วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผ่านทีละด่าน

On March 15, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 14 มี.ค. 62)

แม้ “ลุงตู่” และพรรคพลังประชารัฐจะได้ไฟเขียวจากหน่วยงานตรวจสอบ แต่การจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศหลังเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้จำนวน ส.ส. ในมือตามเป้าที่ตั้งไว้ ต่อให้มี ส.ว. ตุนอยู่ 250 เสียงก็ไร้ความหมาย โจทย์ต่อไปคือทำอย่างไรให้ได้ ส.ส. สนับสนุนไม่น้อยกว่า 125 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกฯให้ได้ก่อน ส่วนอุปสรรคในการทำงานจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาล่างซึ่งเป็นโจทย์ต่อไปค่อยไปแก้กันดาบหน้า ขอให้ได้เก้าอี้นายกฯมาก่อนอย่างอื่นค่อยว่ากัน

กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ใช้อำนาจสั่งข้าราชการได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะงงนิดหน่อย แต่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

จากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีมติเป็นเอกฉันท์ตีตกคำร้องนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ร้องให้ตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ซึ่งจะไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้

มติของผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ที่ระบุว่าหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปรกติ อันเป็นการเข้าควบคุมประเทศระยะหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล มาตรา 265 ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะตำแหน่งหน้าที่หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ

เอวัง..ก็มีด้วยประการฉะนี้

เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ก็คงไม่ต้องคาดเดาผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีผู้ไปร้องให้สอบในกรณีเดียวกัน เชื่อได้ว่าในจำนวนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะมีชื่อ “ลุงตู่” ต่อไปอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้วจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่พายเรือให้ “ลุงตู่” นั่ง ทุกคนรู้เหมือนกันว่าการเมืองหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างประกาศชัดเจนว่าไม่มีวันร่วมมือกันตั้งรัฐบาล

เท่ากับว่าการเมืองจะมี 3 ขั้วแย่งชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลคือ ขั้วเพื่อไทย ขั้วประชาธิปัตย์ และขั้วพลังประชารัฐ

ถ้าพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุน “ลุงตู่” ได้เสียง ส.ส. ไปรวมกับ ส.ว. ที่ตั้งไว้รอแล้วไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก 2 สภาร่วมกัน คือได้ไม่เกิน 375 เสียง จะเกิดเดดล็อกทางการเมืองแน่นอน เพราะถ้าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ยืนกระต่ายขาเดียวไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศได้

เมื่อเกิดเดดล็อกทางการเมืองแบบนี้จะทำให้ “ลุงตู่” และรัฐบาลทหาร คสช. ได้บริหารประเทศต่อไป เพราะกฎหมายให้อยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ที่สำคัญกฎหมายไม่ได้เขียนรองรับไว้ด้วยว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้แล้วต้องทำอย่างไร

คนที่จะผ่าทางตันเรื่องนี้ได้มีแค่คนเดียวคือ “ลุงตู่” เพราะยังถืออำนาจตามมาตรา 44 อยู่ในมือที่สามารถสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ได้ ถ้าไม่สั่งให้โมฆะก็คาราคาซังกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้นั่งเป็นนายกฯต่อ แต่คงเหมือนนั่งทับถ่าน ไม่มีความสุข เพราะจะถูกแรงกดดันอย่างมากให้ผ่าทางตันหาทางออก

ต่อให้ผ่านด่านตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติไปได้ แต่การจะไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ง่ายอยู่ดี


You must be logged in to post a comment Login