วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โลก 2 ใบของชาย 2 บุคลิก

On March 14, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก

ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  15-22 มีนาคม  2562)

การเมืองโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม หลังปรากฏการณ์ “7 มีนาคม” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาด้วยปฏิกิริยาในโลกออนไลน์ “#ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุงตู่” การต่อสู้ทางการเมืองยิ่งเข้มข้นระหว่าง “ฝ่ายไม่เอาลุงตู่” กับ “ฝ่ายสนับสนุนลุงตู่”

ขณะที่ “ลุงตู่” ก็เปลี่ยนภาพพจน์ตัวเอง โดยโพสต์ภาพในอินสตาแกรม @prayutofficial สวมเสื้อโปโลสีขาว สวมทับด้วยชุดวอร์มสีดำและหมวกสีดำ โพสท่ายิ้มแฉ่งและ 2 มือขยับปกเสื้อโดยมีแคปชั่นว่า “วันหยุด มาออกกำลังกายกันครับ #ผมพร้อมไปให้สุดแล้ว หยุดที่ลุงตู่ พร้อมไหมไปกับลุงตู่”

“อภิสิทธิ์” ปล่อยคลิปไม่เอา “ลุงตู่”

สถานการณ์ที่ร้อนระอุกลับเป็นคลิปของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงผ่านแฟนเพจ Abhisit Vejjajiva (10 มีนาคม) ประกาศจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

“ชัดๆเลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว”

นายอภิสิทธิ์ไม่ได้พูดถึงการร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ จึงถูกตั้งคำถามทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตยและโลกออนไลน์ว่าเป็นการเล่นละครตบตาแบบเดิมๆเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนที่เบื่อหน่าย พล.อ.ประยุทธ์ช่วงโค้งสุดท้ายหรือไม่ แม้นายอภิสิทธิ์จะยืนยันอีกครั้งว่าพูดในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดอุดมการณ์พรรคที่จะไม่เอาการสืบทอดอำนาจ จึงไม่ต้องไปถามถึงมติของพรรค เพราะบัญญัติไว้ในอุดมการณ์พรรคอยู่แล้ว เหตุผลที่ต้องแถลงจุดยืนเพราะต้องการทำการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้ประชาชนได้รับทราบความชัดเจนของพรรคเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจ แม้อาจทำให้คะแนนความนิยมพรรคน้อยลงก็ต้องยอมเพื่อรักษาอุดมการณ์

ไม่มีงูเห่าแต่แทงกั๊กร่วม พปชร.

ส่วนคำถามที่ว่าพรรคจะไปร่วมกับใครบ้างหลังการเลือกตั้งที่จะจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กลับไม่ตอบตรงๆ เพียงยืนยันว่ามุ่งการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องเป็นผู้เลือก ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่ทุจริตคอร์รัปชัน และไม่ร่วมกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ อย่างพรรคเพื่อไทยมองไม่เห็นว่าจะร่วมกันได้อย่างไร เพราะยังไม่ออกจากวังวนที่มีบุคคลบางกลุ่มคอยสนับสนุน ส่วนพรรคพลังประชารัฐถ้ามีแนวทางที่สืบทอดอำนาจก็ไม่ร่วม และพร้อมเป็นฝ่ายค้าน

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ และค่อนข้างผูกพันตั้งแต่เป็นรัฐบาล แต่การตัดสินใจวันนี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ประเทศในระยะยาว เพราะเล็งเห็นว่าเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากที่สุดคือการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์จึงกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง

หาก พปชร. จะเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลก็ต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจทั้งตัวบุคคลคือ พล.อ.ประยุทธ์และมรดกที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยคือคำสั่งและประกาศ คสช. ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย แนวทางการบริหารประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจ ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งประชาธิปัตย์ได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้วและจะเข้าไปแก้ไขสิ่งเหล่านี้

นายอภิสิทธิ์ยังยืนยันว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ไม่ถึง 100 เสียงจะลาออก และก็จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นอุดมการณ์พรรค หากมี ส.ส. ของพรรคไปยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่น พรรคจะต้องดำเนินการ เพราะถือว่าขัดกับข้อบังคับพรรค ซึ่งตนมั่นใจว่าจัดการได้ ไม่มีงูเห่าแน่นอน

“ผมยังนึกไม่ออกว่าถ้าเขาไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้วจะเป็นอย่างไร เพราะผู้บริหารของพรรคเขาหลายคน ทั้งหัวหน้า เลขาธิการ และโฆษกพรรค ก็ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. หากคนของเขาเข้าสภา เขาจะมีตัวหลักอยู่ที่ ส.ส. กลุ่มเดียวได้รับเลือกเข้ามา ผมขอย้ำว่าหาก พปชร. ยังพยายามสืบทอดอำนาจ ประชาธิปัตย์จะไม่ให้เขามาร่วมรัฐบาลด้วย ส่วนพรรคเพื่อไทยผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะจากปรากฏการณ์หลายอย่างในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดแล้วว่ามีคนที่จะมาครอบงำพรรคได้อยู่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

“สุเทพ” ทวงบุญคุณ “อภิสิทธิ์”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ที่ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตอนหนึ่งว่า “ที่จริงผมไม่อยากพูดถึงเลยนะครับ ผมออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ 37 ปี ผมเป็นเลขาธิการพรรค เป็นผู้บริหารพรรคคนสำคัญคนหนึ่ง และผมบอกกับพี่น้องตรงๆ ผมเป็นคนทำให้อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ใช่เพราะผม ผมไม่รู้ว่าชาติหน้ามันจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นี่แหลงกันตรงๆ”

นายสุเทพกล่าวว่า ตนก็ข้องใจอยากจะถามนายอภิสิทธิ์ว่า ตกลงนายอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่มั้ย นี่แสดงว่าถ้าฝ่ายทักษิณเทคะแนนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯจะเอาทันทีใช่มั้ย “นี่แสดงว่ามึงอาจอยากจะเป็นนายกฯจนลืมหัวกูแล้วใช่มั้ย”

พปชร. เรียงแถวอัด “อภิสิทธิ์”

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ประกาศจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยเตือนนายอภิสิทธิ์ที่ออกมาบอกคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่าหากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องออกจากพรรคไปว่า พูดจาอะไรให้ระมัดระวัง และให้ประชาชนไปใคร่ครวญเองว่าวันหน้านายอภิสิทธิ์จะทำตัวอย่างไร เลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเปลี่ยนท่าทีอย่างไร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า อยากสอบถามนายอภิสิทธิ์ว่าหากไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหมายความว่าจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ เพราะขณะนี้การเมืองไทยมีอยู่เพียง 3 ขั้วเท่านั้นคือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ การประกาศท่าทีเช่นนี้แสดงว่านายอภิสิทธิ์จะไปร่วมกับเพื่อไทย อยากทราบความชัดเจนว่าคิดเช่นนั้นใช่หรือไม่

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขอให้จำไว้ว่าพูดอะไร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นคนเลือก พรรคจะเดินหน้าหาเสียงต่อและจะไม่ประกาศอะไรนอกจากเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ รอให้ผลการเลือกตั้งออกมาก่อนก็ไม่สายเกินไปที่จะพูดเรื่องการทำงานกับใครได้บ้าง เพราะยังมีเวลา

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อหวังคะแนนจากประชาชน เป็นคำพูดที่ใจแคบ เพราะหากต้องการสืบทอดอำนาจก็ไม่จำเป็นจะต้องให้มีการเลือกตั้งหรือเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตอย่างวันนี้ ทั้งยังมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างแน่นอน ส่วนตัวไม่อยากเห็นประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ดีแต่พูด หรือนายกรัฐมนตรีรีโมตที่กดสั่งการจากที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้

“สุดารัตน์” จี้ “อภิสิทธิ์” พูดชัดเจน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในรัฐสภามีแค่ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทยประกาศชัดไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต่อท่ออำนาจ ไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน คสช. รวมถึงพรรคการเมืองที่ไม่ศรัทธาและไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภาอย่างแท้จริง เช่น พรรคการเมืองที่บอยคอตไม่ลงเลือกตั้งหลังยุบสภา และหลังรัฐประหารยังไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีก เอาเวทีประชาธิปไตยโยนให้กับฝ่ายอำนาจนอกระบบ เสมือนสมคบคิดกันทำให้ระบบและกลไกของระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภาเดินไม่ได้จนต้องรัฐประหาร ถือเป็นการกวักมือเรียกทหารเข้ามาช่วย แม้แต่ยุบสภาแล้วก็ไปขัดขวางการเลือกตั้ง ปิดหน่วยเลือกตั้ง

คุณหญิงสุดารัตน์ยังกล่าวว่า เป็นการพยายามสร้างวาทกรรมเผด็จการรัฐสภาที่ไม่มีอยู่จริง เพราะทุกพรรคที่เป็นรัฐบาลก็ได้เสียงข้างมาก ถ้าเสียงข้างมากทำเลว ทำไม่ดี ทุจริตโกงกิน การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะพิพากษาเอง แต่ประเทศไทยกลับให้อำนาจนอกระบบมาขัดขวางตัดตอนการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร หากการทำรัฐประหารทำให้ประเทศเจริญได้คงไม่ทำให้ประเทศเป็นแบบนี้

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พยายามเรียกคะแนนจากประชาชนในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะประชาธิปัตย์รู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการต่อท่ออำนาจ จึงพยายามออกมาบอกว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่เคยบอกว่าไม่เอาพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจนเหมือนที่พรรคเพื่อไทยพูด จึงเชื่อว่าวาทกรรมทั้งหมดเป็นเพียงการหวังคะแนนก่อนการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะหาเหตุผลใหม่”

คุณหญิงสุดารัตน์ยังถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมมือกับใครเมื่อประกาศไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย อยากให้นายอภิสิทธิ์พูดมาตรงๆ ไม่ใช่ไปตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้ พันคอตัวเองจนตกหลุม วันนี้อย่าทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หากจะร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ผิด ถ้าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์แต่เอาพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่านายอภิสิทธิ์จะพูดด้วยเหตุผลหล่อๆหลังการเลือกตั้งว่าท้ายที่สุดต้องร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะทางเลือกสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่เพียงจะสืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจเท่านั้น อย่าหลอกประชาชนเพื่อให้ได้คะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้ง แต่หลังการเลือกตั้งก็ออกมาชี้แจงเหตุผลใหม่

วาทกรรม “สืบทอดอำนาจ”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนในช่วงนี้เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการสืบทอดอำนาจ หากจะให้เกิดความชัดเจนกว่านี้ก็ควรประกาศด้วยว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะยังมีคำถามคาใจประชาชนว่าสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

นายชัชชาติยังกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่าคำว่า “สืบทอดอำนาจ” เป็นเพียงวาทกรรมและนักการเมืองก็สืบทอดอำนาจเหมือนกันว่า การสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องปรกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องสืบทอดอำนาจโดยประชาชนเป็นคนเลือก การเลือกตั้งครั้งนี้มีการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน มาช่วยเลือกนายกฯด้วย

ดังนั้น คำว่าสืบทอดอำนาจน่าจะเป็นประเด็นนี้มากกว่า ถ้าท่านจะกังวลเรื่องสืบทอดอำนาจให้ประกาศไปเลยว่าให้ ส.ว. เลือกตามประชาชน ก็จะหยุดข้อครหาว่าคนที่แต่งตั้งมามีอำนาจเหนือประชาชน ถ้าเป็นประเพณีปรกติ การสืบทอดอำนาจมาจากฉันทามติของประชาชนก็ไม่มีปัญหา แต่กฎครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา

โลก 2 ใบของชายชื่อมาร์ค!

นายพานทองแท้ ชินวัตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความถึงนายอภิสิทธิ์ “โลก 2 ใบของชายชื่อมาร์ค..!!” ว่า โลกใบที่หนึ่งเกาะกระแสเกลียดปลาไหล (เผด็จการ) โลกอีกใบรอกินน้ำแกง (ร่วมรัฐบาล) สับขาหลอกไปมา ไม่ได้ประโยชน์อันใดนอกจากประชาชนจะคิดว่าเป็นการแสดงความ “ไม่จริงใจ” ชัดเจนไปเลยดีกว่า

การเมือง 2 ขั้วใหญ่ เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ เขาชัดเจนว่าไม่ร่วมทางกัน 100% แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ประชาชนเข้าใจได้ง่าย กาบัตรเลือกตั้งได้ง่าย เหลือแค่พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่ไม่ยอมให้คำตอบที่ชัดเจนกับประชาชน จุดยืนอยู่ไหน อันไหนอุดมการณ์พรรค อันไหนความคิดตัวเอง ทำให้มันคลุมเครือเข้าไว้ การเมืองในสภามีแค่ 2 ฝ่าย รัฐบาลกับฝ่ายค้านเท่านั้น ไม่มีฝ่ายที่ 3 ถ้าไม่เอาด้วยสักทางแล้วจะให้ประชาชนเลือกประชาธิปัตย์เข้าสภาไปเพื่ออะไร

“การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีแค่โลกใบเดียว ไม่ต้องชักแม่น้ำทั้ง 5 24 มีนาฯจะเลือกตั้งแล้ว ชาวประชารอความชัดเจนอยู่ครับ ประชาธิปัตย์จะเอายังไง..?? พูดดดดดด..!!  #หมดเวลานักการเมืองดัดจริตต่อชีวิตเผด็จการ”

“ธนาธร” จี้ใจดำ “อภิสิทธิ์”

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวช่วงหนึ่งในงาน The Standard Debate 2019 ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไม่ได้เลยถ้าเราไม่พูดถึงความปรองดอง แต่นักการเมืองเรากลับมาบอกให้หลงๆลืมๆไปเถอะ ทั้งที่คนที่จะไม่ให้เกิดความปรองดองไม่ใช่ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ แต่เป็นคนที่เอาอำนาจไปจากประชาชน โดยจุดยืนของพรรคไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์และไม่เอาพลังประชารัฐด้วย เพราะเชื่อว่ามีบางพรรคที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่จะจับมือกับพลังประชารัฐเพื่อชูตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างนายธนาธรอภิปรายทำเอากองเชียร์เฮลั่น ขณะที่กล้องก็จับไปที่หน้าของนายอภิสิทธิ์ที่กำลังถูกจับตามองว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่พร้อมจับมือพลังประชารัฐ

“นิพิฏฐ์” กางเงื่อนไขร่วม พปชร.

การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์พูดให้ชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หากย้อนดูพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาทั้งการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารและการออกมาร่วมกับ กปปส. จนเกิดรัฐประหาร คสช. ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ขนาดนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ประกาศชัดว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ชาวบ้านต้องแยกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐออกจากกัน นายอภิสิทธิ์พูดบนสมมุติฐานว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่มาร่วมด้วยก็ต้องสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเราไปร่วมก็ต้องสนับสนุนคนของเขา ซึ่งก็เป็นธรรมดา แต่เรามั่นใจว่าเรามีคะแนนมากกว่า

ปชป. แถลงยันไม่เอา “ลุงตู่”

อย่างไรก็ตาม หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่เชื่อคำพูดนายอภิสิทธิ์  เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรค และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ร่วมกันแถลงย้ำจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นายองอาจให้เหตุผลที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ 1.พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงศักยภาพให้เห็นชัดเจนในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน 2.ใช้อำนาจแฝงโดยมิชอบเกินขอบเขตเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ที่เห็นได้ชัดคือการปกปิดข้อมูลหลายด้านจนเกิดข้อครหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในหลายโครงการที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งใช้กลไกอำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระ และ 3.พล.อ.ประยุทธ์ใช้ตรรกะที่บิดเบี้ยวที่ระบุว่าไม่อยากให้ใช้วาทกรรมการสืบทอดอำนาจ และระบุว่าพรรคการเมืองก็ทำและอยากเป็นนายกฯ

นายองอาจยังชี้ว่า ผู้ที่เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองต่างๆล้วนเป็นการเสนอตัวเป็นนายกฯตามระบอบประชาธิปไตยปรกติ ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่เข้ามาโดยการยึดอำนาจ อ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แต่กลับทำตรงกันข้ามและมีพฤติกรรมที่เอาเปรียบนักการเมือง โดยใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้

2 กระแส 3 ก๊กการเมือง

นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Paisal Puechmongkol เรื่องสามก๊กการเมืองไทยว่า ขณะนี้บังเกิดเป็น 2 กระแสคือ พรรคที่หนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯคือ พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป ครูไทยเพื่อประชาชน และชาติไทยพัฒนา กับพรรคที่ไม่เอา “ลุงตู่” คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย เพื่อชาติ เพื่อธรรม เสรีรวมไทย และประชาชาติ สำหรับพรรคชาติพัฒนาที่เนื้อแท้คือกลุ่มราชครู สายเดียวกันกับภูมิใจไทย จึงน่าจะไปด้วยกัน

นายไพศาลยังโพสต์ถึงพรรคอนาคตใหม่ว่า จากผลโพลลับและข้อมูลจาก Google Trend ว่าจะเกิดสึนามิทางการเมืองในประเทศไทย แบบเดียวกับที่มาครงชนะเลือกตั้งในฝรั่งเศส ทรูโดชนะเลือกตั้งในแคนาดา ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในอเมริกา และมหาเธร์ชนะเลือกตั้งในมาเลเซีย ก็คอยดูกันต่อไป

ที่สำคัญเวลานี้ใครที่อยากจะยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนการเลือกตั้งคงไม่ทันแน่แล้ว แถวหน้าของพรรคอนาคตใหม่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุยังน้อยก็จริง แต่ข้างหลังมากไปด้วยคนระดับคุรุจำนวนมาก ในขณะที่บางพรรคแถวหน้าเป็นนักการเมืองเก่าเก๋าที่เคยถูกพันธมิตรฯและ กปปส. ขับไล่มาแล้ว แต่ข้างหลังกลายเป็น “สามเณรทางการเมือง” คิกขุอาโนเนะ!!

“งูเห่า” ภายใต้ 3 ก๊กการเมือง

ความเห็นของนายไพศาลสอดคล้องกับนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดการเมืองแบบ 3 ก๊กในการตั้งรัฐบาล และอาจเห็นสถานการณ์ “งูเห่า” ในการโหวตสวนกับพรรคที่ตัวเองสังกัดเพื่อเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดกว้างให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองก็ไม่กล้าขับออกจากพรรคด้วย เพราะหากขับออกจากพรรคเมื่อไร ส.ส. ก็จะย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐทันที จึงเป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองจะเก็บ “งูเห่า” ไว้ในพรรคต่อไป แต่ส่วนตัวคิดว่าสถานการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น

นายปริญญายังกล่าวถึงปัญหาเรื่องคุณสมบัติว่าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ว่า เป็นปัญหาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดคิดมาก่อน นักกฎหมายของ คสช. ก็นึกไม่ถึง รัฐธรรมนูญยกเว้นแต่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นข้าราชการการเมืองเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆไม่ได้รับการยกเว้น ประเด็นสำคัญคือ หัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อำนาจรัฐต่างๆหลายกรณี

บีบ พปชร. เลือก ปชป.

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ค (12 มีนาคม) ถึงการประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ว่า เขียนไว้หลายครั้งแล้วว่า ปชป. เป็นกุญแจสำคัญต่อการสืบทอดอำนาจ คสช. และจะต่อรองให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการร่วมรัฐบาล แต่เดิมเดาว่าคงเอาแค่รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญไปครอง ขณะที่อภิสิทธิ์ไม่ร่วม ครม. หรือ “ยอมเสียหน้า” ลดตัวลงมาเป็นรองนายกฯ แต่คาดผิด! ปชป. ตั้งเงื่อนไข “ไม่เอาประยุทธ์ และไม่ปฏิเสธพลังประชารัฐที่ไม่สืบทอดอำนาจ” นี่ไม่ใช่ละครตบตา แต่เป็นเกมลึกซึ้งเพื่อประโยชน์ตัวเองล้วนๆตามสไตล์ที่ไม่เคยมีมิตรแท้ถาวร

บีบให้นักการเมืองใน พปชร. หลังเลือกตั้งต้องเลือกระหว่างหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯแล้วรวมสองสภาเสียงไม่พอกับหนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯแล้วได้เป็นรัฐบาลทันที ณ นาทีนั้น พปชร. จะเลือกอะไร? นักการเมืองใน พปชร. “รักสนับสนุน” ประยุทธ์ด้วยใจจริงเหรอ? เป็นรัฐบาลร่วม ปชป. แบบง่ายๆ กับเป็นฝ่ายค้านจะเอาแบบไหน? ปชป. อ่านธาตุแท้ พปชร. ได้ทะลุจึงกล้าเดินเกมนี้

ที่ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “ถึงยังไงก็ไม่ร่วมกับเพื่อไทย” หวังว่า เมื่อ คสช. และ ส.ว. 250 คน เห็นประยุทธ์ไปไม่รอดก็จะหันมาหนุน ปชป. ซึ่งยังดีกว่าฝั่งตรงข้าม คือเอาความ “กลัวทักษิณ” เป็นเครื่องต่อรอง

คำถามคือ คสช. จะหาทางออกอย่างไร? จะยอมกล้ำกลืน “สืบทอดอำนาจ” ผ่านนักการเมืองอย่าง ปชป. หรือ? ทหารจะยังไว้ใจ ปชป. ได้อีกหรือหลังจากบทเรียนรัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วง 53-54?

ย้อนคำพิพากษา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เดินหน้าให้ กกต. ตรวจสอบว่าการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคดิเดตนายกรัฐมนตรีขณะที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) หรือไม่ เพราะยื่นคำร้องไปหลายครั้งแล้ว กกต. ไม่น่าจะใช้เวลาเนิ่นนาน ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขแดงที่ อ.2183/2558 ระบุไว้ว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้”

นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 7767/2559 ระบุไว้ว่า “ที่จำเลยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ใช่เจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจดำเนินการต่างๆตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322-2323/2561 มีการย่อไว้ส่วนหนึ่งว่า “จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ …”

นายเรืองไกรเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (15) ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่า พปชร.ไม่มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

“ลุงตู่” เป็น “เจ้าหน้าที่เหนือรัฐ”

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า เมื่อ คสช. เป็นเพียง “องค์กรชั่วคราว” ตามที่ ป.ป.ช. เคยมีมติไว้เมื่อปี 2557 ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงถือเป็น “ตำแหน่งพิเศษ” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ขาดคุณสมบัติ สามารถเสนอชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ทั้ง “ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน” ต่อ ป.ป.ช.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และมีข้อห้ามข้อปฏิบัติพร้อมวัตรปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อการดำรงตนในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เลิกเถียงเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ เพราะหลายคนรวมทั้ง นายวิษณุได้เฉลยไปแล้วว่าอย่างไรก็เป็น

แต่สถานะวันนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์เกินเลยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากนอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วยังมีสถานะเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งเหนือส่วนราชการทั้งหมด เหนือทุกตำแหน่ง สามารถออกคำสั่งให้ทุกคนทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามได้โดยใช้มาตรา 44 หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่พึงพอใจ หากใจถึงก็ยังสามารถสั่งการให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้

“เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นี้จึงแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นๆ ถือเป็นเจ้าหน้าที่เหนือรัฐอย่างแท้จริง ดังนั้น 24 มีนาคม ช่วยกันส่งเจ้าหน้าที่เหนือรัฐให้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหลังคืนสู่ประชาธิปไตย หรือส่งให้เป็นข้าราชการบำนาญ” นายสมชัยกล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐแบบพิเศษ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์เฟซบุ๊ค “ชอบแบบพิเศษ” กรณีนายวิษณุพูดเรื่องความเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” แบบพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ให้ชาวบ้านที่ไม่ได้รู้กฎหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษ แต่รู้อยู่ว่าผู้ที่ทำงานเพื่อบ้านเมืองย่อมต้องมีจริยธรรมมากกว่าชาวบ้านร้านตลาดธรรมดาเป็นพิเศษ

“ที่คุณวิษณุกับ ป.ป.ช. บอกว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐแบบพิเศษ” ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ผมในฐานะที่เคยติดคุกด้วยการ “ลืมยื่นบัญชีทรัพย์สินน้อยเป็นพิเศษ” เพียง 150,000 บาท รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเป็นพิเศษ เพราะการเป็น ส.ส.  ฝ่ายค้านอย่างผม อำนาจวาสนาพิเศษจะออกคำสั่งย้ายยามสักคนยังไม่มี แต่ท่านประยุทธ์เป็นถึงหัวหน้า คสช. แบบพิเศษ มีอำนาจ ม.44 ย้ายข้าราชการทุกคนได้เร็วเป็นพิเศษ แถมคำสั่งของท่านอยู่เหนือกฎหมายทุกฉบับเป็นพิเศษ

หากจะมีอำนาจพิเศษขนาดนี้ก็น่าจะยื่นบัญชีทรัพย์สินแบบพิเศษไปเสียเลย ชาวบ้านเขาจะได้ไม่นินทาเป็นพิเศษ แต่อย่างว่าล่ะครับ แม้แต่ตอนจะชิงเก้าอี้นายกฯก็ยังมี 250 เสียงเป็นพิเศษ ชาวบ้านธรรมดาๆแบบเราอย่างเก่งก็สั่งได้แค่ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นพิเศษ เฮ้อ! ยิ่งพูดยิ่งน่ากลุ้มใจเป็นพิเศษ ใครบิดเบี้ยวความเป็นจริงต้องรับผลที่ทำผิดความจริงเอาไว้เอง สาธุ

อำนาจหน้าที่ทับซ้อน

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (4 มีนาคม) ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีรูปแบบหรือลักษณะที่ในทางหลักวิชาเราเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญคู่” หรือ “Dual Constitution” หมายถึงมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับทำหน้าที่คู่ขนานกันไปในเวลาเดียวกันคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2557) ผ่านบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) จนขัดแย้งกันเองในหลายเรื่อง

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.พรสันต์ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “หากตัดเรื่องเป็นแคนดิเดตนายกฯออกไป ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วการที่คุณประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกฯในขณะเดียวกัน ถือเป็นการกระทำต้องห้าม ทำมิได้อยู่ดี ตรรกะเดียวกันกับการห้าม ส.ส. เป็นผู้พิพากษาในเวลาเดียวกัน เพราะเรื่องอำนาจหน้าที่ทับซ้อน”

เป็นนายกฯใช้อำนาจหัวหน้า คสช.?

ประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ อยู่ที่การตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งภายใต้อำนาจรัฐประหารอยู่ที่ผู้มีอำนาจและลิ่วล้อจะตีความให้เป็นสีเทาหรือสีดำก็ได้ทั้งนั้น แม้แต่การสร้าง “อภินิหารทางกฎหมาย” เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ทำให้เห็นมาแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (12 มี.ค.) อย่างอารมณ์ดีว่า วันนี้พยายามแยกบทบาทของตัวเองระหว่างหน้าที่นายกฯและผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ยอมรับว่ายากเหมือนกัน โดยยืนยันว่าตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ตนก็เป็นนายกฯไปแล้ว ไม่ใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าวันนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญออกมา ตนหยุดสถานการณ์ไม่ได้ก็เป็นกบฏ ตนจึงเป็นนายกฯตามกฎหมาย อย่าไปย้อนแย้งกลับไปกลับมา มันจะไม่จบเสียที

โลก 2 ใบของชาย 2 บุคลิก

จากคำพูดของ “ลุงตู่” จึงย้อนแย้งและสับสนว่าตนเองเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ การยอมรับฐานะของตัวเองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จึงเป็นเรื่องพิลึก เพราะถ้าหากตนไม่ใช่หัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ที่ผ่านมาเกือบ 5 ปี ทำไมใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกกฎหมาย มาตรการต่างๆ รวมถึงการโยกย้ายข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีอำนาจมาตรา 44

หาก “เนติบริกร” ตะแบงว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็น “ตำแหน่งพิเศษ” ก็เท่ากับไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้”

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเหมือนอยู่บนโลกพิสดาร 2 ใบ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นอย่างพิสดาร องค์กรอิสระก็มาอย่างพิสดาร กติกาการเลือกตั้งก็มีสูตรพิสดาร การแบ่งเขตเลือกตั้งก็พิสดาร การเลือกนายกรัฐมนตรีก็พิสดาร สภาลากตั้งก็มาอย่างพิสดารแถมเป็นความลับ ในขณะที่ผู้ร่วมเป่านกหวีดสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการอย่างหัวหน้าพรรคเก่าแก่ก็ออกอาการพิสดารสับสนด้วยวาทกรรมล่าสุดหยุดการสืบทอดอำนาจลุงเสียดื้อๆ แต่ก็พร้อมจะผสมพันธุ์กับพรรคของลุงโดยขอไม่เอาลุงจนสับสนในบุคลิกที่หลากหลาย

โลกของ “ไดโนเสาร์” และโลกของ “แมลงสาบ” จึงเหมือนคน 2 บุคลิกที่สร้างโลกขึ้นมาคนละ 2 ใบ ท่ามกลางอารมณ์ “ฟินหัวใจ” อย่างที่ใครๆต่างงุนงงว่านี่คือโลก 2 ใบที่เขาสร้างขึ้นมา หรือเป็นโลกของ 2 ไบโพลาร์ (bipolar) ของคน 2 บุคลิกที่รักษาไม่หาย?

คนหนึ่งอยากเป็นนายกฯแต่ไม่ยอมออกจาก “หัวหน้าคณะรัฐประหาร”

อีกคนอยากเป็นนายกฯจึงต้องเล่นบท “เกลียดตัวแต่ขอกินไข่”

เรื่องของชาย 2 โลก 2 บุคลิกจึงพิสดารยิ่งนัก!!??

 


You must be logged in to post a comment Login