รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง การยุบพรรคการเมือง แน่นอนที่สุดว่าส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยๆ ต่อผู้สมัครและพี่น้องประชาชน… สำหรับผมไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม เราจะทำตัวให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองครับ”

ร.ท.ปรีชาพล ยังกล่าวว่า ไม่มีใครคิดร้าย อยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดีและอยากทำสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเมือง มีเจตนาบริสุทธิ์ ขอขอบคุณผู้สมัครและพี่น้องประชาชนที่เดินเคียงข้างกันมาตลอด แม้จะไปไม่ถึงสิ่งที่ปรารถนา แต่ขอขอบคุณทุกคน ปัญหาบ้านเมืองมีอีกมาก คนที่อยู่ต้องทำงานไป

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริหารของพรรคไทยรักษาชาติ 14 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปี ได้แก่ 1. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค 2. น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค 3. นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรค 4. นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค 5. นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรค 6. นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 7. นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค 8. นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค 9. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค 10. น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 11. นายพงษ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค 12. นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค 13. รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค (แจ้ง กกต.ว่ายื่นใบลาออกเมื่อ 4 ก.พ.62) และ 14. นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค
ไทยรักษาชาติ2
วิจารณ์คำวินิจฉัยเสี่ยงคุกถูกปรับ

ที่สำคัญการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กฎหมายใหม่ได้คุ้มครองศาลรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 38 ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป

นอกจากนี้ยังกำหนด “ไม่ให้วิจารณ์คำสั่งหรือวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญ” ที่กระทำด้วยความไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย โดยมีโทษตั้งเเต่การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยุบพรรคโจทย์ที่ควรแก้ด้วยการเมือง

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบและการพัฒนาสถาบันทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มองการยุบทษช.ว่า เป็นการทำลายสิทธิของประชาชนที่จะมีตัวแทนทางการเมือง ทั้งที่พรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งในประเทศไทยก็มีตัวอย่างของเชื้อพระวงศ์ที่ลงมาเล่นการเมือง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ หรือพระองค์วรรณ ก็เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างรองนายกรัฐมนตรีในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

ดร.วีระยังมองว่า ถ้ากกต.เห็นว่าคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติขาดคุณสมบัติก็ไม่ต้องรับสมัครรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็เพียงพอแล้ว ถ้าคุณสมบัติของแคนดิเดตไม่ขัดก็ต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าเขาชอบพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่ “เราควรเปิดช่องให้คนทุกคนเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าคุณสมบัติไม่ครบก็ต้องจัดการ คราวหน้าก็ต้องกำหนดคุณสมบัตินายกฯ ให้ชัดเจนว่าจะให้เป็นแบบไหน”
24 มีนาคมจับปากกาฆ่าเผด็จการ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อ่านแถลงการณ์เรื่องยุบ ทษช.ว่า 1.ในรัฐเสรีประชาธิปไตย บุคคลมีอุดมการณ์เดียวกันรวมกันตั้งพรรคกการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ จากการเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก พรรคการเมืองจึงถือเป็นสถาบันสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคจะกระทำได้ต่อเมื่อ มีเหตุต้องรักษาไว้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น

2.ตลอด 13 ปีที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง ยุบพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยต่อศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ จนสังคมไทยเดินมาจนถึงทางที่ไม่อาจข้อหายุติได้

3.การยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง 17 วันส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ประการแรก ถือเป็นการตัดโอกาสไม่ให้พรรคได้ลงแข่งขัน ทำลายเจตจำนงที่อยากเลือกพรรคที่ถูกยุบ ประการที่สอง ประชาชนจะเสียความเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนั้นมีความเสรีเป็นธรรม โดยเฉพาะพรรคที่ถูกยุบนั้นคือพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช.

4. ในรัฐเสรีประชาธิปไตยพรรคการเมืองต้องมีความชอบธรรม 2 ประการคือ จากฐานที่มาของอำนาจรัฐที่ประชาชนเลือก ส.ส. และจัดตั้งรัฐบาล และจากความชอบธรรมจากการจำกัดการใช้อำนาจ ได้แก่ ไม่ให้ประชาชนถูกอำนาจรัฐล่วงละเมิด อนาคตใหม่ยืนยันว่า รัฐเสรีประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบ แต่ก็ไม่อาจยอมรับการตรวจสอบอย่างตามอำเภอใจจากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ผ่านการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่ได้ทำเกิดการแก้ปัญหา เพราะจะทำให้การใช้อำนาจ ถูกตั้งคำถาม ฝ่ายหนึ่งมองว่า รัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า องค์กรตุลาการและองค์กรอิสระต้องการทำลายเสียงข้างมาก นำมาซึ่งการเมืองแตกขั้ว จนสังคมไทยไม่อาจหาฉันทามติได้

พรรคอนาคตใหม่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆใหม่ เคารพเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตุลาการ องค์กรอิสระ ตามแบประชาธิปไตยสากล ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือกวาดล้างทางการเมือง และขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช. พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะวางกลไกสืบผ่านกฎหมายผ่านรัฐธรรมนูญไว้ แต่ก็ต้านประชาชนไม่ได้ 24 มีนาคมจับปากกาฆ่าเผด็จการ ยุติวงจรรัฐประหาร เปิดฉากการเมืองแบบใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
13 ปียุบพรรคเสียงข้างมาก 2 ครั้ง

นายปิยบุตรยังกล่าวถึงนิยาม “ปฏิปักษ์” ตามคำวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองว่า การยุบพรรคต้องทำเฉพาะกรณีตามที่อ่านแถลงการณ์ไป ซึ่งการยุบพรรคเหมือนยุบไปแค่ร่างกาย แต่ยุบความคิดไม่ได้ 13 ปียุบพรรคเสียงข้างมาก 2 ครั้ง ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งที่ 3 ในเมื่อความคิดยังอยู่ เราจึงเห็นว่าปัญหายังไม่จบ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคตั้งแต่แรก โทษตัดสิทธิ 10 ปีถือว่ารุนแรงมาก ในฐานะอดีตอาจารย์สอนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่โดนยุบพรรคฐานปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคที่ล้มล้างการปกครองจริงๆ หรือสนับสนุนอำนาจที่ไม่ได้มาตามระบบ ซึ่งวิญญูชนคงพิจารณาได้เองว่าคำว่า “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ควรกินความกว้างเพียงใด

นายปิยบุตรกล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งสำคญมาก นี่คือหมุดหมายสำคัญที่เราจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การยุบทษช.ที่อยู่ในฝ่ายต้านคสช.กำลังส่งสัญญาณที่ไม่ดี เพราะหลายคนก็คงเคยเห็นแล้วในการเลือกตั้งกัมพูชาที่มีการยุบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย

ลิดรอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า การยุบทษช.จะลิดรอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เพราะทษช.เป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองใหญ่กลุ่มหนึ่งในปีกของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่คงไม่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายทักษิณได้รับคะแนนเลือกตั้งลดน้อยลง หรือทำให้พรรคฝ่ายนิยมทหารได้เสียงเพิ่มมากขึ้น ผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ตั้งใจจะโหวตเลือก ทษช.จะหันไปเลือกพรรคอื่นในปีกของอดีตนายกฯทักษิณแทน การแบ่งขั้วทางการเมืองจะยังดำรงอยู่ต่อไป

แคทเธอรีน เกอร์สัน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนยึดมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในระหว่างการเลือกตั้งและให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้มาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนอ่อนแอลงมากกว่านี้
เทคะแนนพรรคประชาธิปไตย

ขณะที่บีบีซีไทยวิเคราะห์ว่า คำสั่งยุบพรรคที่ออกมาในเวลาไม่ถึง 17 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ซึ่งคิดค้นเพื่อหนี “กับดักรัฐธรรมนูญ” โดยนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทยบางส่วนได้ “แตกตัว-แตกทัพ” ย้ายไปสังกัด ทษช. และเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งแบบพันธมิตรทางการเมือง โดยพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครส.ส.เขต 250 คน บัญชีรายชื่อ 97 คน ส่วน ทษช.ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต 175 คน และบัญชีรายชื่อ 102 คน

ตามแผนเดิมของพรรคเพื่อไทยต้องหิ้ว ส.ส.เขตเข้าสภาให้มากที่สุด ส่วน ทษช.คอยเก็บ “คะแนนเสียงตกน้ำ” ของผู้สมัคร ส.ส.เขตไปนับรวมเป็นคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อเสียงของ ทษช. หายไปก็จะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างมิอาจปฏิเสธได้ คือ อย่างน้อย 100 เขตเลือกตั้งจากทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้งที่จะไม่มีผู้สมัคร ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทยและทษช.เลย

เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครพรรคเพื่อไทยและทษช. คะแนนเสียงมีแนวโน้มจะไหลไปอยู่ที่พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ แต่คะแนนที่ไปเพิ่มให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ได้การันตีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเป็นฐานเสียงที่อยู่ในตะกร้าเดิมใน “พื้นที่ทับซ้อน” 75 เขตที่พรรคเพื่อไทยและทษช.เคยส่งผู้สมัคร แต่ประชาชนที่ชื่นชอบ “พรรคทักษิณ” อาจสับสนน้อยลงและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

รัฐประหารปราสาททราย

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับเอพีก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การยุบทษช.จะลดทอนโอกาสของพรรคการเมืองปีกอดีตนายกฯทักษิณลงเป็นอย่างมากในการคว้าชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล

ผศ.ดร.ประจักษ์ยังให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ปรากฏการณ์ 8 กุมภาฯ ก่อให้เกิด “แผ่นดินไหวทางการเมือง” และ “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาหลายระลอก ทำให้พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ก็อาจเกิด “สึนามิทางการเมือง” ได้ในวันเลือกตั้งด้วยพลังของประชาชน และทำให้แผนการต่าง ๆ ที่เตรียมมาภายหลังยึดอำนาจปี 2557 ต้องกลายเป็น “รัฐประหารปราสาททราย” หากประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกฝ่ายประชาธิปไตยอย่างถล่มทลาย

ไม่เกินสิ้นปีได้เลือกตั้งใหม่

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณียุบ ทษช.ว่า ไฮโลเปิดถ้วยแทงยุบพรรคไม่ผิดคาดอย่างที่เดาไว้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรรมการบริหารพรรคโดนตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติกลายเป็นสัมภเวสี ผีไม่มีญาติ งานแรกเปิดตัวคนรุ่นใหม่ตายยกรัง กลยุทธ์แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อยตอนนี้แม้เศษตังค์ยังไม่เหลือ

หากเทียบกับฟุตบอล เท่ากับเตะเข้าประตูตัวเองนาทีสุดท้าย ครั้นจะโยกคะแนนให้เครือข่ายก็ไม่ได้ง่ายเหมือนแบ่งกับข้าวบนโต๊ะอาหาร เพราะบัตรเลือกตั้งมีใบเดียว ตอนนี้เลยตัวใครตัวมัน อีกสักนิด เลือกตั้งเที่ยวนี้ “ของเก๊” มันแยะ หวังจะเก็บเศษเหรียญไปแลกเป็นแบงค์ร้อย ต้องระวังให้ดี ไหนๆจะให้ชูวิทย์วิเคราะห์ แปะไว้ข้างฝา “ไม่เกินสิ้นปี ได้เลือกตั้งใหม่”
สึนามิทางการเมือง

ขณะที่ในโลกออนไลน์หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็มีการติดแฮชแท็ก “#ไทยรักษาชาติ” จนขึ้นอันดับ 1 บนเทรนด์ทวิตเตอร์ (เวลา 16.20 น.) บ้างก็ให้ความเห็นคัดค้านและมีการเปรียบเทียบมาตรฐานของกระบวนยุติธรรม

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงค่ำและเริ่มมีการติดแฮชแท็กอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง อย่างเวลาประมาณ 20.00 น. แฮชแท็ก “#ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง” จนเป็นเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ส่วน “#ไทยรักษาชาติ” อันดับ 2 “#24มีนากาพรรคฝั่งประชาธิปไตย” อันดับ 3 ตามด้วยอันดับ 4 “#ยุบพรรค” จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. แฮชแท็ก “#ทองเอกหมอยาท่าโฉลง” จึงได้แซงหน้า “#ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง” ขึ้นเป็นอันดับ 1 แทน

เสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ที่มีความอิสระจึงเหมือนการส่งสัญญาณถึงกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ โดยปราศจากความกลัวและอคติใดๆ ทั้งไม่ได้ถูกครอบงำด้วยวาทกรรม “หนักแผ่นดิน” ที่ผู้นำกองทัพออกมาแสดงพลังเพื่อส่งญญาณถึงพรรคการเมืองที่ต้องการปฏิรูปกองทัพและยุติวงจรรัฐประหาร

24 มีนาคมจึงเป็นอาจเกิด “สึนามิทางการเมือง” วันที่ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกมีชีวิตเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา หรือรวมพลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง !!??


You must be logged in to post a comment Login