- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
อนาคตประเทศไทย? ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 22-29 มีนาคม 2562)
การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือ Mixed Member Apportionment – MMA ซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบตามโจทย์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ให้มีพรรคการเมืองได้ ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง หรือมากกว่าจำนวน ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้ง 250 คน
รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ซึ่งจะทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ แต่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และ “ระบอบ คสช.” ยังสืบทอดอำนาจต่อภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งก็คือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นความฝันลมๆแล้งๆที่จะทำให้ประเทศถอยหลัง ไม่ต่างกับการทำรัฐประหาร 5 ปีที่ผ่านมา
พรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างก็ประกาศว่าจะได้ ส.ส. จำนวนมาก ทั้งที่รู้ดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยากที่จะประเมินจำนวน ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ
ที่สำคัญหากพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.เขตเกินกึ่งหนึ่งของสภาก็อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย พรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส.เขตน้อย แต่มีคะแนนในเขตพอสมควรมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น และกลายเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพร้อมจะร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย
โอกาสพรรคเกิดใหม่
ระบบการเลือกตั้งแบบ MMA อาจทำให้พรรคเกิดใหม่ได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง ส.ส.เขตมีโอกาสชนะน้อยมาก การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 51,427,628 คน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 80% หรือมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 41,142,102 คน
หากนำจำนวน ส.ส. 500 คนมาหาร ก็จะต้องได้ 82,284 คะแนนจึงจะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง หากพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตครบ 350 เขต และได้คะแนนเสียงจากแต่ละเขตแค่ 240 คะแนน ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคที่ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต 6 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบ 350 เขต จึงมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างน้อย 1 ที่นั่ง ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยหากได้ ส.ส.เขต จำนวนมากในระดับหนึ่ง เหมือนพรรคเพื่อไทยที่คาดว่าจะได้ ส.ส.เขตมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้
ระบบการเลือกตั้งแบบ MMA จึงมีโอกาสที่จะทำให้มีพรรคการเมืองเข้าไปในสภาหลายพรรค ซึ่งเป็นไปตามที่ คสช. ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบ ปิดประตูพรรคการเมืองที่จะได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาดซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจมีพรรคการเมืองเข้ามามากกว่า 10 พรรค โดยเชื่อว่าประมาณครึ่งหนึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองและเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล
โพลโค้งสุดท้าย
ช่วงก่อนสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้งโพลสำนักต่างๆได้สรุปความคิดเห็นของประชาชนที่สุ่มสำรวจ ปรากฏว่าพรรคอนาคตใหม่มาแรงที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการได้ ส.ส. มากที่สุด
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผลสำรวจปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 26.06 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 24.01 ห่างกันแค่ร้อยละ 2 แต่พรรคการเมืองที่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลใหม่กลับเป็นพรรคเพื่อไทยร้อยละ 36.49 รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐร้อยละ 22.57
“อีสานโพล” ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำรวจคนอีสาน 20 จังหวัดพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.1 อยากให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ ตามด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 24.9
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในภาคอีสานยังมีแนวโน้มสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่คือ ร้อยละ 43.6 และร้อยละ 23.2 ตามลำดับ
โพลภาคใต้พลิกล็อก
ที่น่าสนใจคือกระแสนิยมภาคใต้จากการสำรวจของ “ม.อ.โพล” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ พบว่าคะแนนนิยมนายธนาธรเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 16.10 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีร้อยละ 12.0
เช่นเดียวกับพรรคที่คนใต้อยากเลือกมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 26.98 ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 24.19 และที่น่าสนใจคือร้อยละ 85 จะไม่เลือกพรรคเดิมอีกแล้ว
จุฬาฯโพล “ธนาธร” นำโด่ง
“จุฬาฯโพล” โดยชมรมสภาจำลอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน สำรวจการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของนิสิตจุฬาฯเพื่อสะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวน 1,266 คน 19 คณะ และ 1 สำนักวิชา ปรากฏว่าผู้ที่ต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือ นายธนาธร ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.7 นายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 5.2 คุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยละ 4.3 และ พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 2.8
ส่วนพรรคการเมืองที่จะลงคะแนนให้ พรรคอนาคตใหม่ร้อยละ 70.8 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 16 พรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 6.7 พรรคพลังประชารัฐร้อยละ 3.5 และพรรคเสรีรวมไทยร้อยละ 1.8
การตัดสินใจที่สำคัญมากที่สุดในการตัดสินใจเลือก ร้อยละ 41.7 เลือกเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 27.9 เลือกเพราะชื่นชอบนโยบายที่ใช้หาเสียง
ผลสำรวจช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งของ 4 โพล 4 สถาบันการศึกษาหลักในกรุงเทพฯ ภาคอีสาน และภาคใต้ ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มาแรงแซงพรรคการเมืองใหญ่ แม้ในภาพรวมคนที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีจะยังมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ในภาคอีสานคุณหญิงสุดารัตน์ทิ้งห่าง เช่นเดียวกับภาคใต้ที่นายธนาธรและนายอภิสิทธิ์ทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์
เปลี่ยนกระแสเป็นคะแนน?
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนา “โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง 62” โดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (19 มีนาคม) ระบุถึงจุฬาฯโพลว่า พรรคอนาคตใหม่น่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30-50 เสียง แต่ปัญหาคือจะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนได้อย่างไร โดยเฉพาะต้องได้คะแนนเสียงในเขตเมืองของทุกจังหวัด
รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวถึงกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไปว่า เคยเลือกพรรคไหนก็จะเลือกพรรคนั้น ส่วนกลุ่มที่คะแนนจะสวิงไปทางไหนก็ได้คือกลุ่มอายุ 26-49 ปี ที่มีจำนวนมากที่สุดและเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามอง
3 พรรค 3 ก๊ก
รศ.ดร.สิริพรรณคาดการณ์จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตประมาณ 170 ที่นั่ง โดยคิดจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 80% ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ประมาณ 16 ล้านเสียง แต่ส่งแค่ 250 เขต หายไป 100 เขต ทำให้คะแนนเสียงหายไป 2.3 ล้านเสียงเพื่อให้พรรคไทยรักษาชาติก่อนที่จะถูกยุบพรรคไป แต่ถ้าเกิดสึนามิทางการเมืองพรรคเพื่อไทยก็อาจได้ถึง 200 เสียง แต่คงไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาธิปัตย์เคยได้คะแนนเสียงต่ำสุดปี 2548 แค่ 26% ครั้งนี้เจอศึกรอบด้านอาจเป็นไปได้ที่จะได้ต่ำกว่า 26% แต่ก็ยังเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. 100 ที่นั่งบวกลบ และต้องดูว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่
พรรคพลังประชารัฐที่ยังใช้วิธีหาเสียงแบบเดิมเหมือน 20 ปีที่แล้วคือดูดอดีต ส.ส. และใช้เงินจำนวนมาก ไม่มียุทธศาสตร์ใหม่ คาดว่าจะได้ ส.ส. ไม่น่าเกิน 70 เสียง แม้หลายโพลระบุว่าจะได้ถึง 150 เสียง ซึ่งต้องดูว่าองค์กรส่วนท้องถิ่นจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการตีความกฎหมายขององค์กรอิสระที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้ง
ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา อาจได้ ส.ส. รวมกันประมาณ 50-60 เสียง แต่ราคาหุ้นน่าจะสูง เพราะพร้อมจะไปอยู่กับฝ่ายไหนก็ได้
“ประยุทธ์” นั่งนายกฯยาว
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สิริพรรณเชื่อว่าฝ่ายไม่เอา คสช. จะมี ส.ส. มากกว่า 250 เสียง แต่ไม่ถึง 376 เสียงที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้แม้ตั้งรัฐบาลได้ พล.อ.ประยุทธ์จึงจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้แน่ เพราะได้เสียงเกิน 126 เสียง บวกกับ ส.ว. อีก 250 เสียง ก็จะเกิน 375 เสียง ทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรและไม่มีเสถียรภาพ
การแก้เกมของ พล.อ.ประยุทธ์จึงอาจให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านงบประมาณปี 2563 ก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยก็สามารถทำงานได้ 1 ปีก่อนจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมเสียหน้า แต่ต้องดูโอกาสของนายอภิสิทธิ์ด้วยที่ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ที่จะเป็นตัวแปรที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยื้อกันไปมา และ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯต่อไปเรื่อยๆพร้อมมาตรา 44 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จในระยะเวลาเท่าไร ระบุเพียงให้เลือกประธานสภาผู้แทนฯภายใน 15 วัน หลัง กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
รัฐบาลแห่งชาติ-ล้มการเลือกตั้ง
หากการเมืองยังยื้อกันไปเรื่อยๆก็จะเกิดกระแสกดดันทางสังคม ซึ่งยังมีมาตรา 272 ที่ให้ใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. 2 ใน 3 คือ 500 เสียง จาก 750 เสียง เพื่อเปิดทางให้โหวตเลือกนายกฯคนนอก หรืออาจจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติช่วงสั้นๆ 4-6 เดือน เพื่อเปลี่ยนกติกาบางอย่างเพื่อปลดล็อกการเมือง โดยเฉพาะกติกาการเลือกตั้ง
นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดย กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองการเลือกตั้งได้ภายใน 180 วัน คือวันที่ 9 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หรือการเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะมีการร้องเรียน อย่างกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่เป็นสากลและมีปัญหา
8 ปีสะสมความขัดแย้ง
รศ.ดร.สิริพรรณระบุว่า ระบบการเลือกตั้งและการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางการเมืองระบอบใหม่ (Embedded nondemocratic system) เพื่อรักษาฐานที่มั่นทางการเมืองของระบอบ คสช. ให้ยาวนานที่สุด และสร้างหลักประกันว่าไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆก็จะไม่บั่นทอนการสืบทอดอำนาจที่อยู่ภายใต้การนำของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่ประกอบด้วยกลุ่มทุนรัฐ ทหาร ระบบราชการ และเทคโนแครต
แต่ประเด็นที่สำคัญคือ 8 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งถูกนำมาอยู่ในที่สาธารณะ ทำให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาสะสมของการรัฐประหารว่าสังคมสูญเสียโอกาสในการแก้ปัญหาประเทศอย่างไร รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และโอกาสก้าวทันโลกของคนรุ่นใหม่ 7.3 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในการกล่อมเกลาแบบดั้งเดิม และการออกแบบการเลือกตั้งก็ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้มีอำนาจ
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ทั้งคนจัดเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง กกต. ก็ถูกถามความชอบธรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ กกต. 7 คนที่ คสช. แต่งตั้ง แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ กกต. ที่ทำงานมานานแต่ไม่มีสมรรถภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งผลการเลือกตั้งน่าจะทำให้ระบอบเผด็จการอยู่ต่อได้ และไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน อย่างวาทกรรมของนักวิชาการ หรือวาทกรรมของรัฐที่อ้างเป็นสากล แต่เป็นสากลอย่างที่เผด็จการสร้างขึ้นมา ทำทุกวิถีทางที่จะชนะ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่เป็นธรรมและเสรี โดยเฉพาะ ส.ว. 250 คนที่ตั้งโดย คสช.
โอกาสประเทศไทย หาก “ลุงตู่” ไม่ได้ไปต่อ
iLaw ตั้งสมมุติฐานหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ “โอกาส” ของประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากรัฐบาลทหารมีอำนาจมาเกือบ 5 ปี และ พล.อ.ประยุทธ์อยากเป็นนายกฯต่อ ซึ่งรัฐบาลทหารนี้ปกครองประเทศในลักษณะรวบอำนาจ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง และยังสร้างระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ยังเดินหน้าไปตามแนวทางเดิม แต่หากพรรคการเมืองอื่นได้จัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ จะเกิด “โอกาส” ของประเทศไทยที่จะเดินหน้าคือ
1.ได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากประชาชนเลือก 2.ได้จำนวน ส.ส. ในสภาที่สะท้อนเสียงโหวตของประชาชน 3.ได้สร้างการเมืองใหม่ มีนักการเมืองหน้าใหม่ แข่งกันที่นโยบาย เลิกอาศัย “เจ้าพ่อท้องถิ่น” 4.ได้พรรคการเมืองทางเลือกเพิ่มขึ้นจากคนธรรมดาไม่ใช่เศรษฐี 5.ได้รัฐสภาที่มีระบบถ่วงดุล มี ส.ว. ทำงานตรวจสอบรัฐบาล 6.ได้องค์กรอิสระที่เป็นกลาง กล้าตรวจสอบรัฐบาล มีที่มาหลากหลาย 7.ได้เสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิจารณ์รัฐบาล และเสนอข้อเรียกร้อง 8.ได้สื่อที่กล้าวิจารณ์รัฐบาล ได้ฟังความเห็นหลายมุมในประเด็นร้อน 9.ได้ความปลอดภัยจากอำนาจพิเศษของทหาร 10.ได้กระบวนการยุติธรรมปรกติที่เชื่อถือได้ ไม่ถูกทหารแทรกแซง
11.ได้เยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมือง 12.ได้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ “มืออาชีพ” ปลอดนายทหาร
13.ได้ทบทวนกฎหมายทั้งชุดที่ออกโดยกลุ่มทหารและข้าราชการเกษียณ 14.ได้เอาทหารออกจากที่ดินชาวบ้าน ให้ชุมชนมีสิทธิจัดการดูแลป่าเอง 15.ได้ตีกรอบการตั้งโรงงานเข้มงวดให้รักษาสิ่งแวดล้อม 16.ได้ถกเถียงเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 17.ได้ระบบหลักประกันสุขภาพ “ถ้วนหน้า” ที่มั่นคง 18.ได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง 19.ได้อนาคตประเทศที่ประชาชนร่วมกำหนด และ 20.ได้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจริงๆภายใต้กติกาประชาธิปไตย
โลกมองเลือกตั้งไทยบกพร่อง
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Human Rights Watch-HRW) ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มีนาคม หัวข้อ Thailand : Structural Flaws Subvert Election ระบุว่า โครงสร้างของระบบเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศไทยในวันที่ 24 มีนาคม มีข้อบกพร่องอยู่มากมาย และหลายปัจจัยทำลายความน่าเชื่อถือการเลือกตั้ง โดยเงื่อนไขการตั้งรัฐบาลชุดใหม่อยู่ในมือของ ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งโดย คสช. ที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการจะเลือกผู้นำของตนเอง ทำให้รัฐบาลทหารล้มเหลวในการสร้างบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารให้คำมั่นสัญญาซ้ำๆจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งกลับตอกย้ำว่ากองทัพไทยจะยังอยู่ในอำนาจต่อไป ใช้กฎหมายหลายฉบับกำกับและควบคุมการเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้ กกต. ถูกตั้งคำถามมีอิสระจริงหรือไม่ ขณะที่ประชาชนควรมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐ ซึ่งภายใต้รัฐบาลทหารกลับจับกุมผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงปิดกั้นสื่อในการนำเสนอหรือรายงานข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐบาล
HRW จึงเรียกร้องให้นานาชาติแสดงจุดยืนด้วยการประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากไม่ได้มาตรฐานสากลและไม่น่าเชื่อถือ การวางเงื่อนไขเพื่อให้รัฐบาลที่กองทัพสนับสนุนชนะ ซึ่งไม่ต่างกับการทำรัฐประหารหรือประชาธิปไตยจอมปลอม
HRW ยังระบุว่า การที่รัฐบาลทหารไม่เปิดโอกาสให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศร่วมตรวจสอบ โดยมีแค่เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง (ANFREL) เพียงองค์กรเดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ยิ่งทำให้ประเทศไทยถูกมองในทางลบ
ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงเรื่องการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 มีนาคมว่า จากผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 2.6 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 86.98 และมีหลายแห่งใช้สิทธิเกินกว่าร้อยละ 90
ขณะที่เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง คือเกิดระหว่างปี 2537-2544 หรือก่อนหน้านั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลงคะแนนเสียง เช่นเดียวกับกลุ่ม First Time Voter ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งยังไม่มีโอกาสเลือกตั้งเลยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมามีกว่า 7,368,589 คน แต่ผ่านการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองต่างๆและวิกฤตเศรษฐกิจ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง 6 ฉบับ มีนายกรัฐมนตรีถึง 10 คน มีคณะรัฐมนตรีถึง 12 ชุด มีการยุบสภา 6 ครั้ง มีการชุมนุมใหญ่ของ 2 ขั้วการเมือง และรัฐประหารถึง 2 ครั้งคือปี 2549 และ 2557
คะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จึงอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 51 ล้านคน โดยกรุงเทพฯมียอดผู้มีสิทธิมากที่สุด หากแยกตามกลุ่มอายุ ปรากฏว่ากลุ่มใหญ่สุดคือคนอายุ 26-45 ปี มีกว่า 19 ล้านคน รองลงมาอายุ 46-60 ปี จำนวน 14.4 ล้านคน ส่วนกลุ่ม First Vote หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมีกว่า 7 ล้านคน
อนาคตประเทศไทย? ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเกิน 80% ทำให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมาก หากวันที่ 24 มีนาคม ประชาชนไปใช้สิทธิมากกว่า 80% ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” ที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของประชาชน
ปัญหาคือ ฝ่ายกองทัพ ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และกลุ่มทุนใหญ่ จะยอมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ แม้แต่การล้มการเลือกตั้ง หรือการพยายามยื้อการตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้อำนาจรัฐและกลไกสารพัดเพื่อจะสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการ ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน แต่กลับเป็นแค่เครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่เพื่อให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีอำนาจต่อไปให้นานที่สุด
หลังการเลือกตั้งจึงมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือ “เดดล็อก” ไม่ว่าจะเป็นการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลหรือการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างที่นายอภิสิทธิ์ประกาศยืนยันไม่เอา “ลุงตู่” ไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยโดยเด็ดขาด แต่ไม่ปิดประตูที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
ปรากฏการณ์ 3 พรรค 3 ก๊ก อาจเกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนทางการเมืองและปรากฏการณ์ “งูเห่า” หลังการเลือกตั้งที่เริ่มมีเสียงดังกระหึ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งตลกเมื่อ “ลุงฉุน” ถามประชาชนว่า “ไม่เข้าใจทำไมเมืองไทยจึงอยากเป็นนายกฯกันนักหนา” แต่ไม่มองตัวเองที่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเข้าสู่อำนาจว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ แล้ววันนี้ยังทำทุกวิถีทางที่จะมีอำนาจต่อ อ้างข้างๆคูๆว่าเป็นเรื่องของประชาชน ตัวเองไม่อยากอยู่ต่อ ไม่ได้คิดสืบทอดอำนาจ แต่ก็มีคำถามว่าแล้วทำไมไม่ประกาศวางมือทางการเมือง
ปากอย่างใจอย่างและยังพยายามตอกย้ำคนทั้งประเทศว่าอย่าลืมเหตุการณ์ก่อนปี 2557 ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ลืมแน่ว่าทำไมจึงเกิดม็อบป่วนเมือง ทำไมกองทัพจึงใส่เกียร์ว่าง และตามมาด้วยการรัฐประหารปล้นอำนาจจากประชาชนครั้งแเล้วครั้งเล่า
ประชาชนไม่ได้เกลียดทหาร แต่เกลียดและต่อต้านการทำรัฐประหาร!
วันที่ 24 มีนาคม จึงเป็นวันสำคัญของคนไทยทั้งประเทศที่จะเลือกอนาคตประเทศไทยและของตัวเองว่า..จะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ”..!!??
You must be logged in to post a comment Login