วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เหลือสองก๊ก

On March 21, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 มี.ค. 62)

หลังการเลือกตั้งที่แต่เดิมดูเหมือนว่าจะมี 3 ก๊กแข่งกันชิงจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุดดูเหมือนว่าจะเหลือแค่ 2 ก๊ก คือฝ่ายพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ดูอ่อนลงไปแม้หัวหน้าพรรคประกาศชัดว่าไม่เอา “ลุงตู่” แต่กลับสวนทางกับลูกพรรคหลายคน จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่าหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอน อยู่ที่ว่าจะไปกันทั้งพรรคโดยเอามติกรรมการบริหารมาใช้อธิบายความชอบธรรม หรือจะแปลงร่างเป็นงูเห่าแตกไปเป็นกลุ่มๆเท่านั้น

อีก 2 วันเลือกตั้ง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามามากเท่าไรยิ่งเห็นอะไรๆที่ซ่อนอยู่

“คิดหรือว่าจับปากกาแล้วจะฆ่าเผด็จการได้ ฝันไปเหอะ เล่นหมากรุกเป็นไหม ดูเกมสิ เขาวางหมากไว้หมดแล้ว ส่วนตัวคิดว่าถ้าฝ่าย ปชต. กงเต๊กชนะเลือกตั้ง ที่สุดก็จะปฏิวัติอีกรอบ เอาไหมล่ะ”

เป็นข้อความจากเฟซบุ๊ค น.ส.เบญญา นันทขว้าง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (19 มีนาคม)

ข้อความนี้สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง และน่าจะเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ช่วยตัดแต้มฝ่ายหนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เพราะแม้จะเป็นข้อความที่ถูกจริตเหล่ามวลมหาประชาชน แต่ไม่ได้ใจคนกลางๆที่รักประชาธิปไตย รักความยุติธรรม

หลังการหาเสียงเลือกตั้งเข้าสู่โค้งสุดท้ายจะเห็นว่ามีการแสดงความหวั่นไหวกลัวจะแพ้จากฝ่ายสนับสนุน “ลุงตู่” ออกมาเป็นระยะในหลากหลายรูปแบบ แม้แต่พรรคการเมืองหลักอย่างพลังประชารัฐที่จ้องยุบพรรคคู่แข่งเพราะไม่พอใจที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการ ซึ่งมองว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เสียคะแนนนิยม แต่ฝ่ายตนกล่าวหาพรรคอื่นได้ว่าโกงชาติ ทำลายบ้านเมือง

เล่นการเมืองก็เหมือนสาดน้ำใส่กัน สาดกันไปสาดกันมาเปียกทั้งคู่ ปัญหาอยู่ที่กรรมการว่าจะมีความเป็นกลาง เป็นธรรมในการทำหน้าที่หรือไม่

ย้อนมาดูการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

การเมืองที่ว่ากันว่าแบ่งเป็น 3 ก๊ก แย่งชิงกันจัดตั้งรัฐบาลคือ ก๊กเพื่อไทย ก๊กประชาธิปัตย์ และก๊กพลังประชารัฐ ทำไปทำมาดูเหมือนว่าจะเหลือแค่ 2 ก๊กเสียแล้ว เพราะประชาธิปัตย์มีท่าทีอ่อนลงในการที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

แม้ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทำไปทำมาสิ่งที่ประกาศออกมาจะเป็นเพียงเจตนารมณ์ของนายอภิสิทธิ์เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นส่วนรวมของคนในพรรค

ระยะหลังๆหลายเวทีดีเบตที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมมักพูดชัดเจนว่าพร้อมร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีเงื่อนไขติดปลายนวมนิดหน่อยเพื่อไม่ให้เสียรังวัด แต่ปลายทางคือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้แน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ต่ำกว่า 100 เสียง จนนายอภิสิทธิ์ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคตามที่ลั่นวาจาไว้ การเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐยิ่งง่ายขึ้นเป็นทวีคูณ

ต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เกิน 100 เสียง และได้ ส.ส. มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐยืนกระต่ายขาเดียวว่าต้องให้ “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ก็ใช่ว่าไม่มีโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องมีการโหวตกันในกรรมการบริหารพรรค

ต่อให้กรรมการบริหารพรรคซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของนายอภิสิทธิ์มีมติไม่สนับสนุน “ลุงตู่” ก็ใช่ว่าจะร่วมกันเป็นรัฐบาลไม่ได้ เมื่อกติกาใหม่เขียนรองรับไว้แล้วว่าให้ ส.ส. มีอิสระในการโหวตเลือกนายกฯ ฝ่าฝืนมติพรรคได้ไม่มีปัญหา ถึงที่สุดจะโดนขับออกจากพรรคก็ย้ายไปอยู่พรรคอื่นได้โดยไม่กระทบสถานะความเป็น ส.ส.

หลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์คงต้องเลือกว่าจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแบบดีๆเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของพรรคเอาไว้ หรือจะให้มีงูเห่าแหกมติพรรคไปสนับสนุน “ลุงตู่” ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ป่นปี้และมีโอกาสพรรคแตกหลังเลือกตั้งได้


You must be logged in to post a comment Login