วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วาทกรรมไม่โกง

On April 17, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 17เม.ย. 62)

“สุภิญญา กลางณรงค์” อดีต กสทช. ให้ความเห็นการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. “มาตรา 44” ยืดระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นของกลุ่มโทรคมนาคม อนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบประกอบกิจการได้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมประมูล 3 งวด และอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายกระจายสัญญาณ เท่ากับใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้เอกชน

เหมือนครั้งรัฐบาลไทยรักไทยที่แปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตก็ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเอื้อกลุ่มทุนเอกชน แต่ยังมีรัฐสภาตรวจสอบได้ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ “มาตรา 44” จึงมีคำถามเสียดลึกมากมายจากสังคม ทั้งที่ “ป๋า” เพิ่งการันตีว่า “รัฐบาลนี้ไม่โกง” แต่ไม่รู้ว่ามี “เงินทอน” หรือเปล่า?

ก่อนหน้านี้ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ ก็เคยเขียนบทความท้วงติงว่า “รู้ทันนิทานเรื่องอุ้มผู้ประกอบการ 4G ของ กสทช.” เพราะหากมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งก็ทำได้ยาก การใช้ “มาตรา 44” โค้งสุดท้ายก่อนมีรัฐบาลใหม่จึงเต็มไปด้วยเสียงครหานินทา ทีวีดิจิทัลที่ได้ประโยชน์ก็ “น้ำท่วมปาก”

ล่าสุด “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้า คสช. ขอดูรายละเอียดประกอบการพิจารณาอนุมัติคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 อ้างว่า คสช. ไม่ได้มีอำนาจบริบูรณ์ในทางกฎหมายเหมือนตอนยึดอำนาจใหม่ๆ

เว็บไซต์ “ทีวีดิจิทัลวอทช์” ชี้ความเสียหายที่เกิดกับรัฐ (กสทช.) ว่าเป็นการ “ปลดหนี้” ให้กับทีวีช่องธุรกิจ 22 แห่ง ของบริษัทที่ได้รับอนุญาต 19 ราย มูลค่าความช่วยเหลือทั้งสิ้น 33,202 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าประมูล 13,622 ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่าย 19,580 ล้านบาท

“วาทรรมไม่โกง” ภายใต้ “ระบอบพิสดาร” จึงไม่ต้องถามถึงหลักธรรมาภิบาล นิติธรรม และวินัยการเงินการคลังอีกด้วย!

 

 

 c


You must be logged in to post a comment Login