- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 19 hours ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 2 days ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 3 days ago
- อย่าไปอินPosted 6 days ago
- ปีดับคนดังPosted 7 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
“ชูศักดิ์”ยันสูตรคำนวณส.ส.ไม่เข้าเงื่อนไขยื่นศาลตีความ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ข่าวว่า กกต.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน ให้เสนอเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น ตนเห็นว่ามีข้อที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้ 1.เหตุผลที่ กกต.อ้างเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เมื่อพิจารณาข้ออ้างของ กกต.ที่ว่ามีพรรคหลายพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีได้ต่ำกว่าหนึ่งคนแต่เมื่อคำนวณตามมาตรา 128(5) แล้วทำให้พรรคเหล่านั้นได้ ส.ส.1 คน จึงอาจทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91(2) และ (4) ที่ห้ามจัดสรรที่มีผลให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.มากกว่าจำนวนที่พึงมีนั้น
ประเด็นนี้เห็นว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 อย่างเป็นขั้นตอนจะไม่มีข้อความส่วนใดขัดหรือแย้งกันเลย แต่ที่กกต.เห็นว่ามีปัญหานั้นเป็นเพราะ กกต.ไม่ได้ยึดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งเป็นหลักแต่ไปเอาตามวิธีการที่สำนักงาน กกต.เสนอ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามความเห็นของ กรธ.เมื่อ กกต.ตั้งโจทก์แบบนี้ การคำนวณจึงผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็ไปโทษว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรงนี้อธิบายได้ง่ายๆว่า เมื่อกฎหมายให้ยึดจำนวนคะแนนต่อ สส.หนึ่งคนเป็นหลักแล้วนำไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคเพื่อหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้น ตามมาตรา 128(2)แล้วเอาจำนวน ส.ส.พึงมีนั้นไปลบ ส.ส.เขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา 128(3) เมื่อถึงตรงนี้ ต้องเข้าใจว่า หากพรรคใดมีคะแนนตำ่กว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน(ต่ำกว่า 71,065 คะแนน) พรรคนั้นก็ไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมีมาตั้งแต่ต้น จึงถูกตัดตอนตั้งแต่ ม.128(2)แล้ว หลังจากนั้นการคำนวณต่อไปจะคิดเฉพาะพรรคที่มีจำนวน ส.ส.พึงมีเท่านั้น โดย ม.128(4) ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามผลลัพธ์ตาม ม.128(3) หมายถึงจัดสรรให้พรรคที่มีสิทธิจะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น แต่เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มี ส.ส.พึงมีและไม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาตรา 128(4)
ทั้งนี้ในการจัดสรรนั้นถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากับหรือมากกว่าส.ส.ที่พึงมีก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์ แล้วเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้กับพรรคที่มี ส.ส.เขตตำ่กว่า ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี เมื่อพรรคเหล่านั้นไม่มีทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.พึงมี ก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร โดยไม่ต้องไปพิจารณาว่าจะทำให้พรรคนั้นมี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีหรือไม่ เพราะเขาไม่มี ส.ส.พึงมีมาแต่แรก ส่วนการจัดสรรตาม ม.128(7)กรณีจัดสรรแล้วมีสส.บัญชีรายชื่อเกิน 150 คนกฎหมายให้คำนวณปรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ตามวิธีการที่กำหนดและในกรณีนี้กฎหมายก็เขียนชัดว่าเมื่อคำนวณตาม (5) แล้วมี ส.ส.เกิน ให้ทำอย่างไร เช่นกันพรรคที่คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนนไม่อยู่ในข่ายได้รับจัดสรรตาม (5) และไม่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับจึงไม่อาจนำมาคำนวณตาม (7) ได้เช่นกัน ดังนั้นหากตีความกฎหมายตรงไปตรงมาจึงไม่เห็นว่าจะมีปัญหาตรงไหน และเมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคทีมี ส.ส.พึงมีและจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับตาม 128(7) แล้วผลคำนวณก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ กกต.อ้างเลย
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 2.เรื่องที่ กกต.จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่าปัญหาที่ กกต.อ้างดูเหมือนกับการจะขอคำอธิบายข้อกฎหมายกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ กกต.มีอำนาจในส่วนนี้อยู่แล้วแต่ กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจของตนเอง หากใช้อำนาจตามที่มีอยู่และพิจารณาไปตามกฎหมายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าอาจยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าศาลเคยวางหลักว่าไม่มีหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูจากคำแถลงดูเหมือนกกต.จะตั้งประเด็นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญด้วยแต่ก็ไม่เห็นประเด็นว่ามาตราใหนขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูคำร้องอย่างละเอียดกันอีกที นอกจากนี้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรที่กกต.จะปล่อยให้ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ กกต.เป็นผู้ใช้กฎหมายเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจึงมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยตีความกฎหมายและการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่ควรชี้นำโดยอ้างสูตรคำนวณที่มีการเสนอต่อกกต.แต่ควรอ้างวิธีการคำนวณตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นสำคัญ
You must be logged in to post a comment Login