วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทั้งลึกทั้งลับ

On March 14, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 14 มี.ค. 62)

หลังจากวันที่ 9 มีนาคม 2562 หรือ 15 วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. และคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นำรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรเป็น “ว่าที่ ส.ว.” ส่งให้ คสช. คัดเลือก 250 คน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จึงใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอเอกสารที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 จาก กกต. และ คสช. 4 รายการคือ

1.รายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่ง คสช. แต่งตั้ง และรายละเอียดความรู้และประสบการณ์กรรมการแต่ละคนตามมาตรา 269 (1)

2.รายชื่อบุคคลที่ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือกจำนวน 200 คน เพื่อเสนอต่อ คสช. แต่งตั้งเป็น ส.ว. ตามมาตรา 269 (1) (ก)

3.วิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนดในการเลือก ส.ว. ตามมาตรา 269 (1) (ข)

4.รายชื่อบุคคลซึ่งสมควรเป็น ส.ว. ที่ได้รับการสรรหาจำนวน 400 คน ตามมาตรา 269 (1) (ข)

ที่น่าสนใจคือการโยนไปมาในการขอข้อมูลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น กกต. คสช. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบของ คสช. และทำเนียบรัฐบาลที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.

แม้ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารจะรับคำร้องเอาไว้ แต่ก็แจ้งว่ามีหน้าที่ส่งเรื่องเท่านั้น ทั้งไม่สามารถให้คำตอบว่าจะยื่นเอกสารกับ คสช. หรือส่วนอำนวยการสำนักเลขาธิการ คสช. ได้ที่ใด เพราะไม่ได้ให้ประชาชนเข้าไปติดต่อได้

การสรรหา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจึงทั้ง “ปิดลับ-ลึกลับ” และยังไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอีกด้วย ทั้งที่ ส.ว. มีบทบาทสำคัญหลังการเลือกตั้ง สามารถร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รวมทั้งอำนาจในการควบคุมรัฐบาลให้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

แต่การสรรหา ส.ว. กลับทำเป็นความลับและลึกลับ ไม่มีความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนรับรู้และตรวจสอบเลย!!??


You must be logged in to post a comment Login