วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความแตกต่าง?

On April 4, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 เม.ย. 62)

ผ่านมากี่สิบปี “ประเทศกูมี” ก็ยังเหมือนเดิม มีกระบวนการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่กำลังเฟื่องฟูด้วยการใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ จึงไม่แปลกที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” จะเป็นเป้าหลักในการทำลายของ “กลุ่มอนุรักษ์นิยมโบราณ” หรือ “ขวาตกขอบ”

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ถูกใส่ร้ายป้ายสีเป็นพวก “ล้มเจ้า” มีการนำคลิปและบทความครั้งเป็นนักวิชาการมาแชร์ในโลกออนไลน์และรณรงค์ให้ลงชื่อขับไล่ ทั้งที่คลิปที่นำมาเผยแพร่นั้นเป็นการตัดต่อ

กระแสทำลาย 2 แกนนำพรรคอนาคตใหม่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยใช้กลไกรัฐทุกรูปแบบ กรณีล่าสุด “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ให้ไปรายงานตัววันที่ 6 เมษายน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อความกระด้างกระเดื่องหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยให้ที่พำนักซ่อนเร้น กระทำการใดๆเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

ผู้ฟ้องร้องคือ “พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ” นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. โดยก่อนหน้านี้ก็เคยฟ้อง “ธนาธรและพวก” ฐานแชร์ข่าวปลอมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชน ที่ประกาศจุดยืนจะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งยั่งยืน จึงถูกขุดคุ้ยและสร้างกระแสเพื่อเอาผิดต่างๆนานา กล่าวหาและดำเนินคดีต่างๆ แต่ฝ่ายที่สนับสนุน “อำนาจเผด็จการ” แทบไม่มีเลย

“ผู้นำกองทัพ” เรียกร้องความสามัคคี ยุติการใช้วาทกรรม “สืบทอดอำนาจ” และไม่ให้แบ่งพวกแบ่งฝ่ายเป็น “ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ”

การสร้างความสามัคคีปรองดองต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจและผู้มีกำลัง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต้องทำให้ทุกฝ่ายเชื่อถือและเชื่อมั่นในความยุติธรรม เป็นธรรม และเท่าเทียม

ไม่ใช่ “เลือกปฏิบัติ” หรือ “พูดอย่างทำอย่าง” ใช้วาทกรรม “คนดี” สร้างความเกลียดชังฝ่ายที่เห็นต่าง!!??

 


You must be logged in to post a comment Login