- อย่าไปอินPosted 4 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 22 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
พลาดเพราะผิดเพศ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 15-22 มีนาคม 2562)
ตำรวจใช้เวลานานกว่า 40 ปี ตามสืบคดีเด็กน้อย 2 พี่น้องหญิงและชายถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมแต่ไม่พบเบาะแสใดๆ จนกระทั่งเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ระบุว่าเด็กทั้งคู่เป็นเพศชาย ตำรวจจึงเพิ่งรู้ว่าทำไมที่ผ่านมาไม่สามารถหาข้อมูลคดีนี้ได้แม้แต่น้อย
เช้าวันที่ 14 มกราคม 1953 อัลเบิร์ต ตอง เจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานสแตนเลย์ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ได้ยินเสียงแปลกๆเมื่อเหยียบลงบนกองใบไม้หนา ทำให้เขาสงสัยว่ามีอะไรอยู่ใต้กองใบไม้ อัลเบิร์ตจึงโกยใบไม้ตรงนั้นออกจนพบว่ามีโครงกระดูกมนุษย์อยู่ใต้กองใบไม้
ตำรวจเดินทางมายังที่เกิดเหตุ เก็บรวบรวมโครงกระดูกได้ 2 ร่าง พบเสื้อขนสัตว์เก่าๆ 1 ตัวคลุมทับโครงกระดูก หมวกแบบนักบินของเด็ก 2 ใบ เสื้อผ้าเด็ก กล่องอาหารกลางวันผุๆ รองเท้าผู้หญิงเก่าๆ 1 ข้าง และขวาน 1 ด้าม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอาวุธที่ใช้สังหารเด็กน้อย 2 คน
สมัยนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการชันสูตร ตำรวจจึงใช้บริการของแพทย์ทำการวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบ แพทย์ลงความเห็นว่าร่างหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 7-9 ปี ส่วนอีกร่างเป็นเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 5-7 ปี คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 5 ปี ซึ่งหมายความว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นเมื่อราวปี 1947
ตำรวจสืบหาข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนร้าย โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้ที่เดินทางมาอุทยานสแตนเลย์พร้อมกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในช่วงปี 1947 แต่ไม่พบเบาะแสใดๆแม้แต่น้อย หลังจากพยายามสืบอยู่นานหลายปีโดยไม่มีความคืบหน้า ตำรวจก็เก็บแฟ้มลงในหมวด “คดีที่ปิดไม่ลง”
รื้อคดี
ปี 1996 ไบรอัน ฮันนีโบร์น นั่งเก้าอี้หัวหน้าหน่วยสืบสวนคดีที่ปิดไม่ลง เขาตัดสินใจดึงแฟ้มคดีนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น ไบรอันเชื่อว่าต้องมีข้อผิดพลาดในการสืบสวนบางอย่างจึงทำให้ตำรวจไม่พบเบาะแสใดๆในคดี ไบรอันรวบรวมหลักฐานทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้ง
ดร.เดวิด สวีต ผู้เชี่ยวชาญด้านการชันสูตร ถูกเชิญตัวมาช่วยวิเคราะห์ดีเอ็นเอสกัดจากฟันของโครงกระดูก ในที่สุดความจริงเรื่องแรกก็ถูกเปิดเผยออกมาว่า โครงกระดูกทั้ง 2 ร่างเป็นเด็กชายทั้งคู่ พวกเขาเป็นพี่น้องกัน มีแม่คนเดียวกัน แต่พ่อคนละคนกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตำรวจไม่สามารถสืบพบข้อมูลในคดีได้ เพราะพวกเขามองหาคนที่มากับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ไม่ใช่คนที่มากับเด็กผู้ชาย 2 คน
จากข้อมูลใหม่นี้ไบรอันเริ่มค้นแฟ้มเบาะแสที่พลเมืองดีเคยแจ้งไว้กับตำรวจในปี 1953 สืบหาตัวผู้หญิงที่เช่าห้องพักโรงแรมนิวเฮเวนพร้อมกับเด็กชาย 2 คน ผู้หญิงที่โบกรถไปยังอุทยานสแตนเลย์พร้อมกับเด็กชาย 2 คน ผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับพ่อและเด็กชาย 2 คน ที่อาศัยอยู่ในประภาคารโปรสเป็กต์พ็อยต์ใกล้กับอุทยานสแตนเลย์
แต่ไบรอันก็พบกับทางตันเช่นเดียวกัน เพราะเขาเจาะจงสืบหาข้อมูลในปี 1947 ตามความเห็นของแพทย์ที่บันทึกในแฟ้มคดี โดยตั้งข้อสันนิษฐานจากรองเท้าเด็กนำเข้ามาจากประเทศแถบเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลงเมื่อปี 1945
ข้อมูลที่ถูกเมิน
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับรองเท้าเด็กนั้นก็ผิดพลาดเช่นเดียวกันกับตอนที่แพทย์ระบุว่าผู้เคราะห์ร้ายคนหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงโดยสันนิษฐานจากเครื่องแต่งกาย ขณะที่รองเท้าแบบเดียวกันนี้นำเข้ามาในอเมริกาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง นั่นหมายถึงอาชญากรรมอาจเกิดขึ้นก่อนปี 1947 หรือก่อนปี 1945 ด้วยซ้ำไป
ไบรอันสืบย้อนหลังปี 1947 ไปอีกก็พบเรื่องราวที่น่าสนใจจากการแจ้งเบาะแสของพลเมืองดีเมื่อเดือนพฤษภาคม 1944 ขณะที่ทหารเรือคนหนึ่งจากเอสไควมอลต์พาคู่หมั้นมาเดินเล่นในอุทยานสแตนเลย์ พลันก็มีผู้หญิงคนหนึ่งสวมรองเท้าข้างเดียววิ่งออกมาจากป่า และดูเหมือนว่าจะมีเลือดเปื้อนรองเท้าของเธอด้วย หญิงคนนั้นส่งเสียงคำรามในลำคอก่อนจะวิ่งหายไป
แต่ตอนนั้นไม่มีการแจ้งความเด็กหายตำรวจจึงไม่ได้ให้ความสนใจ ต่อมาในปี 1953 มีผู้พบโครงกระดูกเด็กและรองเท้าผู้หญิงหนึ่งข้างในอุทยานสแตนเลย์ แต่แพทย์ระบุว่าผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตราวปี 1947 ตำรวจจึงสืบข้อมูลย้อนไปถึงแค่ปี 1947
การรื้อฟื้นคดีที่ปิดไม่ลงคดีนี้ ไบรอันไม่ได้ต้องการจับตัวคนร้ายมาลงโทษ เพราะถึงเวลานี้คนร้ายคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ไบรอันต้องการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตเพื่อไม่ให้เด็กน้อยผู้น่าสงสารต้องตายไปอย่างคนนิรนาม อย่างน้อยพวกเขาก็ควรได้รับตัวตนของเขาคืน
หญิงในประภาคาร
รอน เอมีล เล่าว่า ยายของเขาเคยเล่าเรื่องชายที่อาศัยอยู่ในประภาคารโปรสเป็กพ็อยต์ เขาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณชื่อ แฮรี่ คอกซ์ อาศัยอยู่ร่วมกับลูกสาวซึ่งมีลูกชาย 2 คน แต่อยู่มาวันหนึ่งเด็กชายทั้ง 2 คนก็หายไปไม่มีใครพบเห็นอีก
จากการสืบสวนพบว่าลูกสาวของแฮรี่ยังมีลูกชายอีกคนซึ่งเสียชีวิตเมื่อราวทศวรรษ 1970 หากเธอเป็นแม่ของเด็ก 2 คนที่ถูกฆาตกรรมในอุทยานสแตนเลย์ด้วยเช่นกันก็จะสามารถนำดีเอ็นเอจากโครงกระดูกที่พบในอุทยานสแตนเลย์มาเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของลูกชายคนนี้
แต่ปัญหาก็คือ หลักฐานที่พบเมื่อปี 1953 ถูกเก็บในกล่องกระดาษธรรมดา เวลานานหลายสิบปีทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำลายหลักฐานไปจนเกือบหมด เหลือที่พอจะสกัดหาดีเอ็นเอได้ก็เป็นส่วนหัวกะโหลกของเด็กทั้ง 2 คน ซึ่งจะสกัดดีเอ็นเอได้น้อยมาก จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังไม่ให้ดีเอ็นเอหมดไปก่อนที่จะปิดคดีได้
อีกทั้งร่างเด็ก 2 คนที่พบในอุทยานสแตนเลย์และร่างของผู้ที่จะนำมาเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ถึงแม้จะมีแม่คนเดียวกันแต่ก็ต่างพ่อ ซึ่งหมายความว่าจะใช้วิธีตรวจหาดีเอ็นเอแบบทั่วไปไม่ได้ ต้องใช้วิธีตรวจหาไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ (mtDNA)
ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอเป็นดีเอ็นเอที่ส่งต่อจากแม่มาสู่ลูกเท่านั้น แม้ว่าผู้ชายจะมีไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ แต่ผู้ชายไม่สามารถส่งต่อไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอมายังลูกได้ ขณะที่การทดสอบดีเอ็นเอแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายราว 600 ดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นการทดสอบไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,600 ดอลลาร์ต่อครั้ง
ด้วยเหตุผลว่าดีเอ็นเอมีจำกัดและค่าใช้จ่ายในการทดสอบสูงมาก เจ้าหน้าที่ชันสูตรจึงยังไม่ทำการทดสอบจนกว่าจะมีหลักฐานชี้ชัด ดังนั้น ตัวตนของเด็กชายเคราะห์ร้าย 2 คนในอุทยานสแตนเลย์จึงยังเป็นปริศนาจนกว่าตำรวจจะพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่าแค่เรื่องเล่าต่อกันมา
1.ประตูทางเข้าอุทยานสแตนเลย์
2.ตำแหน่งจุดเกิดเหตุ
3.จุดที่พบร่างเด็ก 2 คน
4.กะโหลกผู้เคราะห์ร้าย
5.หมวกแบบนักบินของเด็ก
6.รองเท้า 1 ข้างพบในที่เกิดเหตุ
7.ขวานที่เชื่อว่าถูกใช้เป็นอาวุธสังหาร
8.ภาพสเกตช์เด็กชายที่เสียชีวิต
9.นักมานุษยวิทยาปั้นหุ่นใบหน้าจากโครงร่างกะโหลก
You must be logged in to post a comment Login